บอร์ดกฟผ.เตรียมตั้งทีมทำงานปรับโครงสร้างองค์กรรองรับเทคโนโลยีดิจิทัลระบบไฟฟ้า

2587
- Advertisment-

บอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เตรียมตั้งทีมทำงานร่วมกับผู้บริหาร กฟผ.และสหภาพแรงงานฯ ช่วงปลายเดือนพ.ย. 2562 เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร รองรับเทคโนโลยีดิจิทัลด้านไฟฟ้าพร้อมดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมเสนอความเห็นกำหนดแนวทางปฏิบัติ หวังแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆและรายได้ที่เพิ่มขึ้น ด้านกฟผ. ยืนยันพร้อมลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนตามนโยบายรัฐ

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงานและในฐานะ ประธานคณะกรรมการบริหารการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(บอร์ดกฟผ.) เปิดเผยหลังเป็นประธานเปิดงาน EGAT Energy Forum 2019 เมื่อวันที่ 12 พ.ย.2562 ว่า  บอร์ดกฟผ.เตรียมตั้งคณะทำงานร่วมกับผู้บริหารของกฟผ. และตัวแทนจากสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจกฟผ.(สร.กฟผ.)ภายในเดือนพ.ย. 2562 นี้เพื่อที่จะปรับโครงสร้างองค์กรกฟผ.ให้ทันสมัยรองรับกับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีดิจิทัลของระบบไฟฟ้า ทั้งนี้เพื่อแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆและรายได้ที่เพิ่มขึ้น

โดยภายหลังคณะทำงานดังกล่าวตั้งเสร็จแล้ว จะเปิดให้มีการ Workshop หรือประชุมเชิงปฏิบัติการในเดือนธ.ค. 2562 นี้ ด้วยการดึงคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมต่อการปรับองค์กรและการทำงานให้มากขึ้นเพื่อให้องค์กรก้าวสู่ไฟฟ้าดิจิทัล และจะให้เสนอความเห็นในการระดมสมองเพื่อจะกำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติต่อไป

- Advertisment -

สำหรับการจัดตั้งบริษัทใหม่เพื่อรองรับธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าต่างประเทศ(เทรดดิ้ง)บอร์ดกฟผ.ได้หารือเบื้องต้นแล้วแต่ยังต้องหารือในรายละเอียดถึงการจัดตั้งว่าจะเป็นลักษณะของหน่วยธุรกิจ(BU) หรือในรูปแบบบริษัท รวมถึงการนำเทคโนโลยี ระบบปัญญาประดิษฐ์หรือ AI มาบริหาร Big Data เช่น ระบบสายส่งอัจฉริยะ(สมาร์ทกริด)เพื่อลดการสูญเสียในระบบส่ง รวมไปถึงเทคโนโลยีใหม่ๆด้านพลังงานทดแทน เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะมีส่วนสำคัญต่อการรักษาระดับสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าและรายได้ของกฟผ.ในทิศทางที่เพิ่มขึ้น

บุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง กฟผ.

ด้าน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร รองผู้ว่าการธุรกิจเกี่ยวเนื่อง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ.อยู่ระหว่างการหารายได้เพิ่มขึ้น โดยจะให้บริการด้านการบริหารจัดการและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า (O&M) ประเภทต่างๆ ซึ่งจะเน้นไปที่โรงไฟฟ้ากังหันลม (Wind Turbine) และโรงไฟฟ้าพลังน้ำในประเทศ สปป.ลาว เนื่องจากมีโรงไฟฟ้าพลังงานลมเกิดขึ้นในประเทศและต่างประเทศ และในช่วง 6 ปีหลังของการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม จะเป็นช่วงที่ผู้ให้บริการบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าไม่ค่อยรับบริการ เพราะมีความยากในการทำงาน กฟผ.ก็จะใช้ช่องว่างในส่วนนี้เข้าไปดำเนินการแทน ส่วนโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่เกิดขึ้นในประเทศ สปป.ลาว ก็มีบริษัทลูกของ กฟผ.เข้าไปดำเนินการหลายโครงการ จึงมีโอกาสที่ กฟผ.จะเข้าไปให้บริการในส่วนนี้ได้

นอกจากนี้ยังได้หารือกับ บริษัท กฟผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (EGATi) ซึ่งเป็นบริษัทลูก ที่ได้เข้าไปร่วมทุนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน กวางจิ ในประเทศเวียดนาม กำลังการผลิต 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่ง กฟผ.ก็จะเข้าไปให้บริการ O&M แก่โรงไฟฟ้านี้ และยังมีความร่วมมือกับ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ซึ่งมีบริษัทลูกที่ให้บริการ O&M คือ ESCO ก็จะไปร่วมดำเนินงานกับ ESCO ต่อไป ซึ่งเอ็กโก มีโรงไฟฟ้าในประเทศฟิลิปปินส์ ลาว เป็นต้น

กฟผ.ยังมีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายให้ภาครัฐ เอกชน และชุมชนร่วมกันเป็นเจ้าของ เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าชุมชนให้เกิดขึ้นในพื้นที่ต่างๆ ซึ่ง กฟผ.จะดำเนินการตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน ที่จะกำหนดพื้นที่จัดตั้งโครงการขึ้นมา เช่น โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ที่ กฟผ.ได้รับมอบหมายจากกระทรวงพลังงานให้จัดตั้งขึ้น รวมทั้งจัดทำกิจกรรมตอบแทนสังคม(CSR)ในพื้นที่ด้วย ซึ่งโรงไฟฟ้าชุมชนก็เป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับ กฟผ.

Advertisment