ถอดรหัส รัฐใช้ 2.3 หมื่นล้านเยียวยาค่าไฟให้ครัวเรือน สุดท้ายใครต้องรับภาระ

6189
- Advertisment-

ถอดรหัส รัฐใช้ 2.3 หมื่นล้าน ช่วยเยียวยาค่าไฟให้ครัวเรือน สุดท้ายใครต้องรับภาระ

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีวันนี้ (21 เม.ย.2563)ก็มีมติเห็นชอบในมาตรการเยียวยาภาระค่าไฟฟ้าให้กับครัวเรือน ทั้งบ้านหลังเล็ก หลังใหญ่ ใช้ไฟน้อยใช้ไฟมาก ถ้วนหน้า 22 ล้านครัวเรือน เป็นระยะเวลา 3 เดือน คือตั้งแต่รอบบิลเรียกเก็บค่าไฟฟ้าเดือน มี.ค. เม.ย. และ พ.ค. 2563  คิดเป็นวงเงินที่ต้องใช้ประมาณ 23,688 ล้านบาท

โดยที่รัฐบาลต้องช่วยเรื่องนี้ก็เพราะเป็นช่วง 3 เดือนที่ขอความร่วมมือให้ประชาชนอยู่บ้านตามสโลแกน work from home “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ”  เพื่อป้องกันความเสี่ยงช่วงที่ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ หรือ COVID-19 กำลังระบาด  ผลตามมาก็คือ การอยู่บ้านช่วงหน้าร้อน ทั้งเปิดแอร์ พัดลม ตู้เย็น ทีวี ซึ่งเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าที่กินไฟสูง  การใช้ไฟแต่ละครัวเรือนเลยเพิ่มขึ้น  การเรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่คิดแบบอัตราก้าวหน้าเป็นขั้นบันได เลยทำให้ ค่าไฟในเดือน มี.ค. และ เม.ย. พุ่งขึ้นมากกว่าเดือน ก.พ. อย่างเห็นได้ชัด  เสียงบ่นรัฐบาลเลยดังจนเป็นกระแสทางโซเชียลมีเดีย ให้รัฐบาลต้องหามาตรการมาเยียวยา

- Advertisment -

ซึ่งเท่าที่ติดตามดู หลังจากที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีการหารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหรือ กกพ. และผู้บริหารทั้ง 3 การไฟฟ้า คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคหรือ PEA เมื่อวันที่ 20 เม.ย. 2563 และได้ข้อสรุปออกมา เพื่อเสนอครม.เห็นชอบอย่างรวดเร็วคล้อยหลังเพียงวันเดียว เสียงตอบรับจากประชาชนดูเหมือนจะเป็นบวก มากกว่าเป็นลบ  ซึ่งในทางการเมืองถือว่าตอบโจทย์ คะแนนนิยมรัฐบาลได้เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตามเมื่อถามว่า เงิน 2.3 หมื่นล้านบาทที่เอามาใช้ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าในครั้งนี้นั้น  จะมาจากไหน สุดท้ายใครต้องรับภาระ  ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีพลังงานมอบหมายให้ ทางกกพ. ไปช่วยหาแนวทางในการบริหารจัดการ

เท่าที่ทางทีมศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) ลองวิเคราะห์ดู ก็น่าจะมีทางเลือกให้พิจารณาดังนี้

1.ให้หน่วยงานการไฟฟ้ารับภาระ โดยในระบบการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าของประเทศไทย  กฟผ. เป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าเพียงรายเดียว ทั้งไฟฟ้าจากต่างประเทศคือ สปป.ลาว จากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ หรือไอพีพี ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก หรือเอสพีพี (ยกเว้น ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก หรือ วีเอสพีพี ขนาดไม่เกิน10 เมกะวัตต์ ทาง PEA และ กฟน. จะเป็นผู้รับซื้อ) โดยมีราคารับซื้อตามที่ตกลงในสัญญา เมื่อรวมกับต้นทุนโรงไฟฟ้าที่กฟผ.ผลิตเองแล้ว บวกค่าจัดการสายส่ง บวกกำไร ก็ขายราคาส่งให้กับ PEA และ กฟน. ในฐานะที่เป็นฝ่ายจำหน่าย ที่ขายปลีกไปให้กับครัวเรือน

ดังนั้น เมื่อครัวเรือนได้รับทั้งให้ใช้ฟรีและได้ส่วนลด หาก กฟผ.ยังคงขายส่งในราคาเดิม ก็หมายความว่า  PEA และ กฟน.ต้องเป็นผู้รับภาระเงิน 2.3 หมี่นล้านบาทนี้  หรือ หาก กฟผ. ยอมลดราคาขายส่งลง กฟผ. ก็จะกลายเป็นผู้ร่วมรับภาระด้ว โดยภาระดังกล่าว หากรัฐไม่มีมาตรการอื่นมาช่วย  ก็จะกระทบกับฐานะการเงินของทั้ง 3 การไฟฟ้า หมายถึงกำไรที่ลดลง ก็จะกระทบต่อเนื่องไปถึงแผนการขยายธุรกิจ และการปันผลกำไรให้กระทรวงการคลัง  ซึ่งก็จะกระทบกับเงินที่จะไปจัดสรรเป็นงบประมาณแผ่นดินในที่สุด

2. รัฐใช้เงินกู้หรือเงินงบประมาณมาช่วยอุดหนุนภาระ 2.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็คือเงินภาษีของประชาชนนั่นเอง

3. กกพ. จะต้องไปดู เรื่อง การเรียกคืนเงินปรับลดการลงทุนที่ต่ำกว่าแผนจาก 3 การไฟฟ้า หรือ claw back ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2561-2563   ซึ่งถ้าเงินส่วนนี้เหลือไม่มากพอ ก็จะต้องปรับค่าเอฟทีคืนให้ โดยอาจจะให้ กฟผ. รับภาระไปก่อน (ในอดีต กฟผ.เคยรับภาระค่าเอฟทีให้ไปก่อน ประมาณ 8 พันล้าน จากการที่รัฐบาลขุดในอดีตมีมาตรการลดค่าไฟฟ้าช่วยประชาชน)  ซึ่งในที่สุด ผู้ใช้ไฟฟ้านั่นเอง ที่จะเป็นผู้รับภาระ

หันไปดูโครงสร้างค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเพื่อจะได้เข้าใจมากขึ้น ว่าทำไมค่าไฟของเรานั้น ถึงลดลงได้ยาก

โดยโครงสร้างค่าไฟฟ้าแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก คือ

1.ค่าไฟฟ้าฐาน (ต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า, ระบบสายส่ง, ระบบจำหน่าย, ค่าผลิตพลังงานไฟฟ้าภายใต้สมมติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิงและผลตอบแทน ณ วันที่กำหนดโครงสร้างค่าไฟฟ้า)

2. ค่าไฟฟ้าผันแปร หรือ ค่าเอฟที (สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของค่าใช้จ่ายที่อยู่เหนือการควบคุมเช่น ค่าเชื้อเพลิงและค่าซื้อไฟฟ้าที่เปลี่ยนไปจากค่าไฟฟ้าฐาน, ค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ เช่น ค่าส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า หรือ Adder ค่า Feed in Tariff–FiT, กองทุนพัฒนาไฟฟ้า)

3. ค่าบริการรายเดือน ซึ่งจะแตกต่างไปตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าที่มีอยู่ 8 ประเภท ได้แก่ บ้านที่อยู่อาศัย, กิจการขนาดเล็ก, ขนาดกลาง, ขนาดใหญ่, กิจการเฉพาะอย่าง, องค์การที่ไม่แสวงหากำไร, กิจการสูบน้ำเพื่อการเกษตร และผู้ใช้ไฟฟ้าชั่วคราว) และ

4.ภาษีมูลค่าเพิ่ม

ปัจุบันค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.61 บาทต่อหน่วย ต้นทุนส่วนใหญ่จะมาจากระบบผลิต ถึงประมาณ 79% รองลงมาคือค่าระบบจำหน่ายทั้งของPEAและ กฟน. ประมาณ 15% และค่าระบบส่ง ประมาณ 7%  โชคดีที่ค่าเอฟทีตอนนี้ติดลบ คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1.6% เลยเอามาหักลบ ต้นทุนส่วนอื่นลงได้เล็กน้อย

ปัจจุบันกำลังการผลิตติดตั้งในระบบมีอยู่ประมาณ 46,000 เมกะวัตต์ ในขณะที่ผลกระทบจาก โควิด-19 ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง ดันปริมาณสำรองไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจนล้นระบบ โดยในแต่ละวัน พีคไฟฟ้าอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 25,000 เมกะวัตต์ จะเห็นว่ากำลังการผลิตที่เหลืออยู่กว่า 2 หมื่นเมกะวัตต์นั้น  ส่วนหนึ่งต้องเดินเครื่องให้พร้อมจ่ายไฟฟ้าได้ในทันทีเพื่อความมั่นคง แต่อีกส่วนใหญ่ ต้องหยุดเดินเครื่อง เอาไว้ ซึ่งกำลังการผลิตส่วนเกินนี้  มีต้นทุนที่ถูกรวมเข้าไปอยู่ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าด้วย

ในขณะเดียวกันการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ทั้งในรูปของ Adder และ FiT  คิดเป็นต้นทุนที่บวกเข้าไปในค่าไฟฟ้าประมาณ 24 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องช่วยแบกรับเอาไว้ให้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันรวมแล้ว มากกว่า 2 แสนล้านบาท

ต้องบอกว่าที่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ได้พยายามช่วยเยียวยาผลกระทบเรื่องของค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ในช่วง 3 เดือนที่ต้องอยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ แม้จะพอบรรเทาค่าใช้จ่ายเฉพาะหน้าลงไปได้บ้าง  แต่ด้วยพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าที่เปลี่ยนไป ใครใช้มากก็ต้องจ่ายแพงมากขึ้น เพราะการคำนวณค่าไฟฟ้าคิดแบบอัตราก้าวหน้า บวกกับโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงอยู่แล้ว ปรับลดลงได้ยาก

สรุปว่าวงเงิน 2.3 หมื่นล้านบาท ที่รัฐลดให้ตามมติ ครม. วันที่ 21 เม.ย. 2563  ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้านั่นแหละ ที่จะเป็นผู้ทยอยจ่ายคืน ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม ในท้ายที่สุด

ทีมศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงาน 

Advertisment