ตั้งคณะทำงานสรุปแนวทางลดสำรองไฟฟ้าล้นระบบระยะสั้น

1641
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเตรียมตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวทางลดปริมาณสำรองไฟฟ้า (Reserved Margin)ที่ล้นระบบในระยะสั้น 5 ปีข้างหน้าที่เป็นภาระต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า คณะทำงานพิจารณาแนวทางลดปริมาณสำรองไฟฟ้า จะมีตัวแทนทั้งจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งตั้งโดยคำสั่ง ของ นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน โดยทำงานภายใต้คณะอนุกรรมการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้า ที่จะจัดทำโหลดความต้องการใช้ไฟฟ้าในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า ของประเทศ ฉบับใหม่ หรือ PDP2022

โดยคณะทำงานจะมีการพิจาณาความเป็นไปได้ในทุกแนวทางที่จะลดปริมาณสำรองไฟฟ้าในระยะสั้น ตั้งแต่ปี 2564-2568 ที่อยู่ในระดับใกล้ 50% ลง ซึ่งเมื่อ ได้ข้อสรุป ก็จะนำเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการ

- Advertisment -

แหล่งข่าว กล่าวว่า ปริมาณสำรองไฟฟ้าที่อยู่ในระดับสูงเกือบ50%  เกิดจากการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ไม่เป็นไปตามที่คาดการณ์ โดยเฉพาะในปี 2563 ที่ไทยประสบปัญหาทางเศรษฐกิจจากวิกฤติโควิด-19  ซึ่งทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง กว่า 4,000 เมกะวัตต์ (แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า หรือ PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือนต.ค.2563 ที่ผ่านมา มีข้อมูลคาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ปี 2563 อยู่ที่ 32,732 เมกะวัตต์ แต่พีคไฟฟ้าที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเดือน มี.ค. 2563 อยู่ที่ 28,636 เมกะวัตต์ ในขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ซึ่งจะเข้าระบบปี 2563 จะมีมากถึง 51,943 เมกะวัตต์  จึงทำให้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าเหลืออยู่ในระบบมากถึง 23,307 เมกะวัตต์ )  และคาดว่า ต้องใช้เวลาอีก1-2 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ไฟฟ้าจึงจะกลับมาอยู่ในระดับเดิม แต่กลับมีการสร้างโรงไฟฟ้าเผื่อเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้โรงไฟฟ้าส่วนหนึ่งที่มีประสิทธิภาพต่ำ  ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเก่า ถูกสั่งให้หยุดเดินเครื่อง แต่ก็ยังได้รับค่าความพร้อมจ่าย ( Availability Payment ) ที่ถูกคำนวณรวมไว้ในโครงสร้างค่าไฟฟ้าที่เก็บกับประชาชน

แหล่งข่าวกล่าวว่า   ในแนวทางการลดปริมาณสำรองไฟฟ้า จะพิจารณาในส่วนของการเพิ่มดีมานด์ เช่น การพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า (EV) และ การคมนาคมขนส่งรถไฟฟ้าสายต่างๆ ควบคู่กันไปกับการลดกำลังผลิตไฟฟ้าในระยะสั้นลง เช่น การยกเลิกหรือเลื่อนโครงการโรงไฟฟ้าที่ยังไม่มีการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าออกไป ,การเจรจาเพื่อปลดโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพต่ำออกจากระบบก่อนกำหนด หรือ Buy Out  โดยหากมีความชัดเจนในแนวทาง กฟผ.ซึ่งเป็นคู่สัญญา จะต้องเป็นผู้เจรจา กับโรงไฟฟ้าไอพีพี ของบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด( มหาชน ) หรือ GPSC ( โรงไฟฟ้า IPT เดิม) ขนาดกำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีสถานที่ตั้งอยู่ที่อ่าวไผ่ จ.ชลบุรี ที่เดินเครื่องเข้าระบบมาตั้งแต่ปี 2543 และจะสิ้นสุดสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในปี 2568  และอีกโรงคือของบริษัทอีสเทอร์นพาวเวอร์แอนด์อิเล็คทริค จำกัด  ( EPEC ) กำลังการผลิต 350 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ

ส่วนอีกแนวทางคือ การปรับลดปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จากเดิมสมัยนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้กำหนดในแผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก รวมตลอดทั้งแผน ประมาณ 1,933 เมกะวัตต์ โดยรับซื้อเพื่อเข้าระบบในปี 2563 จำนวน 700 เมกะวัตต์ แต่ให้มีโครงการนำร่องก่อน 150 เมกะวัตต์ เข้าระบบในปี 2566 ก่อน

ทั้งนี้หากไม่มีการดำเนินการใดๆ ปัญหาสำรองไฟฟ้าที่ล้นระบบจะเป็นภาระต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าอย่างมาก เพราะจะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่โรงใหม่ที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA ) กับทาง กฟผ. จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบตามแผนอย่างต่อเนื่องโดยในปี 2564 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์เอสอาร์ซี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์ เข้าระบบ ปี 2565 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์เอสอาร์ซี ชุดที่ 2 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์เข้าระบบ  ปี 2566 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์พีดี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์เข้าระบบ ปี 2567 จะมีโรงไฟฟ้าของกัลฟ์พีดี ชุดที่ 1 กำลังการผลิตรวม 1,250 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 1 กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบ และปี 2568 จะมีโรงไฟฟ้าหินกองชุดที่ 2 กำลังการผลิต 700 เมกะวัตต์ เข้าระบบ

Advertisment