ซีอีโอปตท.ชี้เริ่มเจรจาลดใช้ก๊าซในอ่าวไทย โดยไม่กระทบสัญญาก๊าซระยะยาว

cof
- Advertisment-

ซีอีโอปตท.เผยเริ่มเจรจาลดใช้ก๊าซในอ่าวไทยตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน เพื่อให้มีการนำเข้าLNG เพิ่มมากขึ้นในอนาคตแล้ว ระบุต้องไม่กระทบกับสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวที่ ปตท.ทำไว้กับคู่สัญญา  พร้อมเปิดให้ กฟผ.ในฐานะที่เป็น Shipper รายใหม่ใช้ระบบโครงข่ายท่อส่งก๊าซธรรมชาติของปตท.ได้ แต่ต้องทะยอยใช้เฉพาะกับโรงไฟฟ้าของกฟผ.เอง โดยต้องการให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เข้ามากำกับดูแล 

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปตท.จำกัด(มหาชน) ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าว เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2563 ถึงนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ให้ปตท.ลดใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยลง เพื่อเปิดให้มีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่มีราคาถูกลงเรื่อยๆ เพิ่มมากขึ้นว่า ปตท.เริ่มเจรจากับผู้ผลิตก๊าซในอ่าวไทยแล้ว แต่เรื่องดังกล่าว จะต้องไม่กระทบกับสัญญาซื้อขายก๊าซระยะยาวที่ปตท.มีอยู่
โดยเรื่องดังกล่าวอยากให้มองไปในระยะยาวด้วย และเป็นเรื่องใหญ่ ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) จะต้องเข้ามาดูแล  เพราะที่ผ่านมา รัฐมีการเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาลงทุนสำรวจและผลิต เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และรัฐเองก็ได้ประโยชน์ในเรื่องของค่าภาคหลวง และภาษี  รวมทั้งราคาก๊าซที่ถูกกว่าก๊าซที่นำเข้า  แต่สถานการณ์ปัจจุบันที่LNGมีราคาถูกกว่าก๊าซในอ่าวไทยเพราะเกิดโอเวอร์ซัพพลาย  ก็มีความต้องการที่จะเร่งนำเข้า  ซึ่งต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะราคาLNG มีทั้งขาขึ้นและขาลง  หากกรณีที่เป็นช่วงขาลงก็ดีไป แต่ถ้าเป็นช่วงที่ราคาขาขึ้นจะทำอย่างไร ก็ต้องกลับมาใช้ก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มขึ้นใช่หรือไม่ และหากไม่มีการเตรียมความพร้อมกันให้ดี ก็จะส่งผลต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้า  โดยบทบาทของปตท. ต้องให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศด้วย  ไม่ได้มองเฉพาะเรื่องธุรกิจหรือผลกำไรเพียงอย่างเดียว

ในส่วนของการนำเข้าLNG ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)ในล็อตใหม่ ตามนโยบายรัฐในฐานะที่เป็น  Shipper รายใหม่นั้น โครงการระบบท่อส่งก๊าซบนบกของปตท.พร้อมที่จะเปิดให้ กฟผ.เข้ามาใช้ได้อยู่แล้ว ซึ่งได้มีการร่วมทดสอบระบบการนำเข้าLNG ล็อตแรกร่วมกันไปก่อนหน้านี้  โดยเมื่อเห็นว่า กฟผ.พอเริ่มต้นที่จะทำได้ ก็ค่อยๆทะยอยเพิ่มสัดส่วนของกฟผ.เข้ามาในระบบ   ขอเพียงแต่ว่าการนำเข้าLNG ของกฟผ.ควรจะนำมาใช้เฉพาะโรงไฟฟ้าของกฟผ.ที่ไม่รวมถึงบริษัทลูกของกฟผ. ที่เป็นเอกชน ซึ่งเป็นลูกค้าของ ของปตท. เท่านั้น  ยกตัวอย่างเช่นเดียวกับถ้า ปตท.ไปใช้สายส่งของกฟผ.แล้วเอาไฟฟ้าไปขายให้กับลูกค้าของกฟผ. ก็ถือว่าไม่ถูกต้องเช่นเดียวกัน  ยกเว้นว่ารัฐจะประกาศให้เอกชนที่ทำโรงไฟฟ้าและนำเข้าก๊าซมาใช้เองได้

- Advertisment -

สำหรับประเด็นการลงทุนสร้างคลังแอลเอ็นจี ที่มองว่า เป็นการลงทุนล่วงหน้าเกินกว่าความจำเป็นหรือไม่ นายชาญศิลป์กล่าวว่า  การลงทุนของปตท.ในเรื่องLNG เป็นการมองเพื่อความมั่นคงประเทศในระยะยาว  ที่ในวันหนึ่ง ก๊าซในอ่าวไทยจะลดน้อยลงและหมดไป ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณแล้ว  โดยการลงทุนสร้างคลัง LNG ต้องตัดสินใจล่วงหน้าประมาณ 5ปี  จะปล่อยให้ก๊าซในอ่าวไทยหมดแล้วจึงค่อยมาตัดสินใจลงทุนสร้าง ก็จะไม่ทันการณ์

ทั้งนี้คลังLNGที่มีอยู่ในขณะนี้เพียงพอรองรับการนำเข้าLNG ได้ 11.5 ล้านตันต่อปี และในอีก 2ปี จะเพิ่มเป็น 19ล้านตันต่อปี ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ที่ปตท.สามารถบริหารจัดการได้

Advertisment