ชี้คำวินิจฉัยผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำให้ราช กรุ๊ป ชะลอลงนามสัญญาโรงไฟฟ้า1,400MW

1383
cof
- Advertisment-

การดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ที่นำไปสู่การลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)กับ บริษัทลูก คือ ราช กรุ๊ป สำหรับโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ และ การเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหิน เป็นก๊าซ ของบริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นพีเอส ขนาดกำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ ถูกชะลอออกไปก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนในคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่ ให้กระทรวงพลังงานทบทวนแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ  พีดีพี2018 ใหม่ เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนหุ้นในโรงไฟฟ้าเกิน 51% ของกำลังการผลิตทั้งหมด  ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 56วรรค2

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเมื่อวันที่ 1 ก.ค.2562 ที่เสนอแนะให้กระทรวงพลังงานปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP2018เพื่อให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้า 51% ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา56วรรค2  โดยให้พิจารณาตามข้อเสนอแนะ ภายใน120วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งผล และดำเนินการให้รัฐมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 51% ภายใน 10ปี นับจากปี 2562 นั้น ถือว่า เข้าสู่กระบวนการตามกฏหมายแล้ว  ดังนั้น การดำเนินการตามมติ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 2562 ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ที่ให้ ราช กรุ๊ป ( เดิมคือบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง  กฟผ.ถือหุ้น45% )  สร้างโรงไฟฟ้าภาคตะวันตก 2 โรง ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,400 เมกะวัตต์ เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบปี 2567และปี 2568 โดยแบ่งเป็นโรงที่สร้างเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิม ของบริษัทไตรเอ็นเนอยี่  ขนาด 700 เมกะวัตต์ ที่จะปลดระวางออกจากระบบในปี 2563 โดยตามแผนPDP2018 กำหนดให้จ่ายไฟเข้าระบบเชิงพาณิชย์ ในปี 2567  ส่วนโรงที่สอง เป็นโรงไฟฟ้าใหม่ ขนาด 700 เมกะวัตต์ เพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในภาคตะวันตก ซึ่งกำหนดจ่ายไฟเข้าระบบในปี 2568
และมติ ที่ให้เจรจากับ บริษัทเนชั่นแนล เพาเวอร์ ซัพพลาย จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นพีเอส  เพื่อเปลี่ยนเชื้อเพลิงจากถ่านหิน เป็นก๊าซธรรมชาติ สำหรับโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิต 540 เมกะวัตต์ โดยจ่ายไฟเข้าระบบ ในปี 2569 และ 2570   อาจต้องชะลอออกไปก่อน   เพื่อให้รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่  นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ พิจารณาและนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ว่ากระทรวงพลังงาน จะทำตามข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดินหรือไม่ อย่างไร  เนื่องจากมติ กบง.ดังกล่าว มีผลให้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้า ของกฟผ.ลดต่ำลง ซึ่งขัดต่อคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน

แหล่งข่าว กล่าวด้วยว่า  หากกระทรวงพลังงาน ไม่ดำเนินการตามข้อเสนอแนะของ ผู้ตรวจการแผ่นดิน  ทางผู้ตรวจการแผ่นดิน สามารถที่จะเสนอเรื่องให้ ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ในมาตรา56 ได้ ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญ มีความเห็นสอดคล้อง กับ ผู้ตรวจการแผ่นดิน  กระทรวงพลังงานจะต้องยึดถือปฏิบัติตาม

- Advertisment -

แหล่งข่าวกล่าวว่า  คำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ยังมีผลให้  ราช กรุ๊ป และ เอ็นพีเอส  ไม่สามารถ แบ่งสัดส่วนหุ้น ให้เอกชนรายอื่น เข้ามาถือในภายหลังได้ จนกว่าจะมีความชัดเจน จากการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ   เพราะหากมีการลงนามในสัญญากันไปก่อน ทั้งๆที่รู้ว่า อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา56  ผู้บริหารรัฐวิสาหกิจที่ลงนาม จะถูกฟ้องเอาผิดในภายหลังได้

Advertisment