ชำแหละนโยบายตรึงราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ใครที่ต้องรับภาระ ?

1708
- Advertisment-

ชำแหละนโยบายตรึงราคาน้ำมัน ก๊าซหุงต้ม ใครที่ต้องรับภาระ ?

ในการแถลงข่าวของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 ต.ค.2564 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานยืนยันนโยบายที่จะตรึงราคาน้ำมันดีเซลเอาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร และก๊าซหุงต้ม ที่ 318 บาทต่อถังขนาด15 กิโลกรัมต่อไปโดยให้เหตุผลเพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบ ความเดือดร้อนจากราคาพลังงานให้กับประชาชน เพราะหากปล่อยให้ราคาปรับเพิ่มสูงขึ้นตามต้นทุนจริง ราคาดีเซลในขณะนี้จะทะลุเกิน 30 บาทต่อลิตร และ ก๊าซหุงต้มก็จะต้องเกิน 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมไปแล้ว

โดยเครื่องมือหลักที่รัฐนำมาใช้ในการตรึงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้มในครั้งนี้ คือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันไม่ให้มีความผันผวนสูง โดยเฉพาะในช่วงราคาน้ำมันขาขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ตุลาคม 2564 มีเงินเหลือสุทธิ อยู่ที่ 9,207 ล้านบาท)​ พร้อมกันนี้ยังขอความร่วมมือไปยังผู้ค้าน้ำมัน ให้ปรับลดค่าการตลาดดีเซลลงมาอยู่ที่ 1.40 บาทต่อลิตร ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยที่ผู้ค้าเคยได้รับอยู่ที่ 2.13 บาทต่อลิตร ( ค่าเฉลี่ยเดือน มี.ค.-พ.ค.64 )​

- Advertisment -

เมื่อเปิดเว็บไซต์​www.eppo.go.th ของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)​เข้าไปดูโครงสร้างราคาน้ำมัน ของวันที่ 20 ต.ค.64 จะเห็นว่า คนที่จ่ายเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมากที่สุด คือ ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน​95 ที่ 6.58 บาทต่อลิตร ส่วนผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ 95 และแก๊สโซฮอล์ 91 นั้นจ่ายเข้ากองทุน 0.62 บาทต่อลิตร

ส่วนคนที่ไม่ต้องจ่ายและยังเอาเงินจากกองทุนไปช่วยชดเชยราคาคือ ผู้ใช้แก๊สโซฮอล์ E20 ที่ได้รับการชดเชยลิตรละ 2.28บาท E85ได้รับชดเชยลิตรละ 7.13 บาท ดีเซลB7และดีเซล(B10)​ได้รับชดเชยลิตรละ 1.99 บาท และดีเซลB20 ลิตรละ 4.16 บาท ในขณะที่ LPG หรือที่ชาวบ้านเรียกว่าก๊าซหุงต้มนั้น ชดเชยอยู่ถึง 17.61 บาทต่อกิโลกรัม (ในถังขนาด 15 กิโลกรัม รัฐเอาเงินกองทุนน้ำมันไปช่วยชดเชยราคามากถึง 264.15 บาทต่อถัง )​

ตัวเลขที่ สนพ.ประเมินเอาไว้คือหากราคาน้ำมันดิบดูไบขยับเกิน 87.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล กองทุนน้ำมันจะต้องเอาเงินไปชดเชยราคาดีเซลและก๊าซหุงต้มเดือนละประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งเงินที่มีเหลืออยู่ในกองทุนประมาณ 9,000 ล้านบาทก็จะใช้ไปได้อีกประมาณ 2 เดือน

อย่างไรก็ตามใน พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 เปิดช่องให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)​สามารถเสนอขอกู้เงินได้โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีวงเงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท ซึ่งหากสถานการณ์ราคาพลังงานยังเป็นอยู่เช่นนี้ การใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปช่วยพยุงราคาก็จะต่อลมหายใจไปได้อีกประมาณ 4 เดือน รวมเป็น 6 เดือน อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีพลังงาน นายสุพัฒนพงษ์ ประกาศออกมาแล้วว่า
หากวงเงินกู้ดังกล่าวยังไม่เพียงพอใช้ในการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรอีก ก็จะไปหารือกับกระทรวงการคลังเพื่อหาแนวทางปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นลำดับต่อไป โดยปัจจุบันรัฐจัดเก็บภาษีสรรพสามิตในน้ำมันดีเซล (B10)​ และดีเซล B7 อยู่ที่ลิตรละ 5.99 บาท

แหล่งข่าวในวงการน้ำมันตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่ราคาดีเซลปรับเพิ่มสูงขึ้นจนขยับชนเพดานราคา 30 บาทต่อลิตรอย่างรวดเร็วทั้งๆที่ราคาน้ำมันดิบดูไบยังอยู่ที่ระดับ 80 เหรียญสหรัฐ​ต่อบาร์เรล เมื่อเปรียบเทียบกับในอดีตที่ราคาน้ำมันดิบดูไบเคยพุ่งสูงเกินกว่า 100 เหรียญสหรัฐ​ต่อบาร์เรล นั้น เป็นเพราะว่ากระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล โดยปรับเพิ่มสัดส่วนการผสม น้ำมันปาล์มบริสุทธิ์​หรือ B100 ในน้ำมันดีเซลพื้นฐาน จาก 5%หรือ B5 มาเป็น 7% หรือB7 และส่งเสริมน้ำมันไบโอดีเซลตัวใหม่อีก2 ชนิด คือดีเซลB10 (มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น ดีเซล ตั้งแต่ 1ต.ค.2563)​ และ ดีเซลB20 (ผสมB100ในสัดส่วน 20%ในทุกลิตร) ทำให้เมื่อราคาB100 แพงกว่าปกติ คือกว่าลิตรละ 40 บาท โดยที่ราคาน้ำมันดีเซลพื้นฐานยังอยู่ที่ประมาณ 20 บาทต่อลิตร จึงดึงให้ราคาดีเซลขยับสูงขึ้นเร็วกว่าเดิม (ราคาหน้าโรงกลั่นก่อนบวกรวมภาษี +กองทุนน้ำมัน +ค่าการตลาด ขยับขึ้นมาเป็น 22 บาทต่อลิตร และดีเซลB20 ขยับขึ้นมาเป็นประมาณ 25 บาทต่อลิตร )​

มีการตั้งข้อสังเกตด้วยว่า การที่ราคาB100 เพิ่มสูงขึ้นนั้นเป็นไปตามกลไกตลาดจริงตามหลักดีมานด์ ซัพพลาย หรือเป็นการปั่นราคาขึ้นของผู้ค้าในวงการปาล์มน้ำมัน เพราะในช่วงเดียวกันเมื่อ 2-3 ปีก่อนหน้านี้ เราเคยมีปัญหาผลผลิตปาล์มล้นตลาด ราคาตกต่ำจนทำให้กระทรวงพลังงานต้องมีนโยบายส่งเสริมไบโอดีเซลให้ใช้น้ำมันดีเซลB7 ดีเซลB10 และB20 ดังกล่าวเพื่อช่วยดูดซับปริมาณปาล์มน้ำมันออกจากตลาด และปริมาณปาล์มส่วนเกินที่เหลือ ยังถูกส่งไปเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบางปะกง ของ กฟผ. ทั้งๆที่รู้ว่าไม่คุ้มเพราะมีต้นทุนที่สูงกว่าก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงอยู่เดิม ซึ่งผลพิสูจน์ก็ออกมาแล้วว่านอกจากจะให้ กฟผ.ช่วยรับภาระไปเองส่วนหนึ่งแล้ว กระทรวงพลังงานยังมีการตั้งงบประมาณประจำ ปี 65 ให้กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์​พลังงาน (พพ.)​จำนวน 500 ล้านบาท เพื่อนำไปจ่ายชดเชยส่วนต่างต้นทุนให้กับ กฟผ.อีกด้วย

จากที่ไล่เรียงประเด็นให้เห็นมาเป็นลำดับ ถึงนโยบายการตรึงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม รวมถึงการเข้าไปอุ้มวงการปาล์มน้ำมัน โดยใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเป็นเครื่องมือ ทั้งๆที่ควรจะมีแนวทางการลดสัดส่วนB100 ลงไปอีกเพื่อบรรเทาภาระต้นทุนดีเซล (มีการประกาศใช้ดีเซลB6 เป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 11-31 ต.ค.64 และ กบง.ไม่ได้มีการขยายระยะเวลาออกไปอีก)​ ทำให้ คนที่ต้องมารับภาระที่เกิดขึ้นทั้งหมด คือ ผู้ใช้น้ำมันเบนซิน95 แก๊สโซฮอล์91และ95 ( ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ )​ รวมทั้งผู้ใช้ดีเซลพรีเมี่ยม ที่รัฐไม่ได้มีนโยบายคุมเพดานราคาแบบเดียวกัน

นอกจากนี้ หากต้องมีการกู้เงินเพื่อมาใช้ตรึงราคาต่อไปอีก ภาระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น กลุ่มผู้ใช้น้ำมันเหล่านี้ก็ยังจะต้องเป็นคนรับเอาไว้ด้วย เว้นเสียแต่ว่า กระทรวงพลังงานจะมีการปรับเปลี่ยนอัตรานำส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเสียใหม่ในภายหลังให้เป็นธรรมระหว่างผู้ใช้กลุ่มเบนซินและดีเซล ซึ่งอาจจะต้องรอไปถึงช่วงราคาน้ำมันขาลง ที่คาดกันว่าจะเป็นหน้าร้อนปีหน้า

Advertisment