แผนส่งเสริม E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ก.ค.64 สะดุด รอ สนพ.ศึกษาโครงสร้างราคาเอทานอล ให้เหมาะสม

13330
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานอาจจะมีการเลื่อนประกาศส่งเสริมน้ำมันแก๊สโซฮอล์E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ จากแผนเดิมที่กำหนดไว้ในเดือน ก.ค. 2564 ออกไปก่อนเพื่อเคลียร์ปัญหาโครงสร้างราคาให้เหมาะสม รวมทั้งตรวจสอบปริมาณการผลิตเอทานอลที่ต้องมีเพียงพอรองรับนโยบายได้ ชี้ราคาเอทานอลที่ใช้อ้างอิงเดือน ม.ค.ปรับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 26 บาทต่อลิตร จากที่เคยเฉลี่ยปกติอยู่ที่ 21-23 บาทต่อลิตร ถูกตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะมาจากการเก็งกำไรของผู้ค้า โดยเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังไม่ได้รับประโยชน์

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า จากการที่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นาย สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์  ได้สั่งการให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เตรียมทบทวนแนวทางการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ ให้มีความเหมาะสมสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สอดรับกับสถานการณ์การผลิต และความต้องการใช้เอทานอลในตลาดให้มีความสมดุล ป้องกันปัญหาความไม่สมดุลของ Demand และ Supply ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพราคาเอทานอลในอนาคต ก่อนที่จะประกาศให้มีการยกเลิกการใช้แก๊สโซฮอล์ 91 และผลักดันน้ำมันเบนซิน E20 ให้เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ เพื่อลดชนิดของน้ำมันในตลาดให้มีความเหมาะสมนั้น  ทำให้ต้องมีการทบทวนโดยเลื่อนระยะเวลาการประกาศให้น้ำมันแก๊สโซฮอล์E20 (น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 20% ในทุกลิตร) เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานของประเทศ ออกไปก่อน จากกำหนดเดิมที่จะดำเนินการในเดือน ก.ค.2564 นี้ โดยข้อมูลที่ภาคเอกชนรายงานให้ทาง สนพ.ได้รับทราบถึงปริมาณผลผลิตอ้อยในปี 2564 มีปริมาณที่ลดลง ที่จะทำให้การผลิตเป็นเอทานอลมีไม่พียงพอที่จะรองรับนโยบายดังกล่าว ในขณะที่ผลผลิตมันสำปะหลังก็มีราคาแพงขึ้น จากการส่งออกไปประเทศจีนที่มีความต้องการใช้มันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณและราคาเอทานอล (วัตถุดิบผสมในน้ำมันแก๊สโซฮอล์) ที่มาจากมันสำปะหลังมีราคาที่สูงขึ้นด้วย

โดยราคาเอทานอลที่ใช้อ้างอิงในเดือน ม.ค. 2564 ปรับสูงขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 26 บาทต่อลิตร จากที่ผ่านมาราคาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 21-23 บาทต่อลิตรเท่านั้น ยกเว้นบางช่วงเวลาสั้นๆที่ราคาเคยปรับขึ้นไปที่ 29 บาทต่อลิตร ซึ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า เกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์จากราคาที่ปรับขึ้นดังกล่าว  แต่กำไรส่วนใหญ่อยู่ในมือของผู้ค้า

- Advertisment -

ทั้งนี้ คาดว่า สนพ.จะนำข้อสั่งการของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานดังกล่าว ไปดำเนินการและนำกลับมาเสนอได้ประมาณกลางปี 2564 นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า  ปัจจุบัน สนพ. กำหนดโครงสร้างราคาเอทานอลอ้างอิง มาจาก 2 ส่วน คือ 1.นำข้อมูลมาจากกรมสรรพสามิต ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยของกากน้ำตาล จากอ้อย ที่โรงงานเอทานอลซื้อขายกันจริง และ 2.การรับข้อมูลราคาอ้างอิงซื้อขายเอทานอลจากผู้ค้ามาตรา 7 ที่ส่งให้ สนพ. ทุกรายไตรมาส จากนั้น สนพ.จะนำข้อมูลทั้งหมดมาเฉลี่ยราคาและนำราคาต่ำสุดมาเป็นราคาอ้างอิง

โดยสูตรราคาอ้างอิงดังกล่าวใช้มาตั้งแต่ปี 2558 และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้การยอมรับมาโดยตลอด ซึ่งแนวทางในการปรับโครงสร้างราคานั้น ทาง สนพ. จะทบทวนใน 3 แนวทาง ได้แก่ 1.สูตรโครงสร้างราคาอ้างอิงดังกล่าวยังมีความเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันหรือไม่ 2.จะต้องกลับไปใช้สูตรราคาเอทานอลเหมือนอดีตที่เป็นระบการคำนวณจากต้นทุนจริงบวกค่าดำเนินการ( Cost Plus) หรือไม่ และ 3.เปลี่ยนไปใช้สูตรโครงสร้างอื่นแทน

ปัจจุบันน้ำมันแก๊สโซฮอล์E20  มีราคาขายปลีกที่ปั๊มอยู่ที่ 22.74 บาทต่อลิตร โดยมีราคาที่ถูกกว่า แก๊สโซฮอล์91 E10 ที่มีราคา 23.98 บาทต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์95 E10 ที่มีราคา 24.25 บาทต่อลิตร    โดยเหตุที่ทำให้ราคา แก๊สโซฮอล์E20 มีราคาที่ถูกกว่าได้ ทั้งๆที่ มีส่วนผสมของเอทานอล ซึ่งมีราคาแพงในสัดส่วนที่มากกว่า ถึง 10% ในทุกลิตร โดยต้นทุนเนื้อน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 วันที่ 21 ม.ค.2564 อยู่ที่ 12.74 บาทต่อลิตร และ ต้นทุนเนื้อน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 อยู่ที่ 14.20 บาทต่อลิตร เนื่องจาก รัฐมีนโยบายส่งเสริม โดยจัดเก็บเงินจาก แก๊สโซฮอล์91 E10และแก๊สโซฮอล์95 E10 ที่ 0.62 บาทต่อลิตรเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในขณะที่ แก๊สโซฮอล์E20 ได้รับการชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จำนวน 2.28 บาทต่อลิตร  รวมทั้งการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตยัง เก็บจาก แก๊สโซฮอล์E20 ในอัตราลิตรละ 5.20 บาทต่อลิตร ส่วนแก๊สโซฮอล์91 E10และแก๊สโซฮอล์95 E10 จัดเก็บที่ 5.85 บาทต่อลิตร

ดังนั้นนโยบายการส่งเสริมแก๊สโซฮอล์E20 เป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐาน ที่กำลังมีการทบทวนโครงสร้างราคาเอทานอลใหม่ หากประโยชน์ยังตกเป็นของผู้ค้าและนักเก็งกำไรโดยเกษตรกรไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด  ก็หมายความว่า เป็นนโยบายที่กำหนดออกมาเพื่อให้ผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน เป็นผู้อุ้มบรรดาผู้ค้าและนักเก็งกำไรแทนเกษตรกร นั่นเอง

Advertisment