จับตาราคาน้ำมันดิบโลก หลัง OPEC+ ยังไม่ได้ข้อสรุปมาตรการปริมาณการผลิต

480
- Advertisment-

จับตาราคาน้ำมันดิบโลกสัปดาห์นี้มีความผันผวน หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร หรือ กลุ่ม OPEC+ ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือนสิงหาคมและเดือนต่อๆไป จากความขัดแย้งในประเด็นการขยายระยะเวลามาตรการควบคุมปริมาณการผลิตในปี 2565  

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับสูงขึ้น 1.2% หรือ 93 เซนต์ ไปอยู่ที่ 77.10 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่ผ่านมา ส่วนราคาน้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ ราคาไต่ขึ้นไปอยู่ที่ 76.33 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 1.56% หรือ 1.17 เหรียญสหรัฐ สูงสุดนับแต่เดือนตุลาคม 2561 เป็นต้นมา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ในการประชุมเมื่อวันพฤหัสฯ ต่อเนื่องถึงวันศุกร์ ที่ผ่านมา (1-2 ก.ค. 2564) แม้กลุ่ม OPEC+ จะเห็นชอบในประเด็นที่ให้ปรับเพิ่มการผลิตน้ำมันออกสู่ตลาดในปริมาณ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน นับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป หรือ เดือนละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงเรื่องการขยายระยะเวลามาตรการควบคุมปริมาณการผลิต เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ปฏิเสธข้อเสนอของประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่ต้องการให้ขยายระยะเวลามาตรการดังกล่าวไปจนถึงสิ้นปี 2565 (จากข้อตกลงเดิมที่มาตราการดังกล่าวจะสิ้นสุดในเดือนเมษายนปีหน้า) หากยังไม่มีการพิจารณาปรับระดับการผลิตขั้นต่ำ (baseline production) ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก่อน เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ไม่พอใจที่ระดับการผลิตของตนเองถูกกำหนดไว้ต่ำและต้องการให้มีการปรับเพิ่มขึ้น ก่อนจะขยายเวลามาตรการควบคุมปริมาณการผลิตออกไปตามข้อเสนอของซาอุดิอาระเบียและสมาชิกอื่นๆ  

- Advertisment -

ทั้งนี้ กลุ่ม OPEC+ ได้นัดหมายหารือต่อเมื่อวานนี้ (5 ก.ค.) แต่ในที่สุดก็ได้ยกเลิกกำหนดการดังกล่าวไป โดยยังไม่ได้มีการกำหนดวันประชุมใหม่อีกครั้งแต่อย่างใด

กลุ่ม OPEC+ ดำเนินมาตรการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมันครั้งประวัติศาสตร์ในปี 2564 โดยลดปริมาณการผลิตลงถึง 10 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพื่อพยุงราคาน้ำมันที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤตโรคระบาดทั่วโลก อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวได้รับการผ่อนคลายลงในปัจจุบัน เหลือการลดกำลังผลิตอยู่ที่ 5.8 ล้านบาร์เรลล์ต่อวัน

ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ได้วิเคราะห์ว่าแนวโน้มราคาน้ำมันมีความผันผวน ให้จับตาผลการประชุมของกลุ่ม OPEC+ หลังจากมีความขัดแย้งเรื่องการขยายระยะเวลามาตรการควบคุมปริมาณการผลิตน้ำมัน ทั้งนี้ จากการประชุมในวันศุกร์ที่ 2 ก.ค. 64 ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง และจะประชุมกันอีกครั้งในวันที่ 5 ก.ค. 64 (แต่ก็ได้มีการยกเลิกไปในภายหลัง – ENC) เบื้องต้นกลุ่ม OPEC+ ให้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันรวม 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในช่วงเดือน ส.ค.- ธ.ค. 64 โดยเพิ่มขึ้นเฉลี่ยเดือนละ 400,000 บาร์เรลต่อวัน และขยายเวลามาตรการปรับลดการผลิตน้ำมัน ออกไปเป็นเดือน ธ.ค. 65 จากเดิมที่จะสิ้นสุดใน เม.ย. 65 อย่างไรก็ตามสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แม้จะเห็นด้วยกับข้อเสนอแรก แต่คัดค้านข้อเสนอที่จะยืดเวลามาตรการดังกล่าว พร้อมกับเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงระดับการผลิตขั้นต่ำ (Baseline Production) ให้โควตาการผลิตน้ำมันของตนเพิ่มขึ้น

สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา (28 มิ.ย. – 2 ก.ค. 2564) ทีมวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท. รายงานราคาน้ำมันดังนี้

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก

•          Pemex บริษัทน้ำมันแห่งชาติของเม็กซิโกแถลงการณ์ว่าเกิดเหตุท่อขนส่งก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลบริเวณอ่าวเม็กซิโกระเบิด

ทำให้เกิดเพลิงลุกไหม้ใกล้กับแท่นผลิตน้ำมันดิบที่แหล่ง Ku Maloob Zaap (กำลังการผลิตประมาณ 700,000 บาร์เรลต่อวัน) อย่างไรก็ตามไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บ

•          สถานการณ์การเมืองระหว่างอิหร่าน และกลุ่มชาติตะวันตกตึงเครียด หลังอิหร่านยังไม่ขยายระยะเวลาข้อตกลง ให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency: IAEA) เข้าตรวจสอบการดำเนินการด้านนิวเคลียร์ ซึ่งได้สิ้นสุดลงตั้งแต่วันที่ 24 มิ.ย. 64 อาจกระทบต่อการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ (Joint Comprehensive Plan of Action: JCPOA) ระหว่างอิหร่าน กับกลุ่มประเทศมหาอำนาจตะวันตก

•          กลุ่ม OPEC+ โดยที่ประชุม Joint Technical Committee (JTC) คาดว่าอุปสงค์น้ำมันโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 จะเติบโตจากปีก่อน 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และทั้งปี 2564 จะเติบโตจากปีก่อน 6 ล้านบาร์เรลต่อวัน

ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ

•          นักลงทุนวิตกต่อมาตรการ Lockdown ในหลายประเทศ โดยเฉพาะทางฝั่งแปซิฟิก อาทิ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์ใหม่ (Delta) อาจกดดันการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และความต้องการใช้พลังงาน

•          Baker Hughes Inc. รายงานจำนวน Rig ขุดเจาะน้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 2 ก.ค. 64 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 4 แท่น มาอยู่ที่ 376 แท่น

ด้าน ไทยออยล์ วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบว่ามีความผันผวนเช่นกัน หลังกลุ่มโอเปกและประเทศพันธมิตร ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันในการประชุมที่ผ่านมา ในขณะที่ปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ มีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น หลังโรงกลั่นในสหรัฐฯ ปรับเพิ่มกำลังการกลั่นเพื่อรองรับความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงฤดูร้อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความต้องการใช้น้ำมันเบนซินสำหรับฤดูกาลขับขี่

** ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก

Advertisment