เขียนเล่าข่าว EP. 50 จับตา ครม. ปล่อยลอยตัวดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร ?

443
- Advertisment-

ในที่สุดคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มีนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ก็ตัดสินใจปล่อยลอยตัวราคาน้ำมันดีเซลเป็นครั้งแรก แบบไม่มีการกำหนดเพดานราคาสูงสุดเหมือนที่ผ่านมา ดังนั้นหลังจากนี้ประชาชนอาจจะได้เห็นการปรับขึ้นราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตรอีกครั้ง หากราคาน้ำมันโลกพุ่งสูงขึ้น

ทั้งนี้ที่ประชุม กบน. เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2567 มีมติเห็นชอบให้ปรับอัตราเงินชดเชยกองทุนน้ำมันฯ ประเภทน้ำมันดีเซลเพื่อให้ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเกิน 30 บาทต่อลิตรได้ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2567 เป็นต้นไป ซึ่งมีผลหลังจากวันที่ 1 เม.ย. 2567 นี้

แต่กระทรวงพลังงานยังคงพยายามที่จะหาแนวทางแก้ปัญหาภาวะเงินกองทุนน้ำมันฯ ถังแตก ไปพร้อมๆ กับการดูแลราคาดีเซลไม่ให้ปรับสูงเกินไป โดยกระทรวงพลังงานเตรียมที่จะหารือกับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เร็วๆ นี้ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนไปพร้อมกับการลดภาระหนี้ของกองทุนฯ เช่น ขอใช้งบกลาง หรือ มาตรการลดภาษีดีเซลมากขึ้น แต่หากไม่มีการช่วยเหลือใดๆ กองทุนน้ำมันฯ อาจปรับลดการชดเชยราคาดีเซลลง 1-2 บาทต่อลิตร แบบขั้นบันได

- Advertisment -

หมายความว่าปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ ชดเชยราคาดีเซลอยู่ 4.17 บาทต่อลิตร  หรือประมาณ 8,700 ล้านบาทต่อเดือน ดังนั้นหากลดการชดเชยลง 1-2 บาทต่อลิตร ก็จะส่งผลให้ราคาดีเซลขยับขึ้น 1-2 บาทต่อลิตรเช่นกัน จากปัจจุบันราคาดีเซลจำหน่ายอยู่ 29.94 บาทต่อลิตร ก็อาจขยับเป็น 31.94 บาทต่อลิตรได้

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาภาวะเงินกองทุนฯ ในปัจจุบันที่เรียกได้ว่า กองทุนฯ กลับสู่ภาวะถังแตกรอบ 2 นับตั้งแต่ปี 2565 โดยภาพรวมปัจจุบันเงินกองทุนน้ำมันฯ อยู่ในภาวะเงินติดลบรวม -98,220 ล้านบาท ซึ่งมาจากการชดเชยราคาดีเซลเพื่อไม่ให้จำหน่ายเกิน 30 บาทต่อลิตร จนทำให้บัญชีน้ำมันติดลบรวม -51,136 ล้านบาท และมาจากบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,084 ล้านบาท

และประเด็นสำคัญนอกจากกองทุนน้ำมันฯ จะมีภาระหนี้ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายคืนสถาบันการเงินทุกเดือนแล้ว ในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ยังต้องเริ่มจ่ายคืนเงินต้นที่เป็นเงินกู้ก้อนแรก 30,000 ล้านบาท ให้กับสถาบันการเงินด้วย (จากเงินกู้ทั้งหมดที่กู้มาแล้วรวม 105,333 ล้านบาท) 

ดังนั้นการต้องดึงเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปชดเชยราคาดีเซลทุกวัน ประกอบกับการเตรียมจ่ายหนี้เงินต้นก้อนแรก ก็นับเป็นภาระหนักของกองทุนน้ำมันฯ ที่ยากจะสามารถแบกรับภาระได้อีกต่อไป

ทั้งนี้เมื่อย้อนกลับไปในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจะพบว่า กองทุนน้ำมันฯ เริ่มประสบปัญหาเงินติดลบในเดือน ธ.ค. 2564 ที่ -4,480 ล้านบาท (จากเดือน ม.ค. 2564 ที่กองทุนน้ำมันฯ ยังเป็นบวกอยู่ที่ 27,082 ล้านบาท) เนื่องมาจากภาวะสงครามในต่างประเทศทำให้ราคาน้ำมันโลกขยับสูงขึ้น จนกองทุนน้ำมันฯ ต้องเข้าไปชดเชยราคาน้ำมันในประเทศ พร้อมๆ กับการชดเชยราคา LPG ด้วย

ส่งผลให้ต้นปี 2565 ครม. ต้องใช้มาตรการลดภาษีดีเซลมาช่วยครั้งละประมาณ 3-5 บาทต่อลิตรอย่างต่อเนื่อง แต่แล้วในวันที่ 1 พ.ค. 2565 กบง. ก็มีมติปรับขึ้นเพดานราคาดีเซลเป็นครั้งแรก โดยกำหนดให้ราคาขายปลีกสามารถปรับขึ้นจาก 30 บาทต่อลิตร ไปได้สูงสุดไม่เกิน 35 บาทต่อลิตร แต่สถานการณ์กองทุนน้ำมันฯ ยังไม่ดีขึ้นและย่ำแย่หนักสุดจนถึงขั้นกองทุนน้ำมันฯ ติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.3 แสนล้านบาท ในปี 2565 จนนำไปสู่การกู้เงินจากสถาบันการเงิน โดย ครม. กำหนดให้กู้เงินได้ไม่เกิน 150,000 ล้านบาท (กู้จริงรวม 105,333 ล้านบาท) โดยเป็นการทยอยกู้เงินตามความจำเป็น

และเมื่อก้าวสู่ปี 2566 สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกเริ่มดีขึ้น ทาง กบน. จึงทยอยประกาศลดราคาดีเซลลงครั้งละประมาณ 50 สตางค์ต่อลิตร จากราคาที่เคยขึ้นไปสูงสุดที่ 34.94 บาทต่อลิตร (ราคาหน้าปั๊ม ปตท.) โดยปรับลดลงครั้งแรกในเดือน ก.พ. 2566 ลงมาเรื่อยๆ รวม 6 ครั้ง ทำให้ราคาดีเซลมาหยุดที่ 31.94 บาทต่อลิตร

ซึ่งเหตุการณ์ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเห็นว่านอกจากกองทุนน้ำมันฯ จะได้เข้ามาช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับสูงเกินไปจนกระทบต่อประชาชนอย่างรุนแรงได้แล้ว ยังเป็นการปลดล็อคราคาดีเซลที่ 30 บาทต่อลิตรได้ด้วย และพยายามรักษาระดับราคาดีเซลไว้ไม่ให้เกิน 32 บาทต่อลิตร เพื่อหวังเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ ให้กลับสู่ภาวะปกติที่มีเงินในบัญชีไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท

แต่แล้วเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสู่ยุคที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ในปี 2566 ก็ประกาศนโยบายกลับมาตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรอีกครั้ง เริ่ม 1 ม.ค.-31 มี.ค. 2567 พร้อมๆ กับการทยอยถอนการลดภาษีดีเซลจาก 5 บาทต่อลิตร เหลือ 2.50 บาทต่อลิตร ในปลายปี 2566 และเหลือ 1 บาทต่อลิตร ตั้งแต่ 20 ม.ค.-19 เม.ย. 2567 นี้

ส่งผลให้กองทุนน้ำมันฯ ต้องกลับมารับภาระหนักในการชดเชยราคาดีเซลอีกครั้ง โดยในเดือน ม.ค. 2567 กองทุนน้ำมันฯ กลับมาทยอยติดลบสูงกว่า 8 หมื่นล้านบาทอีกครั้ง (จากที่ยอดติดลบเหลือ 6.4 หมื่นล้านบาทในปลายปี 2566) และปัจจุบันติดลบเกือบ 1 แสนล้านบาท  ( ล่าสุด ณ วันที่ 24 มี.ค. 2567 กองทุนน้ำมันฯ ติดลบรวม -98,220 ล้านบาท)

ดังนั้นในการประชุม ครม.ที่จะถึงนี้ จะมีการหารือถึงแนวทางการดูแลกองทุนน้ำมันฯ และการรักษาเสถียรภาพราคาดีเซลในประเทศ ซึ่งมีหลากหลายแนวทางที่ ครม.จะพิจารณาได้ทั้งการกำหนดเพดานราคาดีเซลสูงสุด หรือ การนำงบกลางมาช่วยกองทุนน้ำมันฯ ประกอบกับมาตรการลดภาษีดีเซลมากขึ้น หรือ จะเริ่มปล่อยลอยตัวราคาดีเซลตามราคาตลาดโลก ซึ่งต้องจับตาดูว่ารัฐบาลยุคปัจจุบันจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

Advertisment