คาดเสนอแผนลงทุน โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่อง 8-9 ให้ ครม. อนุมัติได้ปลายปีนี้

1635
- Advertisment-

กฟผ.คาดเสนอแผนลงทุน โรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 ขนาด 600 เมกะวัตต์ มูลค่าประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ให้ ครม.พิจารณาได้ปลายปี 2564 นี้ โดยตามแนวทางของ​แผนพลังงานแห่ง​ชาติ​ถูกระบุว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายที่จะเกิดขึ้นในประเทศ

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ถึงแม้ว่าแนวทางจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ที่ให้ความสำคัญกับการกำหนดเป้าหมายในการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutral) และการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) โดยเน้นไปที่การผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยจะส่งผลให้โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงถ่านหิน ที่เป็นโรงไฟฟ้าสร้างใหม่ในอนาคตจะไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศนั้น แต่ความจำเป็นที่ต้องมีการอนุมัติให้สร้าง โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9 (MMRP2) ขนาดกำลังการผลิต 600 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ. ) ในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งจะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายที่ภาครัฐยังมีการรับซื้อเข้าระบบ ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ( PDP 2018 Rev.1 ) ที่มีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ ( COD ) ในปี 2569 เนื่องจากเป็นการใช้ทรัพยากรถ่านหินลิกไนต์ที่มีอยู่ในประเทศ ลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ และเป็นการเสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าในภาคเหนือ

ทั้งนี้ปัจจุบัน แม่เมาะมีปริมาณสำรองถ่านหินลิกไนต์ประมาณ 300-400 ล้านตัน และมีการใช้อยู่ที่ 16 ล้านตันต่อปี แต่ในอนาคตหากโรงไฟฟ้าแม่เมาะทยอยหมดอายุลงจะทำให้ปริมาณการใช้ถ่านหินลดลง 50% หลังปี 2570 เป็นต้นไป

- Advertisment -

โดย กฟผ.ได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการดังกล่าว เสร็จเรียบร้อยแล้ว และอยู่ระหว่างนำเสนอสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. และ สํานักงบประมาณ กระทรวงการคลัง เพื่อให้ความเห็นในประเด็นต่างๆ และคาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติแผนการลงทุนได้ภายในปี 2564 นี้

แหล่งข่าวการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ระบุว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ ทดแทนยูนิตที่ 8-9 หรือ Mae Mo Replacement 2 ที่หมดอายุในปี 2563 และจะมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ในพื้นที่เดิม เบื้องต้น คาดว่า จะใช้เงินลงทุนใกล้เคียงกับโครงการแม่เมาะที่สร้างทดแทน ยูนิตที่ 4-7 ขนาด 650 เมกะวัตต์ มูลค่าลงทุน 3.5 หมื่นล้านบาท จะใช้ระยะเวลาก่อสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนประมาณ 3 ปี

โดยกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือในปัจจุบันมีเกินกว่าความต้องการใช้เล็กน้อย จึงสามารถส่งกำลังผลิตที่เหลือไปป้อนความต้องการใช้ในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ แต่ในปี 2570 ที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะ ยูนิตที่ 10-13 จะหมดอายุลงจะทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ภาคเหนือหายไป 1,200 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่ 2,400 เมกะวัตต์ ซึ่งหากไม่มีการสร้างโรงไฟฟ้ามาทดแทนกำลังการผลิตดังกล่าว จะทำให้พื้นที่ภาคเหนือ ก็ต้องเปลี่ยนมารับไฟฟ้าผ่านสายส่งจากภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือไปทดแทนเพื่อเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในพื้นที่

Advertisment