กองทุนน้ำมันติดลบครั้งแรกในรอบ 9 ปีเหตุอุ้มราคาดีเซล และ LPG เกินตัว

1003
N4037
- Advertisment-

กองทุนน้ำมันฯ ติดลบ 1,633 ล้านบาท นับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี เหตุจากรัฐนำเงินไปอุดหนุนราคาLPGและน้ำมันดีเซลที่ทำให้เงินไหลออกเดือนละเกือบ 6,000 ล้านบาท ด้านคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เตรียมเปิดประชุม 22 ธ.ค. 2564 พิจารณามาตรการตรึงราคา LPG ก่อนหมดอายุ 31 ธ.ค. 2564 นี้

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เตรียมประชุมในวันที่ 22 ธ.ค. 2564 นี้ เพื่อพิจารณามาตรการช่วยเหลือราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) สำหรับประชาชน ที่ภาครัฐตรึงราคาจำหนายไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะหมดอายุในวันที่ 31 ธ.ค. 2564 นี้ ดังนั้นที่ประชุม กบง. จะพิจารณาว่าจะต่ออายุมาตรการดังกล่าวต่อหรือไม่ และจะทยอยยกเลิกการตรึงราคา LPG ในปี 2565 หรือไม่

เนื่องจากที่ผ่านมารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เคยระบุว่าจะตรึงราคา LPG ต่อไปถึงเดือน ม.ค. 2565 จากนั้นจะพิจารณาแนวทางทยอยยกเลิกการชดเชยราคา โดยที่ผ่านมากระทรวงพลังงานเคยเสนอ กบง. ให้ทยอยลดการชดเชยราคา LPG ลง ไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัม (จากปัจจุบันชดเชยอยู่ 18.17 บาทต่อกิโลกรัม และส่งผลให้ราคาจำหน่ายยังอยู่ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม) แต่ที่ผ่านมา กบง.ยังไม่เห็นชอบแผนดังกล่าว ดังนั้นในการประชุม กบง.ครั้งนี้ต้องรอดูว่า กบง.จะกลับมาพิจารณาแนวทางดังกล่าวต่อหรือไม่

- Advertisment -

ทั้งนี้หาก กบง.มีมติยกเลิกการชดเชยราคา LPG ทางสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) จะต้องออกประกาศราคาจำหน่าย LPG ในประเทศใหม่ให้ประชาชนได้รับทราบด้วย ซึ่งการยกเลิกการอุดหนุนราคาดังกล่าวมีทั้งข้อดีและข้อเสียที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต้องพิจารณา โดยข้อดีคือ กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะมีเงินเหลือในบัญชีมากขึ้นเพื่อมาดูแลราคาพลังงานอื่นๆได้ในระยะยาว และข้อเสียคือ อาจส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าอาหารปรับสูงขึ้น

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ เกิดภาวะติดลบแล้ว ซึ่งถือเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 9 ปี โดย ณ วันที่ 12 ธ.ค. 2564 กองทุนน้ำมันติดลบอยู่ที่ -1,633 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน 20,198 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบ 21,831 ล้านบาท และในแต่ละเดือนกองทุนฯ มีเงินไหลออกเพื่อชดเชยราคา LPG ถึงเดือนละ 1,687 ล้านบาท และเงินไหลออกเพื่อชดเชยราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันจากพืชพลังงาน 4,276 ล้านบาทต่อเดือน รวมไหลออกประมาณ 6,000 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่เงินไหลเข้ามีเพียง 2,000 ล้านบาทต่อเดือน จากเหตุผลที่ประชาชนกลับมาใช้น้ำมันสำหรับเดินทางมากขึ้น ทำให้กองทุนฯ เก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันได้มากขึ้น แต่ยังไม่เพียงพอต่อรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านกองทุนน้ำมันฯ เชื่อว่า จะดูแลราคาพลังงานได้จนถึงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2565 นี้ จากเงินที่เหลืออยู่ 28,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระหนี้ แต่เตรียมไว้สำหรับชำระหนี้โรงกลั่นน้ำมันหรือเจ้าหนี้รายอื่นๆ จึงสามารถนำมาหมุนเวียนดูแลราคาพลังงานในระหว่างรอเงินกู้ได้ ส่วนเงินกู้ก้อนแรก 20,000 ล้านบาทคาดว่าจะเข้ามาในระบบกองทุนฯได้ในเดือน มิ.ย. 2565 เป็นต้นไป

ส่วนกรณีที่กระทรวงพลังงานได้ขอให้สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ใช้เงินจาก พ.ร.บ.เงินกู้ มาชดเชยราคา LPG แทนกองทุนน้ำมันชั่วคราวนั้น กองทุนฯ ได้ทำเรื่องขอใช้เงินประมาณ 4 เดือน ในวงเงิน 2,000 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าจะได้ในเดือน ม.ค. 2565 นี้ แต่สภาพัฒน์ ต้องการช่วยเหลือเฉพาะภาคครัวเรือน ขณะที่ปัจจุบันไม่มีการแยกกลุ่มผู้ใช้ LPG มานานแล้ว ทำให้กองทุนฯต้องเร่งจัดหาวิธีแยกการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มภาคครัวเรือน เพื่อส่งให้ทางสภาพัฒน์พิจารณา ส่วนกลุ่มขนส่งและอุตสาหกรรมนั้น ทางกองทุนฯจะเข้ามาช่วยเหลือต่อ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันของผู้ใช้ LPG ดังนั้นหาก กบง.มีมติยกเลิกชดเชยราคา LPG ก็ยังมีการช่วยเหลือราคาจากทางสภาพัฒน์ต่อไปได้ ซึ่งเชื่อว่าผู้ใช้ LPG จะไม่ได้รับผลกระทบในระยะแรกของปี 2565 แต่อย่างใด

Advertisment