กรม ธพ. คาดยอดใช้น้ำมันปี 2566 เพิ่มเพียง 1% เนื่องจากท่องเที่ยวฟื้นตัว ขณะประชาชนเริ่มประหยัดการใช้น้ำมันมากขึ้น

1217
- Advertisment-

กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) คาดทั้งปี 2566 ยอดใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มเพียง 1% ในปริมาณ 153.08 ล้านลิตรต่อวัน หลังการท่องเที่ยวฟื้นตัว การเดินทางด้วยเครื่องบินเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันประชาชนได้ตระหนักถึงการประหยัดน้ำมันมากขึ้น ทำให้ยอดใช้น้ำมันไม่พุ่งสูง โดยช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 นี้ จะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวและฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเพิ่มสูงขึ้น 3.10%  ส่วนในรอบ 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2566) ยอดใช้อยู่ที่ 153.54 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.9%  

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เผยว่า คาดการณ์ภาพรวมการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงทั้งปี 2566 จะมีความต้องการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 153.08 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.0% จากปี 2565 ซึ่งการใช้ที่เพิ่มขึ้นหลักๆ มาจากการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 53.6% เนื่องจากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ยุติลง อีกทั้งรัฐบาลได้มีการประกาศใช้นโยบายฟรีวีซ่า ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางด้วยอากาศยานเพิ่มมากขึ้นต่อไป ขณะเดียวกันก็แสดงให้เห็นว่าประชาชนตระหนักถึงการใช้น้ำมันอย่างประหยัดมากขึ้น จึงทำให้สัดส่วนการใช้น้ำมันไม่พุ่งสูงเกินไป

ส่วนความต้องการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไตรมาส 4 ปี 2566 ( ต.ค.- ธ.ค. ) เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2566 ( ก.ค.-ก.ย.) คาดว่าการใช้จะเพิ่มขึ้น  3.10%  เนื่องจากเข้าสู่ฤดูการท่องเที่ยวและฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิต การใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 20.1%  น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 8.2% น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น 3.5%  และกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 0.3% ขณะที่การใช้ LPG ลดลง 9.7% เนื่องจากภาคปิโตรเคมีลดกำลังการผลิต

- Advertisment -

สำหรับการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเฉลี่ย 9 เดือน (ม.ค.- ก.ย. 2566) อยู่ที่ 153.54 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565  โดยการใช้น้ำมันกลุ่มเบนซินเพิ่มขึ้น 4.3% , น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เพิ่มขึ้น 66.5% , การใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) เพิ่มขึ้น 0.5% และ ก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) เพิ่มขึ้น 0.2%  ขณะที่น้ำมันเตาและน้ำมันกลุ่มดีเซลมีการใช้ลดลง 11.4% และ 4.5% ตามลำดับ

โดยการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเดือน ม.ค.-ก.ย. 2566 ของน้ำมันกลุ่มเบนซิน เฉลี่ยอยู่ที่ 31.70 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.3% ส่วนการใช้น้ำมันกลุ่มดีเซลเฉลี่ยอยู่ที่ 69.16 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 4.5%

ด้านการใช้น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ (Jet A1) เฉลี่ยอยู่ที่ 13.22 ล้านลิตรต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 66.5% เนื่องจากการฟื้นตัวด้านการท่องเที่ยวหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วงปี 2565 กลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ ส่งผลให้ปริมาณการใช้น้ำมัน Jet A1 เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งรัฐบาลได้มีการประกาศใช้นโยบายฟรีวีซ่า สำหรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีนและคาซัคสถาน รวมระยะเวลา 5 เดือน ซึ่งคาดการณ์ว่าจะช่วยสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเพิ่มมากขึ้น

ส่วนการใช้ LPG เฉลี่ยอยู่ที่ 18.15 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.5% การใช้ NGV เฉลี่ยอยู่ที่ 3.40 ล้านกิโลกรัมต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.2%

สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง ปริมาณการนำเข้ารวมเฉลี่ยอยู่ที่ 1,043,105 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.8% คิดเป็นมูลค่าการนำเข้ารวม 93,700 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ปริมาณส่งออกรวมอยู่ที่ 167,695 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้น 1.8% คิดเป็นมูลค่าส่งออกรวม 17,310 ล้านบาทต่อเดือน

ส่วนกรณีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 31 ต.ค. 2566 มีมติลดภาษีน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ลง 0.15-1 บาทต่อลิตร ตามสัดส่วนเนื้อน้ำมันเบนซินที่ผสม ซึ่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่ 7 พ.ย. 2566-31 ม.ค. 2567 จะส่งผลให้ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ปรับลดลง โดยเฉพาะน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ที่จะได้ลดราคาถึง 2.50 บาทต่อลิตร เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้าไปร่วมช่วยลดราคาด้วย ดังนั้นคาดว่าจะมีประชาชนหันไปเติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 มากขึ้น แต่กรมฯ ขอแนะนำให้ประชาชนตรวจสอบประเภทเชื้อเพลิงของรถยนต์ตัวเองก่อนว่าสามารถเติมน้ำมันอะไรได้บ้าง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับเครื่องยนต์ ทั้งนี้ กรมฯ จะประเมินยอดการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 อีกครั้งหลังจากเริ่มลดราคาผ่านไปแล้ว 1 สัปดาห์  

อย่างไรก็ตามการปรับลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ดังกล่าว เป็นการปรับลดราคาที่เท่าเทียมกับกรณีการปรับลดราคาดีเซล ที่ ครม. เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2566 มีมติเห็นชอบการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 2.50 บาทต่อลิตร ตามชนิดของน้ำมันดีเซล และกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะเข้าไปชดเชยเพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย. 2566 ถึง 31 ธ.ค. 2566 เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานให้แก่ประชาชนและภาคธุรกิจ ภายใต้สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลโลกที่มีความผันผวนจากความกังวลทางเศรษฐกิจ และความผันผวนของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ

Advertisment