กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ลงนามในสัญญา 7 ฉบับ เดินหน้าการผลิตก๊าซฯแปลง G1/61 และ G2/61

468
- Advertisment-

 วันที่ 20 เมษายน 2565 กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) และ บริษัท ปตท.สผ เอนเนอร์ยี่  ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) ร่วมลงนามในสัญญาซื้อขายปิโตรเลียม และข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐในการประกอบกิจการปิโตรเลียม สำหรับแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ) และหมายเลข G2/61 (แหล่งก๊าซธรรมชาติบงกช) เพื่อเตรียมความพร้อมในการผลิตก๊าซธรรมชาติให้มีความต่อเนื่อง

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ของแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 และ G2/61 นั้น บริษัท ปตท.สผ. อีดี ในฐานะผู้ดำเนินการรายใหม่ของแปลงดังกล่าวจำเป็นต้องทำสัญญาและข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะคู่สัญญา จำนวนทั้งสิ้น 7 ฉบับ ประกอบด้วย สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement) สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate Sales Agreement) สัญญาซื้อขายน้ำมันดิบ (Crude Sales Agreement) และข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐในการประกอบกิจการปิโตรเลียม (Utilization Facilities Agreement) จำนวนรวม 4 ฉบับ สำหรับแปลง G1/61 และสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติ (Gas Sales Agreement) สัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (Condensate Sales Agreement) และข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐในการประกอบกิจการปิโตรเลียม (Utilization Facilities Agreement) จำนวนรวม 3 ฉบับ สำหรับแปลง G2/61

“กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ในฐานะหน่วยงานรัฐที่กำกับดูแลการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศและมีหน้าที่ในการขายหรือจำหน่ายปิโตรเลียมที่ผลิตได้ของประเทศ ได้ดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาต่าง ๆ ตามขั้นตอนของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยในส่วนของสัญญาซื้อขายปิโตรเลียมนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต ในฐานะผู้ขายปิโตรเลียมของแปลงสำรวจดังกล่าวได้หารือและร่วมยกร่างสัญญาซื้อขายร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ซื้อ ซึ่งเป็นสัญญาที่กำหนดสิทธิ หน้าที่ความรับผิดชอบและเงื่อนไขต่าง ๆ ของผู้ซื้อและผู้ขายในการซื้อขายปิโตรเลียม ส่วนข้อตกลงเกี่ยวกับการใช้สิ่งติดตั้งของรัฐ    ในการประกอบกิจการปิโตรเลียมนั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ และผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตได้หารือและยกร่างข้อตกลงฯ ร่วมกัน ซึ่งมีสาระสำคัญและวัตถุประสงค์เพื่อให้สิทธิแก่ผู้รับสัญญาในการใช้ประโยชน์  สิ่งติดตั้งสำหรับประกอบกิจการปิโตรเลียมที่รัฐได้รับมอบมาจากผู้รับสัมปทาน โดยผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต มีหน้าที่บำรุงรักษา ต่อเติม ซ่อมแซม และเอาประกันภัยสิ่งติดตั้ง รวมถึงมีหน้าที่ในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ ร่างสัญญาและข้อตกลงดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว ซึ่งการลงนามในวันนี้จะมีส่วนทำให้การดำเนินงานตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตในทั้ง 2 แปลงดังกล่าว เดินหน้าต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหลังจากนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะได้ติดตาม ตรวจสอบ และกำกับดูแลการดำเนินงานตามสัญญาแบ่งปันผลผลิตของบริษัทฯ อย่างเคร่งครัด เพื่อประโยชน์ต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และความเป็นอยู่ของประชาชนเป็นสำคัญ” อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติกล่าว   

- Advertisment -
Advertisment