กฟผ.เสนอใช้น้ำมันปาล์มดิบผลิตไฟฟ้า ล็อตใหม่อีก1แสนตัน

1158
- Advertisment-

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)เตรียมส่งแผนใช้น้ำมันปาล์มดิบเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าบางปะกงล็อตใหม่อีก 1 แสนตัน ให้กระทรวงพลังงาน พิจารณา คาดใช้งบน้อยลง เพราะจะรับซื้อตามราคาตลาดที่แท้จริง 

นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ในฐานะโฆษก กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ.เตรียมเสนอแผนดูดซับน้ำมันปาล์มดิบ(CPO) อีก 1 แสนตัน ให้กระทรวงพลังงาน พิจารณาในเร็วๆนี้ โดยการดูดซับ CPO ดังกล่าว จะใช้แนวทางเดิมคือ นำไปป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าร่วมกับก๊าซธรรมชาติในโรงไฟฟ้าบางปะกง แต่ราคารับซื้อ CPO จากเกษตรกรในรอบใหม่นี้ จะเป็นราคาที่สะท้อนการซื้อขายในตลาด ณ ขณะนั้น ซึ่งจะแตกต่างจากมาตรการในล็อตแรก ที่ กฟผ.ได้รับมอบหมายจากภาครัฐให้ซื้อCPO ปริมาณ 1.6 แสนตัน ในราคา 18 บาทต่อกิโลกรัม โดยหากภาครัฐเห็นชอบแนวทางดังกล่าว กฟผ.ก็พร้อมดำเนินการซื้อ CPO ในทันที และนำไปจัดเก็บที่คลังสุราษฎ์ธานี

ส่วนราคารับซื้อ CPO ล็อตใหม่ 1 แสนตันนั้น แม้ว่าจะเป็นราคาตลาด แต่ก็เชื่อว่าจะเป็นการชี้นำให้ราคาปาล์มในอนาคตปรับสูงขึ้นได้ เพราะ กฟผ.จะใช้แนวทางจัดซื้อล็อตใหญ่ เพื่อเป็นการกระตุ้นราคา เช่นเดียวกับการซื้อ CPO เที่ยวเดียว 66,000 ตัน เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา และส่งผลให้ราคาผลปาล์มดิบในสัปดาห์นี้ขึ้นไปแตะ 2.40-2.50 บาทต่อโลกรัม จากสัปดาห์ก่อนที่ต่ำกว่า 2 บาทต่อกิโลกรัม

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของงบประมาณที่จะใช้ดำเนินการในการเข้าซื้อ CPO ล็อตใหม่ 1 แสนตันนั้น คาดว่าจะใช้เงินน้อยกว่า การจัดซื้อในรอบที่ผ่านมา เนื่องจากมีปริมาณน้อยกว่าและราคารับซื้อปาล์มดิบไม่ได้ถูกกำหนดไว้ที่ 18 บาทต่อกิโลกรัม โดยงบประมาณในการจัดซื้อนั้น จะเป็นตามรูปแบบเดิม คือ ส่วนต่างต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รัฐบาลจะใช้งบประมาณกลาง ที่เป็นงบส่งเสริมการส่งออกปาล์มน้ำมัน ชดเชยเงินให้กับ กฟผ. ส่วนหนึ่ง และอีกส่วน กฟผ.จะไปทำความตกลงกับสำนักงบประมาณเพื่อให้ใช้ในรูปแบบรายจ่ายเพื่อสังคมของ กฟผ. มาดำเนินการ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center -ENC ) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มอบหมายให้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ กฟผ. ไปพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ในการดูดซับ CPO อีก 1 แสนตัน ตามมติคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ(กนป.) มานำเสนอในเร็วๆนี้ เพื่อแก้ไขปัญหาสต็อก CPO ปีนี้ ที่คาดว่าจะอยู่ที่ 3 ล้านตัน ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดย ปตท.อาจจะพิจารณาการส่งออกในรูปของ บี100 และ กฟผ.อาจดูถึงความสามารถในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม เป็นต้น

Advertisment