กบง.นัดประชุมพิจารณา 2 ทางเลือก โครงสร้างกิจการก๊าซ 21 ก.ย.นี้

904
- Advertisment-

กบง.นัดประชุมพิจารณานโยบายที่เกี่ยวกับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ วันที่ 21 ก.ย.นี้ โดย มีการนำเสนอ 2 แนวทาง ทั้งให้ ปตท.ยังเป็นผู้รับซื้อเพียงรายเดียว ( Enhanced Single Buyer (ESB) และอีกแนวทาง ให้เอกชนที่ได้ใบอนุญาตเป็น shipper นำเข้า LNG ป้อนลูกค้าได้อย่างเสรี แต่ต้องไม่กระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงาน และต้นทุนค่าไฟฟ้ากับประชาชน วงในระบุ หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง ราช กรุ๊ป และ กัลฟ์ฯ มีโอกาสสูงได้นำเข้า LNG ป้อนโรงไฟฟ้า 1,400 เมกะวัตต์

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) วันที่ 21 ก.ย. 2563 ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งเป็นการประชุมนัดแรกหลังเข้ารับตำแหน่ง จะมีการพิจารณาวาระสำคัญ คือ นโยบายโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ว่าจะมีการเปิดเสรีในลักษณะใด ที่เป็นผลสืบเนื่อง จากมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 19 มี.ค.2563 ในช่วงที่นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ให้มีการทบทวนนโยบายการเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติระยะที่ 2 และมอบหมายให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปทบทวนแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน และนำกลับมาเสนอ กพช.พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการนำเสนอให้ กบง.พิจารณาใน 2 แนวทางหลัก  คือ แนวทางที่ 1 โครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ ที่ให้ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ยังเป็นผู้รับซื้อก๊าซเพียงรายเดียวเพื่อนำเข้าระบบท่อส่งก๊าซหรือรูปแบบ Enhanced Single Buyer (ESB)

- Advertisment -

และแนวทางที่ 2 คือการเปิดเสรีให้ ผู้ที่ได้รับใบอนุญาต เป็น Shipper จาก กกพ. สามารถนำเข้า LNG ให้กับโรงไฟฟ้าที่เป็นลูกค้าได้อย่างเสรี แต่ต้องไม่กระทบกับความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงที่ยังไม่ได้มีสัญญาซื้อขายก๊าซกับปตท. เช่น กรณีบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด (HKH) ที่เป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ที่ถือหุ้น 51% และ กัลฟ์ฯ ถือหุ้น 49% ซึ่งได้รับใบอนุญาต เป็น Shipper แล้ว และมีแผนจะนำเข้า LNG ปริมาณ 1.4 ล้านตันต่อปี เพื่อเป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าหินกอง จ.ราชบุรี กำลังผลิตไฟฟ้ารวม 1,400 เมกะวัตต์ นั้น จะต้อง พิจารณาประเด็นที่จะต้องมารับความเสี่ยงในกรณีที่การจัดหาก๊าซมีราคาเฉลี่ยสูงกว่าราคาพูล ที่ปตท.เป็นผู้จัดหาอยู่เดิม รวมทั้ง ประเด็นการลดราคาค่าไฟฟ้าให้กับ กฟผ. ด้วย

Advertisment