Waste Side Story Camp ครั้งที่ 2 ย้ำจัดการขยะด้วยการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า แก้ปัญหาขยะล้นเมือง

1406
- Advertisment-

Waste Side Story Camp ครั้งที่ 2 ชวนสื่อมวลชนท้องถิ่นภาคเหนือตอนกลาง ร่วมขับเคลื่อนแนวทางการแก้ปัญหาขยะล้นเมืองด้วยการเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า พร้อมเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าจากขยะ RDF หวังสื่อมวลชนท้องถิ่นเกิดความตระหนักรู้และส่งต่อข้อมูลที่ถูกต้องในเรื่องการคัดแยกและประโยชน์ของการจัดการขยะด้วยการผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าสู่ชุมชนและสาธารณะ ด้านผู้แทนสำนักงาน กกพ. พิษณุโลก ชี้การคัดแยกขยะที่ต้นทางเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการขยะเพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้า ระบุปัจจุบันนำร่องส่งเสริมการคัดแยกขยะแล้ว 3 ตำบล  

นายเรืองชัย สงสำเภา ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 2 (พิษณุโลก) เป็นประธานเปิดโครงการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของเครือข่ายสื่อมวลชนท้องถิ่นต่อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ (Waste Side Story) ครั้งที่ 2 จัดโดย ศูนย์ข่าวพลังาน (Energy News Center) ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนไฟฟ้า สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน พ.ศ. 2562  โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-26 กุมภาพันธ์ 2563 ที่จังหวัดพิษณุโลก และมีสื่อมวลชนจากจังหวัดภาคเหนือตอนกลาง ได้แก่ พิษณุโลก กำแพงเพชร และตาก รวม 60 คน โดยนายเรืองชัยยังได้บรรยายให้ผู้เข้าร่วมประชุมรับฟัง ในหัวข้อ “พลังงานไฟฟ้าจากขยะและชุมชน” เพื่อชี้ให้เห็นว่าสามารถบริหารจัดการขยะและสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขยะด้วยการคัดแยกตั้งแต่ครัวเรือน ชุมชน เทศบาล และใช้เทคโนโลยีเปลี่ยนขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า พร้อมยกตัวอย่างประเทศญี่ปุ่นที่ขยะถูกคัดแยกจากบ้านนำมาทิ้งในบ่อเตรียมเข้าเตาเผา นอกจากจะกำจัดขยะด้วยการเผาแล้วยังมีผลพลอยได้เป็นพลังงานไฟฟ้า

นายเรืองชัย สงสำเภา ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 2 (พิษณุโลก) กล่าวเปิดโครงการและบรรยายหัวข้อ “พลังงานไฟฟ้าจากขยะและชุมชน”
นายเรืองชัย สงสำเภา ผู้อำนวยการฝ่ายสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานประจำเขต 2 (พิษณุโลก) และวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งสื่อมวลชนท้องถิ่นภาคเหนือตอนกลาง (พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก) ร่วมกิจกรรม Waste Side Story Camp ครั้งที่ 2

แยกขยะ ผลิตไฟฟ้า แก้ปัญหาขยะล้นเมือง

นายเรืองชัย กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์ขยะในพื้นที่ภาคเหนือตอนกลาง โดยเฉพาะจังหวัดพิษณุโลก มีขยะจำนวนมากที่รอการกำจัด ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า เขตเทศบาลเมืองพิษณุโลกมีปริมาณขยะต่อวันถึง 140 ตัน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ (Recycle) เพียง 40 ตัน ยังเหลือที่ต้องจัดการอีกราว 100 ตัน โดยขยะนำไปฝังกลบ (Landfill) ที่ อ.บางระกำ แต่ขณะนี้หลุมฝังกลบเต็มแล้ว จำเป็นต้องหาแนวทางกำจัดขยะที่เหมาะสม เช่น การเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยการคัดแยกขยะที่ต้นทางเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการขยะเพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยในส่วนของจังหวัดพิษณุโลก มีการส่งเสริมและฝึกอบรมการคัดแยกขยะในระดับชุมชนแล้วเบื้องต้นใน 3 ตำบล เพื่อการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและชุมชนสามารถมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากการขายขยะให้แก่โรงไฟฟ้าจากขยะชุมชน

- Advertisment -

“การก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่พิษณุโลกมีความเป็นไปได้ เพราะมีปริมาณขยะที่เหลือต้องกำจัดจำนวนมาก แต่ต้องเตรียมพื้นที่ที่เหมาะสม โดยปัจจุบันภาครัฐพยายามดึงภาคเอกชนให้เข้ามาลงทุน แต่ส่วนตัวมองว่าภาครัฐ เช่น เทศบาล อบต. ควรเป็นหน่วยงานหลักในการจัดการขยะ ขณะที่เอกชนเข้ามาร่วมบริหารจัดการเชื้อเพลิง และควรใช้พื้นที่ของรัฐตั้งโรงไฟฟ้าจากขยะแทนพื้นที่เอกชน เพราะหากมีปัญหา รัฐจะสั่งปิดได้ทันที” นายเรืองชัยกล่าว

ทั้งนี้ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561-2580 หรือ PDP2018 รัฐบาลมีเป้าหมายการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะชุมชนเพิ่มขึ้นเป็น 900 เมกะวัตต์ จากแผนเดิม PDP2015 ที่รับซื้อ 500 เมกะวัตต์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องก่อนออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากขยะต่อไป

นอกจากการรับฟังข้อมูลจากการบรรยายแล้ว ผู้เข้าร่วมในการประชุมเชิงปฏิบัติการ หรือ Waste Side Story Camp ครั้งที่ 2 นี้ ยังได้มีโอกาสเดินทางไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงขยะอัดแท่ง (Refuse Derived Fuel : RDF) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ณ บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร

สื่อมวลชนท้องถิ่น ลงพื้นที่เก็บข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ RDF ณ บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จ.พิจิตร

โรงไฟฟ้าขยะ RDF หนุนแยกขยะขายสร้างรายได้ให้ชุมชน

นายศุภวัฒน์ คุณวรวินิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด กล่าวว่า โรงไฟฟ้าเอวาฯ ใช้วัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรม 6 ประเภท ได้แก่ เศษกระดาษ เศษไม้ เศษผ้า เศษพลาสติก เศษหนัง เศษยาง (ยกเว้นเศษยางรถยนต์) ที่ผ่านการแปรรูปเป็นเชื้อเพลิง RDF แล้ว มาผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้า โดยมีกำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์ และใช้งบลงทุนรวม 800 – 900 ล้านบาท พร้อมกับให้ข้อมูลว่า การผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิง RDF แตกต่างจากเชื้อเพลิงขยะชุมชน เพราะเป็นวัสดุเหลือใช้จากโรงงานอุตสาหกรรมที่ยังไม่ผ่านการใช้งาน จึงไม่มีปัญหาเรื่องกลิ่นเหม็น ไม่มีสารประกอบจากวัตถุอันตราย และมีค่าความร้อนสูงที่นำไปผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้ โดยค่าความร้อนของ RDF จะอยู่ที่ 3,500 – 5,000 กิโลแคลอรี่ต่อกิโลกรัม ปัจจุบันมีเชื้อเพลิง RDF ส่งเข้ามาที่โรงไฟฟ้าวันละ 100 ก้อน หรือ 100 ตัน (RDF ก้อนละ 1 ตัน) เมื่อเข้าสู่กระบวนการเผาแล้วจะมีของเสียที่เกิดจากการเผาไหม้คือขี้เถ้าเพียง 10 ตัน หรือประมาณ 10% ของเชื้อเพลิงทั้งหมด ซึ่งถูกส่งไปกำจัดที่ศูนย์กำจัดกากอุตสาหกรรมภายนอกนิคมฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชน

นายศุภวัฒน์ คุณวรวินิจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิง RDF ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ต.หนองหลุม อ.วชิรบารมี จ.พิจิตร

นอกจากนี้ ยังใช้เทคโนโลยีการจัดการคุณภาพน้ำและอากาศ โดยเตาเผา RDF จะควบคุมอุณหภูมิความร้อนสูงถึง 850 – 1,000 องศาฯ เพื่อให้เกิดการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ ลดปัญหาเรื่องควัน และลดการปลดปล่อยสารที่ก่อมะเร็ง และจะหยุดซ่อมบำรุงเตาเผาปีละ 3 ครั้ง เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพ ส่วนแก๊สร้อนที่ได้จากการเผาไหม้จะนำไปใช้ต้มน้ำประปาสะอาดที่ผ่านระบบกรองสิ่งสกปรกและแร่ธาตุต่าง ๆ ไม่ให้มีตะกรันหลุดเข้าไปสู่ระบบผลิตกระแสไฟฟ้า ขณะเดียวกันยังควบคุมการปล่อยมลพิษไม่ให้เกินที่กฎหมายกำหนด โดยติดตั้งเครื่องตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบต่อเนื่อง (CEM) บริเวณปลายปล่องหม้อไอน้ำ ซึ่งจะแสดงผลไปที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และป้ายแสดงค่าการตรวจวัดคุณภาพอากาศที่บริเวณหน้าโรงไฟฟ้า

ทั้งนี้ นายศุภวัฒน์ ยอมรับว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้โรงไฟฟ้าขยะชุมชนหลายแห่งไม่ประสบความสำเร็จ เพราะปัญหาการไม่คัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ทำให้ขยะที่นำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ปนไปกับขยะมูลฝอย ซึ่งโรงไฟฟ้าเอวาฯ จะเป็นต้นแบบให้ชุมชนได้เห็นว่าหากมีการแยกประเภทของขยะแล้ว จะสามารถเปลี่ยนขยะเป็นเงินได้จากการขายเพื่อรีไซเคิล หรือขายเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า สำหรับพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้น บริษัทฯจะขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จำนวน 3 เมกะวัตต์ ในราคา 5 บาทต่อหน่วย ส่วนที่เหลืออีก 1 เมกะวัตต์ จะใช้ภายในโรงไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าเอวาฯ เปิดให้สื่อมวลชนท้องถิ่น เข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ RDF

“ชุมชนจะได้รับประโยชน์ 4 ทางจากการสร้างโรงไฟฟ้า RDF คือเงินจากกองทุนรอบโรงไฟฟ้าเพื่อนำไปพัฒนาท้องถิ่นในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งบริษัทฯ จ่ายสมบทอยู่ปีละ 400,00 บาท และยังเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจชุมชนจากการจ้างงานคนในพื้นที่ 80% รวมทั้งเงินภาษีโรงเรือน ภาษีป้าย และภาษีที่ดิน ที่จ่ายให้แก่ อบต. และท้องถิ่น นำไปใช้ในการพัฒนาชุมชน และบริษัทยังตั้งใจที่จะให้โรงไฟฟ้าแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่เยาวชนและชุมชน โดยจะเน้นการบริหารจัดการขยะ และมองว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ไทยจะเจอวิกฤตปัญหาขยะหากไม่เร่งบริหารจัดการ เพราะบ่อขยะหรือหลุมฝังกลบเริ่มเต็มแล้ว“ นายศุภวัฒน์ กล่าว

ปัจจุบันในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงาน กกพ. ประจำเขต 2 (พิษณุโลก) มีผู้ได้รับอนุญาตผลิตไฟฟ้าจากขยะ จำนวน 4 ราย รวมกำลังการผลิต 16.90 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 2 ราย ได้แก่ บริษัท ซุปเปอร์ เอิร์ธ เอนเนอร์ยี่ 6 จำกัด จังหวัดพิจิตร กำลังผลิต 9.90 เมกะวัตต์ และบริษัท โรงไฟฟ้าแม่สอด จำกัด จังหวัดตาก กำลังผลิต 1 เมกะวัตต์ ส่วนอีก 2 ราย เป็นโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรม ได้แก่ บริษัท ศแบงยั่งยืน พิจิตร จำกัด จังหวัดพิจิตร 2 เมกะวัตต์ และบริษัท เอวา แกรนด์ เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด จังหวัดพิจิตร 4 เมกะวัตต์

สื่อสารเรื่องพลังงานไฟฟ้าจากขยะอย่างเข้าใจ

สำหรับกิจกรรม Waste Side Story Camp ครั้งที่ 2 นอกจากการรับฟังข้อมูลและเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าจากขยะแล้ว ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิด้านสื่อสารมวลชน ด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม และวิทยากรด้านการมีส่วนร่วม เข้าร่วมแลกเปลี่ยน เรียนรู้กับผู้เข้าร่วมประชุม โดย นายวัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) ได้แชร์ประสบการณ์ศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังงานขยะที่เมืองบิลเบา ประเทศสเปน ซึ่งเคยมีปัญหาขยะขั้นวิกฤต จนรัฐบาลเมื่อ 20 ปีก่อนตัดสินใจว่าควรมีเทคโนโลยีเข้ามาจัดการขยะโดยเริ่มจากการสร้างความรู้ความเข้าใจในการคัดแยกขยะ และบังคับใช้กฎหมายคัดแยกขยะอย่างจริงจัง พร้อมแบ่งปันมุมมองว่าหากสื่อมวลชนท้องถิ่นมีความรู้ความเข้าใจถึงการเกิดขึ้นของโรงไฟฟ้าขยะ จะสามารถตั้งรับและพิจารณาประเด็นนี้ และสื่อสารข้อมูลที่ถูกต้องอย่างรอบด้านไปยังชุมชนในพื้นที่ของตนได้

นายวัชรพงศ์ ทองรุ่ง บรรณาธิการบริหาร ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) (ซ้าย) และ รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ขวา)

ขณะที่ รศ.ดร.สุระชัย ชูผกา อาจารย์คณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง แชร์เทคนิคการเล่าเรื่อง (Story Telling) อย่างน่าสนใจ เริ่มด้วยการมีชุดข้อมูลความรู้แล้ววางแผนเล่าเรื่องอย่างเป็นขั้นตอน ผนวกกับการใช้จินตนาการสร้างสรรค์เนื้อหา พร้อมแนะสื่อท้องถิ่นไม่ควรยึดติดรูปแบบเดิมในการรายงานข่าว แต่สามารถถ่ายทอดเรื่องเล่าบนพื้นฐานของความเป็นจริงผ่านสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง และมองว่าคนมีแนวโน้มที่จะเชื่อสื่อท้องถิ่นมากขึ้นเพราะสัมผัสกับข้อมูลข้อเท็จจริงในพื้นที่ นอกจากนั้น สื่อมวลชนที่เข้าร่วมประชุม ยังได้ร่วมกันฝึกเทคนิคคิดด้วยภาพ โดย นายวิศรุต เคหะสุวรรณ วิทยากร เจ้าของเพจ คิดด้วยภาพ ซึ่งสอนเทคนิควิธีการเล่าเรื่องผ่านการคิดออกมาเป็นภาพ เพื่อนำไปใช้ผลิตสื่อวิดีโอและสื่อออนไลน์ อย่างมีประสิทธิภาพ

นางสาวสุมนา วิสารทสกุล วิทยากรกระบวนการด้านการมีส่วนร่วม (ซ้าย) และนายวิศรุต เคหะสุวรรณ วิทยากร เจ้าของเพจ คิดด้วยภาพ (ขวา)

หลังจากนั้น นางสาวสุมนา วิสารทสกุล วิทยากรกระบวนการด้านการมีส่วนร่วม แนะนำวิธีคิดและดึงพลังความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของสื่อมวลชนท้องถิ่น ระดมสมองคิดผลิตผลงานสร้างสรรค์เกี่ยวกับการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ซึ่งสื่อมวลชนต่างได้รับความรู้และเทคนิควิธีต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาการนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพ ตรงตามวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ที่ต้องการส่งเสริมให้สื่อมวลชนท้องถิ่นเกิดความตระหนักรู้และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าจากขยะ และมีส่วนร่วมในการขยายผลความรู้และข้อมูลที่ถูกต้องไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นและสาธารณะต่อไป

บรรยากาศสื่อมวลชนท้องถิ่นภาคเหนือตอนกลาง (พิษณุโลก กำแพงเพชร ตาก) ร่วมกิจกรรม Waste Side Story Camp ครั้งที่ 2 จ.พิษณุโลก
Advertisment