EGCO Group โชว์ไฟฟ้าพลังงานลม “Yunlin” ในไต้หวัน ต้นแบบกังหันลมในทะเล

48
- Advertisment-

“ลม” จัดเป็นพลังงานสะอาดที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งกลางวันและกลางคืน แต่ปริมาณการผลิตไฟฟ้าย่อมขึ้นอยู่กับทิศทางลมและเทคโนโลยีกังหันลมเป็นสำคัญ โดยปัจจุบันไทยผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมได้ 1,543.56 เมกะวัตต์ (ข้อมูล ณ เดือน ม.ค.-มี.ค. 2568 จากเว็บไซต์กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ.) และในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของไทย หรือ PDP ฉบับใหม่ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ ได้มีการเปิดเผยเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนรวมทั้งสิ้น 34,851 เมกะวัตต์ ภายในปี ค.ศ. 2080 (พ.ศ. 2623) โดยในส่วนนี้เป็นพลังงานลม  5,345 เมกะวัตต์

ปัจจุบันประเทศไทยมีการติดตั้งกังหันลมในการผลิตไฟฟ้าเฉพาะบนบกและชายฝั่งทะเลเท่านั้น แต่ยังไม่เคยมีการติดตั้งในทะเลมาก่อน เนื่องจากอุปสรรคด้านการติดตั้งและกำลังลมที่ต่ำเพียง 10-20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งยังไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อย่างไรก็ตามในต่างประเทศได้มีการติดตั้งกังหันลมในทะเลจำนวนมาก เช่น สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, เดนมาร์ก, จีน, ไต้หวัน, และนอร์เวย์

ล่าสุด บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group  ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ของไทย ได้นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง “Yunlin” ในไต้หวัน ระหว่างวันที่ 30 มิ.ย. -3 ก.ค. 2568  โดย Yunlin เป็นหนึ่งในโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งที่ใหญ่เป็นอันดับต้น ๆ ในไต้หวัน ดำเนินการโดยบริษัท ยุนเหนิง วินด์ พาวเวอร์ จำกัด (Yunneng Wind Power Co., Ltd.) ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่าง  Skyborn Renewables ถือหุ้น 31.98% , TotalEnergies ถือหุ้น 29.46% , EGCO Group ถือหุ้น 26.56%  และ Sojitz Corporation ถือหุ้น 12%

- Advertisment -

“Yunlin” ประสบความสำเร็จในการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบครบ 80 ต้น เมื่อเดือน ม.ค. 2568 และได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการไฟฟ้า (Electricity Business License – EBL) เพื่อเดินเครื่องเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ รวมกำลังผลิต 640 เมกะวัตต์  เมื่อเดือน มิ.ย. 2568  โดยบริษัท TotalEnergies รับหน้าที่หลักด้านการเดินเครื่องและบำรุงรักษา (Operations and Maintenance – O&M) ในขณะที่บริษัท Skyborn Renewables ดูแลด้านงานบริหารจัดการโครงการ โดยในส่วนของผู้ถือหุ้นอีกสองราย EGCO Group และ Sojitz Corporation มีบทบาทให้การสนับสนุนด้านการดำเนินธุรกิจผลิตไฟฟ้าและการบริหารธุรกิจในไต้หวัน รวมถึงตัดสินใจในการบริหารงานสำคัญต่าง ๆ ของโครงการ

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group กล่าวว่า EGCO Group เริ่มเข้าไปลงทุนในไต้หวันปลายปี 2562 ด้วยการเข้าถือหุ้นใน บริษัท ยุนเหนิง วินด์ พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่ง Yunlin ด้วยเล็งเห็นว่าไต้หวันมีนโยบายส่งเสริมพลังงานสะอาดที่ชัดเจน การตั้งเป้าลดการพึ่งพานิวเคลียร์และถ่านหิน ผลักดันให้พลังงานสะอาดมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการลงทุนพลังงานลมนอกชายฝั่ง โดยเฉพาะบริเวณช่องแคบไต้หวันเป็นตำแหน่งที่มีลมแรงเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก ซึ่งรัฐบาลไต้หวันได้ส่งเสริมการลงทุนแก่นักลงทุนต่างชาติ โดยจัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและเศรษฐกิจสีเขียว

โรงไฟฟ้า Yunlin ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบไต้หวัน ห่างจากชายฝั่งตะวันตกของมณฑลหยุนหลินในไต้หวันเป็นระยะทางประมาณ 8-17 กิโลเมตร ที่ระดับความลึกของน้ำทะเลในช่วง 7-35 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 82 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วยกังหันลม 80 ต้น กำลังผลิตต้นละ 8 เมกะวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งหมด 640 เมกะวัตต์ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะถูกส่งเข้าสู่โครงข่ายไฟฟ้าของไต้หวันผ่านสถานีไฟฟ้าบนฝั่ง 2 แห่ง บริเวณตำบลไถซีและซื่อหู ในมณฑลหยุนหลิน เพื่อขายให้กับ Taiwan Power Company (TPC) ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 20 ปี มีศักยภาพการผลิตไฟฟ้า  2,400 ล้านหน่วยต่อปี ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าให้กับภาคครัวเรือนไต้หวันมากกว่า 600,000 หลังคาเรือน คิดเป็น 90% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าภาคครัวเรือนทั้งหมดของมณฑลหยุนหลิน และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้ประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตาม Yunlin เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งแห่งแรกของ EGCO Group ที่ดำเนินการในไต้หวัน นอกจากช่วยสร้างพลังงานสีเขียวให้กับไต้หวันแล้ว ยังช่วยเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนตามสัดส่วนการถือหุ้นให้ EGCO Group ประมาณ 170 เมกะวัตต์ ในขณะเดียวกัน ยังช่วยสนับสนุนให้ EGCO Group บรรลุเป้าหมายการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเป็น 30% ภายในปี 2573 ด้วย

สำหรับผลการดำเนินงานคาดว่า Yunlin จะสร้างกระแสเงินสดให้ EGCO Group เฉลี่ย 2,000 ล้านบาทต่อปี ในช่วง 5 ปีแรกของการดำเนินโครงการเต็มรูปแบบ ทั้งนี้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2568 ( ม.ค. – พ.ค. 2568) Yunlin มีอัตราการผลิตไฟฟ้า (Capacity Factor) ประมาณ 35% ซึ่ง Capacity Factor เฉลี่ยในระดับที่สูงนี้ ยืนยันศักยภาพของพลังงานลมในพื้นที่ช่องแคบไต้หวันและการสร้างรายได้ในอนาคต

“ความสำเร็จจากการลงทุนใน Yunlin สร้างโอกาสต่อยอดการลงทุนโครงการอื่นๆ ในไต้หวันในอนาคต เนื่องจากYunlin เปิดตลาดการลงทุนให้ EGCO Group ในไต้หวัน ซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพและเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลงทุนพลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียน รัฐบาลไต้หวันรู้จัก EGCO Group ในฐานะนักลงทุนไทยที่มีศักยภาพและมีความมุ่งมั่นในการดำเนินโครงการให้สำเร็จ EGCO Group มีองค์ความรู้และความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งจากโครงการ Yunlin และมีพันธมิตรที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์สูง โดยบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อม และแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ โดยเฉพาะในโครงการพลังงานหมุนเวียนและก๊าซธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง หากพิจารณาแล้วเห็นว่ามีความเหมาะสม ก็จะใช้องค์ความรู้ที่ได้จากโครงการนี้เป็นปัจจัยพื้นฐานในการร่วมพิจารณาต่อไป” ดร.จิราพร กล่าว

อย่างไรก็ตามการติดตั้งกังหันลมในทะเลก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะโครงการ Yunlin ต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และข้อจำกัดด้านเทคนิคในการติดตั้ง นอกจากนี้พื้นที่ติดตั้งกังหันลมยังตั้งอยู่ในบริเวณน้ำตื้น โดยมีความลึกตั้งแต่ระดับ 8 ถึง 32 เมตร พร้อมทั้งกระแสน้ำที่ขึ้นลงรุนแรง ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อการกัดเซาะฐานรากและจำกัดการเข้าถึงของเรือติดตั้ง รวมทั้งพื้นที่โครงการตั้งอยู่บริเวณช่องแคบไต้หวันที่มีสภาพคลื่นลมรุนแรง สภาพแวดล้อมดังกล่าวส่งผลให้การดำเนินงานติดตั้งอุปกรณ์กังหันลมนอกชายฝั่งมีความท้าทายเป็นอย่างมาก

โดยทีมงานต้องวางแผนด้วยมาตรการเชิงรุกและการบริหารจัดการที่แม่นยำ ทั้งสร้างความร่วมมือกับผู้รับเหมาระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เพื่อปฏิบัติงานในพื้นที่ทะเลที่มีสภาพแวดล้อมซับซ้อน พร้อมทั้งเตรียมพื้นทะเลอย่างรัดกุม เพื่อป้องกันการกัดเซาะและเสริมความมั่นคงให้กับโครงสร้างฐานราก และบริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยระหว่างช่วงดำเนินการติดตั้ง ทีมงานสามารถควบคุมการดำเนินงานของเรือปฏิบัติการได้มากกว่า 30 ลำ ภายใต้แผนงานก่อสร้างนอกชายฝั่ง ซึ่งถือเป็นความสำเร็จด้านการจัดการในโครงการระดับเมกะโปรเจกต์

ความสำเร็จในการติดตั้งกังหันลมผลิตไฟฟ้าในโครงการ Yunlin นี้ นอกจากจะช่วยให้เกิดการผลิตไฟฟ้าป้อนความต้องการใช้ของประชาชนไต้หวันได้แล้ว ยังช่วยให้เกิดการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทนเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมและกังหันลมยังทำให้บรรยากาศและธรรมชาติโดยรวมสวยงามมากขึ้น ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางที่ไทยสามารถศึกษาเพื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทยได้หากในอนาคตไทยต้องการผลิตไฟฟ้าจากกังหันลมในทะเลเช่นเดียวกับไต้หวัน  

Advertisment