- Advertisment-

เมื่อเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของทุกคน และในทุกอุตสาหกรรม แม้กระทั่งการพัฒนาศักยภาพด้านพลังงาน ไทยจึงต้องพร้อมปรับเปลี่ยนโดยนำเทคโนโลยีมาวางระบบการทำงาน และยกระดับประสิทธิภาพการทำงาน ช่วยแก้ไขจุดอ่อน และเพิ่มจุดแข็งเพื่อทำให้การบริหารจัดการการผลิต และการบริการมีเสถียรภาพ มั่นคง และยั่งยืน

นี่จึงเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ กฟผ. เดินหน้าขับเคลื่อนสู่โรงไฟฟ้าดิจิทัล โดยการนำ “ระบบเดินเครื่องและบำรุงรักษาระยะไกล” หรือ Remote Operations For Power Generation มาสนับสนุนการดำเนินงานเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้

ข้อมูลจาก ชวลิต กันคำ หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านดิจิทัลและนวัตกรรม กฟผ. ชี้ให้เห็นถึงแนวทางการยกระดับโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ทั่วประเทศ เพื่อก้าวไปตามเส้นทางสู่ความเป็น “โรงไฟฟ้าดิจิทัล” โดยมีการรวมศูนย์การเดินเครื่องและบำรุงรักษาระยะไกล ทำให้ข้อมูลเชื่อมถึงกันทั้งหมด และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ กฟผ. สามารถเข้าถึงแพลตฟอร์มกลไกการทำงานของโรงไฟฟ้าทั่วประเทศได้ ทำให้สามารถควบคุมระบบการเดินเครื่องจากระยะไกล หรือ RCS (Remote Control System) ได้อย่างสะดวก และสามารถควบคุมจากจุดไหนหรือภาคไหนก็ได้ตามที่กำหนดไว้ และช่วยในการตรวจสอบบำรุงรักษา หรือ MSS (Maintenance Support System) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะระบบรวมศูนย์นี้จะมุ่งเน้นเรื่องการจัดเก็บข้อมูลในรูปแบบเดียวกัน รอบเวลาเดียวกัน ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ในการแก้ไขปัญหาและการวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ได้ง่ายและสะดวกขึ้น

- Advertisment -
ชวลิต กันคำ หัวหน้าคณะทำงานขับเคลื่อนกลยุทธ์ด้านดิจิทัลและนวัตกรรม กฟผ.

การรวมศูนย์การเดินเครื่องและบำรุงรักษาระยะไกลนี้ เป็นส่วนหนึ่งในระบบ RE Centralized Monitoring and Control ตามแนวทางการพัฒนาโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ไปสู่การเป็นโรงไฟฟ้าดิจิทัล (RE Digital Power Plant Roadmap) นั่นเอง

กฟผ. ได้ติดตั้งและทดสอบใช้งานระบบดังกล่าวบางส่วนที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดกลางและโรงไฟฟ้าท้ายเขื่อนชลประทานในภาคกลางก่อน คือโรงไฟฟ้าเขื่อนท่าทุ่งนา  โรงไฟฟ้าเขื่อนแม่กลอง โรงไฟฟ้าเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์  โรงไฟฟ้าเขื่อนขุนด่านปราการชล และโรงไฟฟ้าเขื่อนแก่งกระจาน และเมื่อสามารถใช้งานได้ตามที่ต้องการ จึงขยายไปยังโรงไฟฟ้าอื่นๆ ในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อไป

เมื่อนำระบบการรวมศูนย์มาใช้ สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ข้อมูลจะไปถึงผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่จำกัดการเข้าถึงอยู่เฉพาะคนของโรงไฟฟ้านั้น ๆ เหมือนเดิม ระบบใหม่นี้จึงช่วยสนับสนุนการทำงานได้รวดเร็วและสามารถวิเคราะห์สถานการณ์หรือปัญหาได้แม่นยำมากยิ่งขึ้น เพราะมีการนำเทคโนโลยี Machine Learning หรือ AI (Artificial Intelligence) มาใช้ในการพัฒนาระบบสนับสนุนงานบำรุงรักษาได้อย่างไม่จำกัดในอนาคต จึงควบคุมการทำงานภาพรวม สั่งการเดินเครื่อง มีระบบติดตามตรวจสอบกระบวนการทำงานทุกจุด และคอยเตือนหากมีการทำงานผิดปกติ หรือ มีข้อขัดข้อง โดยพนักงานมีหน้าที่หลักคือ ติดตามตรวจสอบระบบตามขั้นตอนที่ได้ออกแบบไว้  ซึ่งถือเป็นการแก้ไขปัญหาการเดินเครื่องด้วยคน ที่อาจจะมีความผิดพลาดได้จาก human error อย่างไรก็ตาม การนำเทคโนโลยี AI มาทดแทนการทำงานของคนในระบบนี้  ไม่ได้มุ่งเน้นลดจำนวนคน แต่จะมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของคนให้ก้าวไปสู่การทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ส่วนคนนั้น ก็ยกระดับทักษะ มุ่งไปทำหน้าที่ควบคุมเทคโนโลยี และในบางจุดที่คนยังทำได้ดีกว่า

ทั้งนี้ กลยุทธ์ภายใต้โรดแมปการพัฒนาสู่โรงไฟฟ้าดิจิทัล (Digital Power Plant) โดยการนำเทคโนโลยีมาช่วยดำเนินการรักษาสมรรถนะการเดินเครื่องในโรงไฟฟ้า เพื่อช่วยลดความเสียหายใหญ่ในอุปกรณ์ นี้ กำหนด ไว้ 4 ระยะ ซึ่งเริ่มดำเนินการมาแล้ว 3 ปี 3 ระยะ

เริ่มต้นจาก ระยะแรก ปี 2019 ได้ทยอยเชี่อมต่อแหล่งผลิตพลังงานทั้งหมดที่มีอยู่ทั้ง 3 กลุ่ม คือ กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ 6 ฝ่าย กลุ่มโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็กและโรงไฟฟ้าท้ายเขื่อนชลประทานทั้งโซนภาคกลาง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคใต้และกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เพื่อแสดงผลข้อมูลจากโรงไฟฟ้าต่าง ๆ ได้ตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง (Real time)

ระยะที่สอง ปี 2020 ปีที่ผ่านมา กฟผ. เริ่มรวมศูนย์ข้อมูลต่าง ๆ ที่เชื่อมต่อกันมาแสดงผลและควบคุมระยะไกล (RE Centralized Monitoring and Control) โดยเริ่มนำร่องรวมศูนย์การควบคุมและบำรุงรักษาระยะไกลเข้ามาใช้งาน ติดตามสมรรถนะของโรงไฟฟ้า (Performance Monitoring)

ระยะที่สาม ปี 2021 ในปีนี้เริ่มก้าวเข้าสู่ความเป็นโรงไฟฟ้าดิจิทัล มีการนำข้อมูลมาใช้ประโยชน์ ทั้ง Machine Learning และ AI มาช่วยวิเคราะห์และประเมินผลตรวจสอบความเสียหายล่วงหน้า สามารถแจ้งเตือนเมื่อข้อมูลเริ่มเบี่ยงเบนไปจากค่าปกติก่อนจะเสียหาย จึงเข้าไปบำรุงรักษาได้ทันเวลา

ระยะสุดท้าย ปี 2022 ในปีหน้า ถือเป็นปีเข้าสู่ดิจิทัลโดยสมบูรณ์ โดยจะนำเทคโนโลยี AI มาพัฒนาจนสามารถดำเนินการเข้าสู่ระบบการทำงานได้อย่างอัตโนมัติ (Self-Optimizing) รวมถึงการนำเทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ Digital Twin, 3D Plant, AR/VR, Image/Sound Processing และระบบ Analytics ต่าง ๆ มาช่วยในการทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

สำหรับแนวทางการขับเคลื่อนสู่ “RE Digital Power Plant Roadmap” ตามแผนต้องให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน กฟผ. มีภารกิจบริหารจัดการร่วมกัน โดยแบ่งหน้าที่การพัฒนาแผนนำร่อง เป็น Pilot Plan เพื่อศึกษา ทดสอบระบบ โดยวางแผนให้เขื่อนรัชชประภา พัฒนาระบบเฝ้าระวังผลการดำเนินงาน (Performance Monitoring) เขื่อนศรีนครินทร์ พัฒนาระบบรวมศูนย์การเดินเครื่องและบำรุงรักษาระยะไกล เขื่อนวชิราลงกรณพัฒนาระบบบำรุงรักษา (Predictive Maintenance) เขื่อนสิริกิติ์พัฒนา AI เขื่อนภูมิพลพัฒนาด้านกลไกหุ่นยนต์ (Robotics) ในขณะที่กองจัดการทรัพยากรน้ำพัฒนาระบบบริหารจัดการน้ำ และโรงไฟฟ้าพลังน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รับผิดชอบการพัฒนา RE Management Platform

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในการก้าวไปสู่ความเป็น “โรงไฟฟ้าดิจิทัล” ที่ยังมีข้อจำกัดด้านความเสถียรของโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะการติดตั้งระบบในโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กที่ยังไม่มีความเสถียรเพียงพอเนื่องจากคุณภาพของอุปกรณ์ ขณะเดียวกัน โรงไฟฟ้าที่ก่อสร้างมาในยุคเดิม ไม่ได้ถูกออกแบบให้สามารถควบคุมในระยะไกล จึงมีข้อจำกัดด้านสัญญาณการควบคุมและวิเคราะห์ยังไม่ครบถ้วน และสุดท้ายคือ ระบบสื่อสารจากโรงไฟฟ้าในบางพื้นที่สัญญาณค่อนข้างติดขัดในการแสดงผล

นี่คือสิ่งที่ต้องแก้ไขปรับปรุงให้โรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิม ยกระดับสู่ความเป็นยุคดิจิทัลให้ได้

การก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล สำหรับโรงไฟฟ้า แม้จะมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องพัฒนาควบคู่กันไปด้วยก็คือการพัฒนาทักษะของคน ให้มีองค์ความรู้ พร้อมเปิดใจ เรียนรู้ก้าวให้ทันเทคโนโลยี จึงมีการพัฒนางานวิจัยโดยวางแผนให้โรงไฟฟ้าเขื่อนท่าทุ่งนา เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นกระบะทราย (RE Digital Plant Sandbox) เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลต่าง ๆ มาให้ผู้ปฏิบัติงานทดลองใช้ มีผู้รู้เป็นที่ปรึกษา มีการนำ AR/VR มาใช้งานในโลกเสมือน เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมการผลิตใหม่ ๆ ขึ้นมาโดยอัตโนมัติ โดยคาดหวังไว้ว่า จะสามารถพัฒนาจนเป็นผลิตภัณฑ์ที่สร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต

เทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการวางระบบเดินเครื่องและบำรุงรักษาระยะไกล ไม่เพียงทำให้โรงไฟฟ้าแบบดั้งเดิมก้าวไปสู่โรงไฟฟ้าดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ แต่จะส่งผลไปถึงการพัฒนากระบวนการทำงานที่สะดวก รวดเร็ว ลดระยะเวลาและต้นทุน รวมไปถึงยังเป็นการผลิต สร้างศักยภาพและความมั่นคงด้านพลังงานของไทยในอนาคตให้ยั่งยืนต่อไป

Advertisment

- Advertisment -.