7 งานด่วนค้างท่อรอ “สุพัฒนพงษ์” รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่มาสะสาง

- Advertisment-

“สุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์” รัฐมนตรีพลังงานคนที่ 14 มีอย่างน้อย 7 งานด่วนค้างท่อที่รอสะสาง ทั้ง  โครงการโรงไฟฟ้าชุมชน  โครงการขอรับจัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์ฯ ปี 2563 ,แต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูง, การเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่  ,การเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ 400 เมกะวัตต์ การเปิดเสรีนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลวหรือLNG และ Blockchain ปาล์มน้ำมัน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ อดีตซีอีโอ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล หรือจีซี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท. และเป็นหนึ่งในทีมที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา  ผู้ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม2563 ให้ เป็นรองนายกรัฐมนตรีควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ แทนนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งลาออกจากตำแหน่ง  จะเป็นรัฐมนตรีพลังงานคนที่ 14 ที่จะมาสะสางงานด่วนค้างท่อที่สำคัญ หลายเรื่อง โดยเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสาธารณชน ว่าจะมีการสานต่อ ทบทวน หรือยกเลิก ได้แก่

1.โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก จำนวน 1,933 เมกะวัตต์ ที่บรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ  ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 หรือ PDP 2018 rev1 ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผน เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติแทน PDP 2018 เดิม ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  โดยในช่วงที่นายสนธิรัตน์ ผู้ผลักดันโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เป็นรัฐมนตรีพลังงานนั้น แผน PDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1ดังกล่าวที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)ไปตั้งแต่วันที่  19 มี.ค.2563  ถูกยื้อไม่ให้เข้าพิจารณาในครม. เป็นเวลากว่า 4 เดือน  ทำให้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไม่สามารถดำเนินการออกประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน  ประเภท Quick Win ปริมาณรับซื้อไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ ไปก่อนล่วงหน้าได้ เพราะเกรงว่าอาจจะมีปัญหาในข้อกฏหมาย

- Advertisment -

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า  รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ อาจจะดึง แผนPDP 2018 rev1 กลับมาทบทวนใหม่อีกรอบ  และเปลี่ยนเป็น แผนPDP2021 เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เปลี่ยนไป จากผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดปัญหาปริมาณสำรองไฟฟ้าล้นระบบ  โดยอาจมีการลดปริมาณรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนลง หรือยกเลิกไปเลยก็ได้

2.การพิจารณาจัดสรรงบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2563 วงเงิน 5,600 ล้านบาท   ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะอนุกรรมการกลั่นกรองที่มี ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน  เพื่อเสนอต่อคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธาน และรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ที่จะร่วมอยู่ในคณะกรรมการพิจารณาอนุมัติ โดยการนั่งควบทั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีพลังงาน จะทำให้การดำเนินการง่ายขึ้น

3.การแต่งตั้งข้าราชการระดับสูง แทนผู้ที่จะเกษียณอายุในวันที่ 30 ก.ย.2563  โดยมีผู้เกษียณอายุราชการ 2 คน คือ นายยงยุทธ จันทรโรทัย อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และนายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงพลังงาน  ทั้งนี้มีกระแสข่าวว่า อาจจะมีการโยกย้ายสลับตำแหน่งในกรมอื่นๆด้วย

4.การออกประกาศเชิญชวนให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมรอบใหม่ ของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ โดยมีการจัดทำรายละเอียดต่างๆไว้พร้อมแล้ว ซึ่งหากรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ นายสุพัฒนพงษ์  พิจารณาแล้วว่าไม่มีอะไรที่ต้องแก้ไขทบทวน ก็สามารถจะดำเนินการ เป็นผลงานชิ้นแรกในตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานได้ทันที

5. โครงการซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนตามแผนพีดีพี  โดยรัฐมนตรีพลังงานคนใหม่ ต้องพิจารณาให้นโยบายคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. ดำเนินการ  คือ การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขยะชุมชน 400 เมกะวัตต์  ,การรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวลประชารัฐ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ 60  เมกะวัตต์

6.การปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติและพิจารณาให้มีการนำเข้า LNG ของเอกชน 3 รายที่ได้รับใบอนุญาตจากกกพ.เป็น shipper รายใหม่ โดยในการปรับโครงสร้างกิจการก๊าซธรรมชาติ  มติกพช.เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2562 ที่ได้มอบหมายให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปพิจารณาศึกษาทบทวนนั้น  ทางสนพ.ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้วและเตรียมที่จะนำเสนอให้ คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่จะมีนายสุพัฒนพงษ์ รัฐมนตรีพลังงานคนใหม่เป็นประธานเพื่อพิจารณา  ทั้งนี้ เอกชน 3 รายใหม่ที่ได้รับใบอนุญาตเป็น shipper ทั้ง กัลฟ์ฯ หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง และ บี.กริม เพาเวอร์ กำลังรอนโยบายว่า จะสามารถนำเข้า LNG เพื่อป้อนโรงไฟฟ้าในกลุ่มตัวเอง ได้ตามที่ กกพ.ให้ใบอนุญาตไว้หรือไม่

และ 7.เรื่องของการนำร่องใช้ระบบBlockchain ในการซื้อขายน้ำมันปาล์มเพื่อผลิตเป็นไบโอดีเซล ที่นายสนธิรัตน์ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน ผู้ผลักดันนโยบายดังกล่าว ตั้งความหวังว่า จะเป็นการปฏิรูปอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน ตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง ไม่ให้เอาเปรียบเกษตรกรชาวสวนปาล์ม  โดยมีเอกชนเข้าร่วมโครงการนำร่อง 3 ราย คือ บริษัทพลังงานบริสุทธิ์ จำกัด  บริษัทน้ำมันพืชปทุม จำกัด และบริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด ทดลองนำร่องซื้อขายแล้วในปริมาณ 1.4 แสนลิตร และกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่าสามารถยกระดับราคาผลผลิตปาล์มน้ำมันของเกษตรกรที่ร่วมโครงการได้จริง ก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นายสุพัฒนพงษ์ จะต้องพิจารณาว่าจะ ขยายผลเดินหน้าต่อ  ทบทวน หรือยกเลิก

Advertisment

- Advertisment -.