สำนักงาน กกพ. แจงรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวตามมติ กพช.ทุกขั้นตอน ยืนยันช่วยค่าไฟฟ้าถูกลง

1259
- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ. ) แจงกรณีศรีสุวรรณ จรรยา” ฟ้องศาลปกครองเกี่ยวกับการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวส่งผลค่าไฟฟ้าแพง โดย กกพ. ระบุทำตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ทุกขั้นตอน พร้อมชี้แจงและปฏิบัติตามมติศาลทุกกรณี ชี้รับซื้อไฟฟ้าสีเขียว ไม่ต้องจ่ายค่า AP ส่งผลดีต่อราคาค่าไฟฟ้า และก่อประโยชน์ด้านลดคาร์บอนไปพร้อมกัน    

จากกรณีที่ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองกลาง เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566  เพื่อขอให้ไต่สวนฉุกเฉิน ในคดีหมายเลขดำที่ 1961/2565 เนื่องจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามในสัญญาซื้อไฟฟ้า (PPA) กับเอกชนจำนวน 175 ราย ที่มีปริมาณเสนอขายรวม 4,852.26 เมกะวัตต์ จากที่ กกพ.ประกาศเปิดรับซื้อ 5,203 เมกะวัตต์ ในวันที่ 19 เม.ย. 2566 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณสำรองไฟฟ้าของไทยสูงเกินไป และมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชนนั้น

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า กกพ. ดำเนินการรับซื้อไฟฟ้า  “โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565” หรือ โครงการไฟฟ้าสีเขียว ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ทุกขั้นตอน ทั้งวิธีการรับซื้อไฟฟ้าและราคาค่าไฟฟ้าอย่างถูกต้อง ส่วนการฟ้องร้องในครั้งนี้ถือเป็นสิทธิ์ของประชาชนที่จะฟ้องร้องได้ ซึ่ง กกพ.ก็พร้อมปฏิบัติตามคำสั่งศาลทุกประการ โดยหากศาลสั่งให้ชี้แจง หรือ ชะลอการลงนามซื้อขายไฟฟ้า ทาง กกพ. ก็พร้อมดำเนินการตามกฎหมายอย่างแน่นอน

- Advertisment -

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวในครั้งนี้ ภาครัฐมองว่าจะได้ประโยชน์มากกว่าเสีย ซึ่งโดยปกติการรับซื้อไฟฟ้าจะมี 2 แบบหลักๆ คือ 1. การซื้อเนื้อไฟฟ้าโดยตรง  และ 2.การซื้อเนื้อไฟฟ้า รวมกับค่าความพร้อมจ่าย (AP)

โดยที่ผ่านมา)ประเทศไทยจะซื้อไฟฟ้าในแบบที่ 2 คือ ซื้อเนื้อไฟฟ้ารวมกับค่า AP ซึ่งค่า AP นี้เป็นการจ่ายเพื่อให้โรงไฟฟ้ายืนยันว่าจะพร้อมจ่ายไฟฟ้าเสมอตามที่ภาครัฐกำหนดแน่นอน ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กับประเภทโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่เป็นโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน เช่น โรงไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นต้น ซึ่งจะทำให้การจ่ายไฟฟ้ามั่นคงและเสถียร แต่ข้อเสียคือ แม้ไม่มีการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้า ก็ยังต้องจ่ายค่า AP อยู่ดี ซึ่งจะสะท้อนไปที่ค่าไฟฟ้าประชาชนด้วย

ส่วนแบบที่ 1 คือ การซื้อเนื้อไฟฟ้าโดยตรง เปรียบเหมือนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวในรอบนี้ ซึ่งรับซื้อเนื้อไฟฟ้าโดยไม่ต้องจ่ายค่า AP ประโยชน์ที่ได้คือ ค่าไฟฟ้าถูกกว่า และช่วยลดปัญหาการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นต้นเหตุภาวะโลกร้อน และยังขายคาร์บอนเครดิตได้ด้วย  ข้อเสียคือ การผลิตไฟฟ้าจะไม่เสถียร เพราะขึ้นกับสภาพดินฟ้า อากาศ   

ส่วนการที่ค่าไฟฟ้าไทยปัจจุบันมีราคาแพง ปัญหาหลักเกิดจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยประสบปัญหาผลิตได้ลดลง ทำให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) มาทดแทน แต่ LNG ตลาดโลกก็มีราคาแพงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ดังนั้นการที่ภาครัฐพิจารณารับซื้อเนื้อไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวไม่รวมค่า AP หรือ รับซื้อไฟฟ้าสีเขียวมาใช้ จะทำให้ค่าไฟฟ้าถูกกว่าการไปซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ต้องจ่ายทั้งค่าเนื้อไฟฟ้าและค่า AP รวมกัน  

ฉะนั้นภาครัฐจึงเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว เพื่อให้ได้เนื้อไฟฟ้าราคาถูกในช่วงนี้ ถือเป็นผลดีกับประเทศมากกว่าและยังได้ในเรื่องของการลดคาร์บอนฯด้วย แต่ถ้าภาครัฐรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวพร้อมกับรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ต้องจ่ายค่า AP ไปพร้อมกัน แบบนี้ถึงจะเรียกว่าเกิดผลเสียกับประเทศ แต่ภาครัฐได้พิจารณาซื้อไฟฟ้าสีเขียวเพียงอย่างเดียว โดยไปลดการซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ ทำให้ไม่เป็นผลเสียต่อประเทศแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม กกพ.ยังคงเดินหน้ากระบวนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับผู้ที่ผ่านการพิจารณาตามขั้นตอนต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งศาลให้ดำเนินการเป็นอย่างอื่น  

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า ในวันที่ 19 เม.ย. 2566 จะเป็นวันสุดท้ายสำหรับขั้นตอนลงนามยอมรับเงื่อนไขของการไฟฟ้าที่เป็นผู้ประกาศรายชื่อผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการ ซึ่งการไฟฟ้าแต่ละแห่งจะเป็นผู้ส่งหนังสือไปยังผู้ที่ผ่านเข้าร่วมโครงการทั้งหมด เพื่อให้ลงนามยอมรับเงื่อนไข โดยหากปฏิเสธไม่ยอมรับเงื่อนไขก็จะไม่สามารถเข้าร่วมโครงการได้

ทั้งนี้ภายหลังจากลงนามยอมรับเงื่อนไขของการไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการจะต้องลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ซึ่งตามกรอบที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้ที่จะผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในปี 2567-2568 ต้องลงนาม PPA ภายใน 180 วัน นับจากวันที่ลงนามยอมรับเงื่อนไขการไฟฟ้า ส่วนผู้ที่จะ COD ระหว่างปี 2569-2573 จะต้องลงนาม PPA ภายใน 2 ปี นับจากวันที่ลงนามยอมรับเงื่อนไขการไฟฟ้า

โดยสรุปมีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 175 ราย รวมกำลังผลิตไฟฟ้า 4,852.26 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 5,203 เมกะวัตต์  

ส่วนการยื่นฟ้องร้องต่อศาล เมื่อวันที่ 18 เม.ย. 2566 เวลา 11.00 น.ที่ศาลปกครองกลาง ของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยนั้น ได้ยื่นฟ้องร้องด้วยเหตุผลว่า  เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้ามากถึง 51,048 เมกกะวัตต์ ขณะที่ปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศในปี 2565 มีเพียง 30,135 เมกกะวัตต์เท่านั้น อันทำให้มีปริมาณการผลิตไฟฟ้าสำรองล้นประเทศ หรือมากเกือบ 60% แต่ทว่าคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ กลับมีมติให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ไปดำเนินการจัดซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเพิ่มในโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (Fit) ปี 2565-2573 สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน, พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน(Battery Energy Storage System : BESS), สำหรับพลังงานลม, สำหรับก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย) และโครงการผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าล้นประเทศมากถึง 53,659 เมกกะวัตต์ หรือมีกำลังไฟฟ้าสำรองมากกว่า 62% ซึ่งตามมาตรฐานสากลกำหนดไว้เพียงประมาณ 15-20% เท่านั้น

ซึ่งการที่มีพลังงานไฟฟ้าสำรองมากกว่า 53,659 เมกกะวัตต์ หรือกว่า 62% จะมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของค่าเอฟที (Ft) ซึ่งการไฟฟ้าก็จะไปไล่เก็บจากประชาชนทุกครัวเรือนเพื่อเอามาชดเชยให้เอกชนเจ้าของโรงไฟฟ้าที่ กฟผ.ได้ลงนามในสัญญาซื้อสำรองไว้ แบบเสียเปล่า เพราะปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของประเทศไทยมีเพียงแค่ 3 หมื่นกว่าเมกกะวัตต์เท่านั้น และหากพิจารณาบริษัทต่าง ๆ ใน 175 รายนั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นของบริษัทขนาดใหญ่ ผู้ร่ำรวยระดับประเทศที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แทบทั้งสิ้น

“การฮึกเหิมในการใช้อำนาจตามอำเภอใจและน่าจะเป็นการตอบสนองความต้องการของฝ่ายการเมืองดังกล่าว ในที่สุดผู้ที่จะต้องแบกรับภาระค่าจัดซื้อจัดหาไฟฟ้าจากผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าของเอกชน คือ พลเมืองไทยทุกครัวเรือน ทุกห้างร้าน ทุกผู้ประกอบกิจการ แม้แต่วัดวาอาราม ศาสนสถานก็ไม่เว้น เยี่ยงนี้สังคมไทยจะปล่อยให้เลยตามเลยไปมิได้ เพราะจะมีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะบนความทุกข์ของประชาชนทุกครัวเรือน ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยไว้ในคดีที่ 1/2566 ลงวันที่ 9 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยจึงจำต้องมาร้องขอให้ศาลไต่สวนฉุกเฉินเพื่อมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับการลงนามซื้อไฟฟ้าในวันนี้” นายศรีสุวรรณ กล่าว

Advertisment