กพช. ไฟเขียว​แบ่ง 2​ กลุ่ม Shipper นำเข้า​​ LNG​ พร้อมให้​ กฟผ. ร่วมทุนคนละครึ่ง​กับ ปตท. ในคลัง ​LNG หนองแฟบ

2334
- Advertisment-

กพช.ไฟเขียวแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 แบ่งผู้นำเข้า​LNG​ เป็น 2 กลุ่ม​แบบ​ Regulated Market​ ที่ผลักภาระต้นทุนราคาก๊าซให้ผู้ใช้ไฟ​ และ กลุ่มที่2​ Partially regulated market ให้นำเข้ามาใช้ในโรงไฟฟ้าตัวเองและขายให้ลูกค้าอุตสาหกรรม​ คาด​ Shipper​ รายใหม่​ กัลฟ์​ และ บี.กริม​ เริ่มนำเข้า​LNGได้ไตรมาส 3 ปีนี้​ พร้อมอนุมัติ​ ยกเลิกโครงการลงทุน​ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) ที่ป้อน​โรงไฟฟ้าพระนครใต้​ของ​ กฟผ.​ แต่ให้ กฟผ.มาถือหุ้นคนละครึ่งกับ ปตท.​ใน​โครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ต.หนองแฟบ จ. ระยอง ขนาด 7.5 MTPA แทน

วันนี้ (1 เม.ย. 64) นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายวัฒนพงษ์​ คุโรวาท​ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน​ ( สนพ.)​ร่วมแถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

โดย ที่ประชุมได้พิจารณาวาระและเห็นชอบ แนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 โดยกลุ่มผู้จัดหาก๊าซแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
1) กลุ่มที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ตามแนวทางที่คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) และ กพช. กำหนด​ หรือ (Regulated Market) ซึ่งประกอบด้วย ผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติจาก Old Supply และ Shipper ที่จัดหา LNG เพื่อนำมาใช้กับภาคไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ​ ซึ่งได้แก่​ ปตท.​ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย​ ( กฟผ.)​และ​ หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด​

- Advertisment -

โดย​ Regulated Market​ ซึ่งเป็นผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติจาก Old Supply ที่มอบหมายให้ ปตท. บริหารจัดการ ประกอบด้วยก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ (รวมพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย : JDA) แหล่งจากเมียนมา และ LNG ที่นำเข้าตามสัญญาเดิม (5.2 ล้านตัน/ปี) ซึ่งกำหนดให้ก๊าซในอ่าวไทยจะต้องนำมาใช้ในโรงแยกก๊าซก่อนเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม​ และให้ ปตท. เปิดประมูล LNG Spot Flexible ราคาถูกกว่า Pool Gas ภายใต้กำกับ ของ กกพ. ทั้งด้านปริมาณและเงื่อนไข

การกำหนดหลักเกณฑ์สัญญาซื้อขายก๊าซจาก Old Demand (ลูกค้าอุตสาหกรรม, NGV, IPPs, SPPs, VSPPs และ กฟผ.) ให้ขายก๊าซให้แก่ผู้ใช้ก๊าซตามสัญญาและเงื่อนไขเดิม (Pool Gas) และให้ศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ (National Control Center: NCC) สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตามวิธีการปัจจุบัน (must run, must take และ merit order)

• สำหรับ​ Shipper รายใหม่​ คือ​ หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด​ ที่จะจัดหาLNG​ มาใช้ในโรงไฟฟ้าหินกอง​ กำลังการผลิต​รวม 1,400 เมกะวัตต์​ นั้น การจัดหา LNG ที่เป็น New Supply​ ให้กับโรงไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ จะอยู่ภายใต้การกำกับของ กกพ. ตามเงื่อนไขที่ กบง./กพช.กำหนด สัญญาระยะยาว เป็นไปตามหลักเกณฑ์ LNG Benchmark และ กบง. พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินการสัญญา Spot ให้ไม่เกินราคา JKM adjust by freight cost* ภายใต้การกำกับของ กกพ. ทั้งด้านปริมาณและช่วงเวลา และให้ NCC สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าตาม heat rate และส่งผ่านราคาเชื้อเพลิงเข้าค่าไฟฟ้าทั้งหมด​

ส่วนด้านโครงสร้างราคาก๊าซให้เป็นไปตาม กบง./กพช. กำหนด ประกอบด้วย ราคาเนื้อก๊าซ ค่าบริการสถานี LNG ค่าบริการในการจัดหาและค้าส่งก๊าซ อัตราค่าผ่านท่อก๊าซ และอัตราค่าผ่านท่อก๊าซสำหรับ Shipper รายใหม่ ให้คำนวณเฉพาะค่าผ่านท่อบนบกเท่านั้น

สำหรับ​ Partially regulated market
• Shipper รายใหม่ ได้แก่​ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) และ บี.กริม แอลเอ็นจี จำกัด​ ซึ่งจัดหา LNG ให้กับโรงไฟฟ้าตนเองหรือใช้ในภาคอุตสาหกรรม คาดว่าจะเริ่มนำเข้าได้ในช่วงไตรมาส​ 3​ ของปีนี้​

ในส่วนของการดำเนินการตามแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2 กำหนดให้ LNG Terminal และท่อส่งก๊าซฯ เปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาใช้และเชื่อมต่อได้ และกำหนดให้ ปตท. แยกธุรกิจท่อเป็น TSO เป็นนิติบุคคล ให้แล้วเสร็จภายใน 15 เดือน เมื่อได้ข้อยุติเรื่องการแบ่งแยกทรัพย์สินของ ปตท. แล้ว รวมถึงให้ ปตท.
ทำหน้าที่ในการควบคุมคุณภาพก๊าซธรรมชาติและแยกก๊าซธรรมชาติ และมอบหมายให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชธ.) และ ปตท. กำหนดปริมาณการนำเข้า LNG ภายใต้การกำกับของ กกพ. และให้ กกพ. บริหารความสามารถของ LNG Terminal และทบทวนความเหมาะสมของ TPA Regime และ TPA Code
ทั้งนี้ ให้ กกพ. เป็นผู้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการพิจารณาการดำเนินงานให้เป็นไปตามรูปแบบการส่งเสริมการแข่งขันในกิจการก๊าซธรรมชาติ ระยะที่ 2

ที่ประชุม กพช.ยัง เห็นชอบการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก๊าซธรรมชาติเพื่อรองรับโครงการโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2018 (Rev.1) จากศักยภาพของโครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ และ LNG Terminal ทั้งที่มีอยู่และที่อยู่ระหว่างการศึกษาความเหมาะสม โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานฯ เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าในเขตนครหลวง 5,420 MW โดยให้ กฟผ. ปรับรูปแบบการลงทุนจากโครงการ FSRU ในพื้นที่อ่าวไทยตอนบน (F-1) ตามมติ ครม.เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2560 เป็นการร่วมลงทุนกับ ปตท. สัดส่วน 50 : 50 ในโครงการ LNG Receiving Terminal (แห่งที่ 2) ต.หนองแฟบ จ. ระยอง ขนาด 7.5 MTPA และเห็นชอบให้ ปตท. เป็นผู้ดำเนินการโครงการระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกจากบางปะกงไปโรงไฟฟ้าพระนครใต้เพื่อรองรับโรงไฟฟ้าตามแผน PDP2018 (Rev.1) และยกเลิกสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ (Compressor) บนระบบท่อส่งราชบุรี-วังน้อย และโครงการสถานีเพิ่มความดันก๊าซฯ (Compressor) กลางทาง บนระบบท่อส่ง บนบกเส้นที่ 5

นอกจากนี้ยัง รับทราบการส่งออกเที่ยวเรือ LNG (Reloading) สำหรับสัญญาระยะยาวของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยมอบหมายให้ กกพ. ดำเนินการนำรายได้จากการส่งออก LNG (Reloading) ที่ส่งภาครัฐประมาณ 580 ล้านบาทไปลดราคาค่าก๊าซธรรมชาติ และเห็นชอบหลักเกณฑ์การส่งออกเที่ยวเรือสำหรับสัญญาระยะยาวของ ปตท. ซึ่งมี หลักเกณฑ์ด้านปริมาณ ให้ ปตท. สามารถดำเนินการส่งออก LNG ได้ โดยต้องไม่กระทบต่อความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศ (ปริมาณสำรอง LNG หลังจากการสูบถ่ายอย่างน้อย 1 ถัง) และ หลักเกณฑ์ด้านราคา ในกรณีที่ ปตท. ส่งออก LNG ภายใต้สัญญาระยะยาว โดย ปตท. จะต้องนำส่งรายได้ระหว่างราคาขาย LNG จริง กับราคา Pool LNG เฉลี่ยรายเดือน หลังหักค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องให้กับภาครัฐ

Advertisment