กองทุนน้ำมันอ่วม! แบกภาระชดเชยLPG และดีเซลจนติดลบแล้ว 3.2 หมื่นล้าน

N1022
- Advertisment-

คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อนุมัติขยายกรอบวงเงินชดเชยราคา LPG เป็น 33,000 ล้านบาทในขณะที่การชดเชยน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 – 22 มีนาคม 2565 เกิดขึ้น13 ครั้ง เพื่อให้ราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร ล่าสุดวันที่ 22 มีนาคม 2565 อัตราชดเชยน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 7.97 บาทต่อลิตร โดยฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ณ วันที่ 20 มีนาคม 2565 ติดลบ 32,831 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมัน ติดลบ 4,028 ล้านบาท และบัญชีก๊าซ LPG ติดลบ 28,803 ล้านบาท

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565 ที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นประธาน ได้อนุมัติขยายกรอบวงเงินสำหรับใช้ชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) เพิ่มจาก 29,000 ล้านบาท เป็น 33,000 ล้านบาท  เนื่องจากปัจจุบันใช้เงินกองทุนฯ อุ้มราคา LPG ไป 28,803 ล้านบาทใกล้เต็มกรอบวงเงินเดิมแล้ว และเพื่อใช้พยุงราคา LPG ไม่ให้เกิน 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2565 นี้

ส่วนอีก 3 เดือนข้างหน้า (เดือน เม.ย.-พ.ค.-มิ.ย.) จะต้องปรับขึ้นราคา LPG กิโลกรัมละ 1 บาทต่อเดือน (ขึ้น 15 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม) ซึ่งจะส่งผลให้ราคา LPG เดือน เม.ย. อยู่ที่ 333 บาท, เดือน พ.ค. อยู่ที่ 348 บาท และเดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 363 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม  ส่วนหลังจากนั้นต้องขึ้นอยู่กับนโยบายกระทรวงพลังงานว่าจะดูแลราคา LPG อย่างไรต่อไป

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามการปรับลดการชดเชย LPG ดังกล่าวจะส่งผลให้ภาระการชดเชยลดลง จากปัจจุบันราคา LPG 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ต้องใช้เงินชดเชยอยู่ 2,700 ล้านบาทต่อเดือน ถ้าปรับราคาขึ้น 1 บาทต่อกิโลกรัมจะทำให้การชดเชยราคา LPG ในเดือน เม.ย. เหลือ 2,418 ล้านบาท ,ในเดือน พ.ค. เหลือ 2,133 ล้านบาท และเดือน มิ.ย.เหลือ 1,849 ล้านบาท

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันแต่ละเดือนกองทุนฯ มีภาระชดเชยราคาดีเซลและLPG ทำให้มีเงินไหลออกรวม 19,196 ล้านบาท แบ่งเป็นการชดเชยดีเซล 16,000 ล้านบาท และ LPG ประมาณ 3,000 ล้านบาท โดยสถานะกองทุนสุทธิ ณ วันที่ 20 มี.ค. 2565 ติดลบรวม 32,831 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันมีเงินไหลออก 4,028 ล้านบาท และบัญชี LPG มีเงินไหลออก 28,803 ล้านบาท ดังนั้นการลดการชดเชยราคา LPG ดังกล่าวจะลดภาระกองทุนฯได้ส่วนหนึ่ง  

อย่างไรก็ตามหากไม่ดำเนินการช่วยเหลือใดๆเลย ราคา LPG จะสูงถึง 615 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม เนื่องจากปัจจุบันราคา LPG โลกพุ่งสูงถึง 892 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน จากปกติในอดีตเคยอยู่ที่ระดับ 300-400 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน

สำหรับในส่วนของการดูแลราคาดีเซลนั้น ในวันนี้(23 มี.ค. 2565) คาดว่าจะมีการเรียกประชุม กบน.อีกครั้งเพื่อเพิ่มการชดเชยราคาดีเซลอีกรอบ หลังจากเพิ่งมีมติเพิ่มการชดเชยราคาดีเซลเป็น 7.97 บาทต่อลิตร ไปเมื่อวาน (22 มี.ค. 2565 ) เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ค้าน้ำมันปรับขึ้นราคาดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกในวันที่ 23 มี.ค. 2565 ยังคงปรับขึ้นเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลอย่างต่อเนื่อง โดยราคาน้ำมันดิบดูไบขึ้นมาอยู่ระดับ 109 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่  113 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 118 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

นายวิศักดิ์ กล่าวด้วยว่า กองทุนฯ ยังพยุงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ไปจนถึงสิ้นเดือน เม.ย. 2565 และตรึงราคา LPG ไว้ที่ 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2565 โดยยืนยันว่ากองทุนฯ ยังมีเงินหมุนเวียนที่ยังไม่ครบกำหนดชำระหนี้ผู้ค้าน้ำมันอยู่ 16,500 ล้านบาท ที่สามารถดูแลราคาดีเซลและLPG ได้จนครบกำหนดเวลาดังกล่าว

ส่วนกระบวนการกู้เงิน 20,000 ล้านบาทแรก ตอนนี้ยังอยู่ระหว่างเปิดให้สถาบันการเงินเสนออัตราดอกเบี้ยเงินกู้มายังสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) ภายใน 31 มี.ค. 2565 นี้ และคาดว่าจะเริ่มกู้และเงินเข้ากองทุนฯ ได้ภายในกลางเดือน เม.ย. –ต้นเดือน พ.ค. 2565 นี้ เพื่อนำมาใช้ดูแลราคาพลังงานได้ต่อเนื่องต่อไป  

Advertisment