สกนช.ลงพื้นที่รับฟังความเห็นผู้ผลิตปาล์มน้ำมันก่อนเสนอปรับ​สัดส่วนผสมB100 ในดีเซล​ให้เหมาะสม

852
- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)ลงพื้นที่รับฟังความเห็นผู้ประกอบการผลิตน้ำมันปาล์มจังหวัดสุราษฎร์ธานี ก่อนเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ปรับสัดส่วนการผสม B100 ในดีเซลใหม่ หลังหมดมาตรการกำหนดจำหน่ายดีเซล B5 ทั่วประเทศในวันที่ 31 มี.ค. 2565 นี้ ด้านผู้ผลิตน้ำมันปาล์มแนะรัฐปรับสัดส่วนผสม B100 แบบยืดหยุ่นตามสต๊อกน้ำมันปาล์มในประเทศเป็นหลัก ชี้ภาครัฐบริหารน้ำมันปาล์มล่าช้า จะส่งผลให้ต้นทุนดีเซลที่ผสมB100 จะมีราคาแพงในช่วงนี้

วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยในระหว่างนำคณะสื่อมวลชนสายพลังงานจากส่วนกลางลงพื้นที่เยี่ยมชมกระบวนการผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพจากปาล์มน้ำมัน ช่วงวันที่ 24-25 ก.พ. 2565 ณ จังหวัดสุราษฎร์ธานีว่า กระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาการปรับสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ (B100) ในน้ำมันดีเซลใหม่ เนื่องจากปัจจุบันคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ได้กำหนดสัดส่วนการผสม B100 ในดีเซล 5% ทุกลิตร หรือเรียกว่า B5 สำหรับเกรดน้ำมันดีเซลทุกชนิดไปจนถึง 31 มี.ค. 2565 ดังนั้นหลังจากสิ้นสุดมาตรการนี้ทาง กบง.จะต้องพิจารณากำหนดสัดส่วนการผสม B100 ใหม่

เบื้องต้นคณะทำงานดังกล่าวซึ่งประกอบด้วยตัวแทน สกนช. ตัวแทนกระทรวงพลังงาน โดยมีอธิบดีกรมธุรกิจพลังงานเป็นประธาน จะเสนอ กบง.ในเร็วๆนี้ว่าจะปรับสัดส่วน B100 กลับสู่สัดส่วนเดิมคือ B7(น้ำมันดีเซลที่ผสมB100 ในสัดส่วน 7% ทุกลิตร),B20 (น้ำมันดีเซลที่ผสมB100 ในสัดส่วน 7% ทุกลิตร) และดีเซล หรือจะยังคง B5 ต่อไป

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม สกนช. จะนำข้อมูลจากผู้ประกอบการ B100 ในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี ที่ สกนช.ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลและความเห็นจากผู้ประกอบการไปนำเสนอต่อ กบง. เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการปรับสัดส่วน B100 เบื้องต้นผู้ประกอบการ B100 ได้เสนอให้ภาครัฐกำหนดสัดส่วนการผสม B100 ในดีเซลให้สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสต๊อก B100 ในประเทศ เช่น ถ้าสต๊อก B100 มีมากถึง 3 แสนตัน ให้กำหนดการผสม B100 จำนวน 5-7% หรือกำหนดให้ขายน้ำมันดีเซล B5-B7 หรือหากสต๊อกต่ำกว่า 3 แสนตัน ให้กำหนด B100 จำนวน 3-4% หรือ B3-B4 เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันสต๊อกประเทศมีอยู่ประมาณ 1.5 แสนตัน

ไกรวุฒิ ศิริอนันตภัทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอส.พี.โอ.อะโกรอินดัสตรี้ส์ จำกัด

นายไกรวุฒิ ศิริอนันตภัทร์ กรรมการผู้จัดการบริษัท เอส.พี.โอ.อะโกรอินดัสตรี้ส์ จำกัด กล่าวว่า ในกรณีราคาน้ำมันดีเซลมีราคาแพง ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น และอีกส่วนเกิดจากการผสม B100 ซึ่งในช่วงนี้มีราคาสูง ประมาณ 50 บาทต่อลิตร โดยปัจจุบันราคา B100 ของผู้ประกอบการแต่ละรายมีราคาแตกต่างกัน โดยพิจารณาจากต้นทุนและปัจจัยต่างๆ เช่น ราคาน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) ที่จำหน่ายได้, ราคาจากโรงงานข้างๆ,ราคาน้ำมันปาล์มที่ขายได้,ราคาน้ำมันโลก และเปอร์เซนต์การสกัดน้ำมันปาล์ม เป็นต้น

ดังนั้นเห็นว่าภาครัฐควรปรับแนวทางในการบริหารจัดการ B100 ใหม่ โดยควรเน้นด้านการบริโภคมาเป็นอันดับแรกก่อน และผลผลิตเหลือจึงค่อยนำมาใช้ในภาคพลังงาน นอกจากนี้ควรปรับสัดส่วนการผสม B100 ในดีเซลตามสต๊อก B100 ในประเทศ และภาครัฐควรดำเนินการปรับเปลี่ยนให้เร็วกว่านี้ ซึ่งผลผลิตปาล์มจะเหลือน้อยในช่วงเดือน ธ.ค.-ม.ค.-ก.พ. ของทุกปี และราคาแพง ดังนั้นภาครัฐควรดักซื้อน้ำมันปาล์มดิบเพื่อมาผลิต B100 ก่อนที่จะราคาแพง แต่เมื่อภาครัฐดำเนินการช้า จึงส่งผลให้เมื่อเข้าถึงเดือน ก.พ. นี้ ผลผลิตปาล์มน้อย และราคาแพง ประกอบกับราคาน้ำมันโลกสูง จึงส่งผลให้ราคาดีเซลในประเทศปรับสูงมาก แต่หากภาครัฐจะมาใช้นโยบายไม่ผสม B100 ในดีเซลเลย ก็จะมีผลกระทบต่อรายได้เกษตรกร และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่ภาครัฐต้องการลดปัญหาค่าฝุ่น pm 2.5 เป็นต้น ดังนั้นภาครัฐควรบริหารจัดการปรับสัดส่วนการผสมB100 ในดีเซลให้เร็วและทันต่อราคาน้ำมันปาล์มที่เปลี่ยนแปลงในแต่ละสัปดาห์ เป็นต้น

สำหรับบริษัทฯ มีโรงงานผลิตน้ำมันปาล์มดิบ 5 โรงงาน มีกำลังผลิต 4 หมื่นตันต่อโรงต่อปี ส่วนปัจจุบันราคาน้ำมันปาล์มดิบในประเทศอยู่ที่ 47-48 บาทต่อกิโลกรัม ส่วน B100 อยู่ที่ 50 บาทต่อลิตร และสต๊อก B100 อยู่ที่ 1.5 แสนตัน

รานนท์ ทองพันธ์ เกษตรกรปาล์มน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานี (เสื้อแดง)​

ด้านนายรานนท์ ทองพันธ์ เกษตรกรปาล์มน้ำมันจังหวัดสุราษฎร์ธานี กล่าวว่า ปัจจุบันราคาปาล์มอยู่ที่ 8.6-8.8 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งลดลงจากเดือน ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ที่อยู่ระดับ 11.80 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งราคาระดับกว่า 8 บาทต่อกิโลกรัม เป็นราคาที่เกษตรกรพอใจ และเห็นว่าราคาต่ำสุดที่คุ้มค่าต่อการลงทุนไม่ควรต่ำกว่า 5 บาทต่อกิโลกรัม แต่ปัจจุบันราคาปุ๋ยกับค่าแรงปรับสูงขึ้นมาก จึงอยากให้ภาครัฐช่วยเหลือด้านราคาปุ๋ยให้ต่ำลงด้วย

ประวิทย์ ทยาวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารธุรกิจโรงงาน บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด (คนขวา)​

นายประวิทย์ ทยาวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสายงานบริหารธุรกิจโรงงาน บริษัท นิว ไบโอดีเซล จำกัด กล่าวว่า ภาครัฐควรกำหนดสัดส่วนผสม B100 ในดีเซลให้ชัดเจนว่าจะเป็นผสมกี่เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะนโยบายที่จะผลักดันไปสู่มาตรฐานยูโร 5 ว่าจะมีสัดส่วนผสมเป็น B7 หรือ B10 และจะมีสูตรอย่างไรเพื่อไม่ให้กระทบกับการเผาไหม้ของเครื่องยนต์ เพื่อให้ผู้ประกอบการได้คิดค้นกรรมวิธีผลิต B7 หรือ B10 ให้ตรงตามมาตรฐานที่ภาครัฐกำหนด เพราะหากรัฐไม่มีความชัดเจนเรื่องสเปค B100 ในดีเซล เพื่อรองรับยูโร 5 ผู้ประกอบการก็ไม่สามารถหาวิธีดำเนินการที่ถูกต้องได้

ส่วนการปรับลดส่วนผสม B100 จาก 7% เหลือ 5% จนถึง 31 มี.ค. 2565 มองว่าคงเป็นแค่มาตรการระยะสั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดีเซลแพงและลดผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันปาล์มที่มีน้อย ขณะที่เดือน มี.ค.-เม.ย. นี้จะมีผลผลิตปาล์มออกสู่ตลาดมากถึงเป็นช่วงพีค ก็ต้องดูว่ารัฐจะกำหนดนโยบายอย่างไรหากสต๊อกในประเทศมีปริมาณมากและราคาตลาดโลก รัฐต้องดูว่าราคาตลาดโลกในขณะนี้สามารถส่งออกได้หรือไม่ ถ้าไม่สามารถส่งออกได้รัฐอาจต้องปรับสัดส่วนการผสมไบโอดีเซลเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาปาล์มในประเทศ

Advertisment