รวมมาตรการพลังงานช่วยประชาชน ลดผลกระทบโควิด-19 ปี63

- Advertisment-

รวมมาตรการช่วยเหลือประชาชน ลดผลกระทบโควิด-19 ของกระทรวงพลังงาน ตลอดปี 2563 ไปถึงไตรมาสแรกปี 2564 

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการล็อกดาวน์ทั่วทั้งประเทศช่วงเดือน มี.ค.-พ.ค.2563 ก่อนที่สถานการณ์จะคลี่คลายลงไปนานหลายเดือน และกลับมาระบาดใหม่ในช่วงเดือนธ.ค.2563  ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะคาดได้ว่าตัวเลขผู้ติดเชื้อจะขยายวงไปอีกมากน้อยแค่ไหน นั้น ได้ส่งผลกระทบกับประชาชน ที่บางส่วนต้องขาดรายได้จากการถูกเลิกจ้าง  ธุรกิจหยุดชะงัก โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว  บางส่วนต้องปรับตัวกับการทำงานแบบใหม่ ที่เรียกว่า work from home

ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ซึ่งกำกับดูแลเรื่องของไฟฟ้า น้ำมัน  ก๊าซ ที่เป็นต้นทุนส่วนหนึ่งในการดำรงชีวิตของประชาชน ได้มีส่วนเข้ามาช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบนี้อย่างไรบ้างนั้น  ทีมข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) ได้รวบรวมมาตรการต่างๆที่สำคัญเอาไว้ดังนี้

- Advertisment -

-มาตรการช่วยเหลือเรื่องค่าไฟฟ้า

โดยเมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2563 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสุทธิที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วลงอีก 3% ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าทุกประเภท ให้มีผลในการเรียกเก็บค่าบริการ ตั้งแต่ เม.ย. – มิ.ย. 2563 รวมเป็นระยะเวลา 3 เดือน

พร้อมให้ผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทที่ 3 ประเภทที่ 4 ประเภทที่ 5 ประเภทที่ 6 และประเภทที่ 7 ให้มีผลตั้งแต่ เม.ย. – มิ.ย. 2563 รวม 3 เดือน ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวที่ปัจจุบันต้องเสียค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ซึ่งคิดจากค่าไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำ จะเสียค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ตามความต้องการพลังไฟฟ้าสูงสุดที่ใช้จริง จากนั้นได้ขยายมาตรการนี้จนถึงสิ้นปี 2563 และครม.เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 ที่ผ่านมา ได้รับทราบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้ขยายมาตรการนี้ต่อไปจนถึงสิ้นเดือน มี.ค. 2564  โดยมาตรการดังกล่าวจะสามารถบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 ได้ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน

ครม.เมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2563 มีมติเห็นชอบลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน เป็นเวลา 3 เดือน (บิลค่าไฟเดือน มี.ค.-พ.ค.2563) แก่ประชาชนกว่า 22 ล้านครัวเรือน ซึ่งประเมินว่าจะใช้เงิน 2.3 หมื่นล้านบาท สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150 หน่วยต่อเดือน ให้ใช้ไฟฟ้าฟรี เป็นเวลา 3 เดือน (บิลค่าไฟเดือน มี.ค.-พ.ค.2563)

การคืนเงินค่าประกันการใช้ไฟฟ้า

วันที่ 19  มี.ค.2563 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  และการไฟฟ้านครหลวง  เปิดให้ประชาชนตรวจสอบสิทธิ์การขอคืนค่าประกันการใช้ไฟฟ้า เป็นวันแรก (ตั้งแต่ 25 มี.ค. 2563 เป็นต้นไป )ผ่านทางระบบออนไลน์  ครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้ากว่า 23 ล้านราย รวมเป็นวงเงินกว่า 33,000ล้านบาท

-มาตรการลดราคา NGV

25 มี.ค. 2563 คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีมติเห็นชอบปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV) 3 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเวลา 3 เดือน มีผล 1 เม.ย.-30 มิ.ย. 2563  บรรเทาผลกระทบจากCOVID-19 ให้กลุ่มรถโดยสารสาธารณะทั้ง รถเมล์ รถตู้ แท็กซี่  รถตุ๊กๆ รวมกว่า 8 หมื่นคัน โดยให้ ปตท.ช่วยแบกรับภาระประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ ซึ่งได้มีการต่ออายุมาตรการมาอย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน

-มาตรการลดสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมาย

กรมธุรกิจพลังงานได้ออกประกาศลดการสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจาก 6% โดยระยะแรก ลดสำรองเป็น 4% ระยะเวลา 1 ปี (1พ.ค.‪2563-30‬ มิ.ย. 2564) และระยะที่สอง ลดสำรองเป็น 5% หลังจาก 1 ปี เป็นต้นไป เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งประสบปัญหาการใช้น้ำมันที่ลดลงมาก โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยานทำให้ประสบปัญหาถังเก็บน้ำมันไม่เพียงพอ พร้อมกับขยายระยะเวลาการคงอัตราสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามกฎหมายที่ 1% ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน (สิ้นสุด 30 มิ.ย. 2564)

-มาตรการปลดล็อคเอทานอลภาคเชื้อเพลิง มาผลิตเจลแอลกอฮอล์ เพื่อให้มีปริมาณแอลกอฮอล์เพียงพอกับความต้องการของประชาชนในการป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19

เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2563 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ได้ทำหนังสือถึงอธิบดีกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง เพื่อแจ้งให้พิจารณาอนุญาตให้นำเอทานอลส่วนเกินจากภาคพลังงานที่มีมากกว่า 1 ล้านลิตรต่อวัน ไปผลิตเจลล้างมือได้  เพื่อป้องกัน COVID-19 โดยไม่ต้องรอให้กระทรวงพลังงานเห็นชอบ ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนได้ทันสถานการณ์ จากนั้น กระทรวงพลังงานได้มอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้จัดหาแอลกอฮอล์ 70% กระจายสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)ทั้ง 9,863 แห่งทั่วประเทศ จำนวนแห่งละ 20 ลิตรต่อ 6 วัน เป็นเวลา 30 วัน เพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์และประชาชนเข้าถึงแอลกอฮอล์มากขึ้น สำหรับป้องกันไวรัส COVID-19    อย่างไรก็ตามมาตรการดังกล่าวมีปัญหาในทางปฏิบัติในการกระจายแอลกอฮอล์  เนื่องจากการประสานงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ

รายการของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ประจำปี 2564 ที่กระทรวงพลังงานนำเสนอให้ ครม.เมื่อวันที่ 22 ธ.ค.2563 รับทราบ ประกอบด้วย

– การตรึงราคาน้ำมัน โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระหว่างวันที่ 26 ธันวาคม 2563 ถึงวันที่ 3 มกราคม 2564 เพื่อลดค่าใช้จ่ายระหว่างการเดินทางช่วงปีใหม่ รวมมูลค่าประมาณ 150 ล้านบาท

การขยายระยะเวลาการคงราคาขายส่ง LPG หน้าโรงกลั่น  ซึ่งไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กำหนดราคาที่ 14.3758 บาทต่อกิโลกรัม มีกรอบเป้าหมายให้ราคาขายปลีกอยู่ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 รวมมูลค่า 1,890 ล้านบาท

การปรับลดอัตราค่า Ft (ค่าไฟฟ้าผันแปร) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน จากเดิม -12.43 สตางค์ เป็น -15.32 สตางค์ ซึ่งจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง 2.89 สตางค์ในระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 จะทำให้สามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้เดือนละประมาณ 400 ล้านบาท รวมมูลค่า 1,600 ล้านบาท

ขยายเวลายกเว้นการเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) โดยสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ให้ผู้ประกอบการ กิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะอย่าง องค์กรไม่แสวงหากำไร และการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ออกไปอีก 3 เดือน ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2564 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการจากผลกระทบ COVID-19 จะสามารถบรรเทาผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 ได้ประมาณ 50 ล้านบาทต่อเดือน รวมมูลค่า 150 ล้านบาท   ( เป็นมาตรการช่วยเหลือต่อเนื่องตั้งแต่ เม.ย.2563 )

การมอบคูปองส่วนลดสำหรับซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว  ผ่านโครงการช้อปหารสอง โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แจกคูปองส่วนลดสำหรับซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าเบอร์ 5 ติดดาว จำนวน 25,000 สิทธิ์ และคูปองส่วนลดสำหรับซื้อสินค้าชุมชน กฟผ. จำนวน 17,000 สิทธิ์ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 และใช้สิทธิ์ได้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 รวมมูลค่า 15.8 ล้านบาท

การมอบคูปองส่วนลดสำหรับที่พักที่เขื่อน กฟผ. ผ่านโครงการเที่ยวหารสอง โดย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย แจกคูปองส่วนลดครึ่งราคาที่พักเขื่อน กฟผ. จำนวน 10,000 สิทธิ์ สามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2563 และใช้สิทธิ์ได้ระหว่างวันที่    1 มกราคม ถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564 รวมมูลค่า 23 ล้านบาท

ทั้งนี้ แผนงานเฉพาะโครงการของขวัญปีใหม่สำหรับประชาชน ประจำปี 2564 ของกระทรวงพลังงาน คิดรวมเป็นมูลค่า ประมาณ 3,829 ล้านบาท

 

 

Advertisment

- Advertisment -.