จากวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน “พลังงานไฮโดรเจน” เป็นพลังงานทางเลือกที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลก คาดกันว่าไฮโดรเจนจะเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) ไปสู่การใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไฮโดรเจนมีการเผาไหม้ที่สะอาด ไม่ปล่อยมลพิษ เพราะมีเพียงไอน้ำเท่านั้นที่เป็นผลจากการเผาไหม้ ที่สำคัญ ไฮโดรเจนยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลากหลาย
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกได้วิจัยและพัฒนาการใช้งานไฮโดรเจนอย่างต่อเนื่อง เช่น ประเทศเยอรมนี เปิดให้บริการรถไฟพลังงานไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์เป็นแห่งแรกของโลก โดยรถไฟรุ่น Coradia iLint เพื่อลดการพึ่งพารถไฟดีเซล โดยรถไฟพลังงานไฮโดรเจนวิ่งได้ราว 1,000 กม. ต่อการเติมเชื้อเพลิงหนึ่งครั้ง และทำความเร็วได้สูงสุด 140 กม./ชม. ด้านประเทศฝรั่งเศส มีการผลิตจักรยานพลังงานไฮโดรเจนโดยบริษัท Pragma Industries และมีการใช้เรือพลังงานไฮโดรเจนในการขนส่งสินค้าเชิงพาณิชย์โดยบริษัท Compagnie Fluvial de Transport ส่วนประเทศญี่ปุ่น บริษัท Honda ได้ทดสอบ Data Center ที่ใช้พลังงานจากเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน และ บริษัท ISUZU ได้เริ่มทดสอบรถบรรทุกพลังงานไฮโดรเจนรุ่น ISUZU GIGA FUEL CELL บนนถนนจริง ก่อนวางแผนเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2027
ประเทศไทยก็มีศักยภาพในการนำเชื้อเพลิงไฮโดรเจนมาใช้เป็นกลไกสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใน 3 ภาคส่วนหลัก ได้แก่ 1) การใช้ในภาคพลังงานไฟฟ้า โดยนำไฮโดรเจนไปผสมกับก๊าซธรรมชาติในระบบท่อส่งก๊าซที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน 2) การใช้ในภาคพลังงานความร้อนสำหรับโรงงานอุตสาหกรรม โดยนำไฮโดรเจนไปผสมกับก๊าซธรรมชาติ หรือเผาร่วม (co-firing) เพื่อใช้ในรูปความร้อนในโรงงานอุตสาหกรรม และ 3) การใช้ในภาคการขนส่ง โดยการนำไฮโดรเจนไปใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell electric vehical, FCEV) ในกลุ่มรถบรรทุก รถโดยสารเดินทางระยะไกล และการขนส่งระบบราง (rail system)
ทั้งนี้ ภาครัฐมีนโยบายการพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานไฮโดรเจนของประเทศไทยที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ 4 ด้าน ประกอบด้วย 1) พัฒนาตลาดและสร้างแรงจูงใจให้กับผู้ใช้ 2) ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม 3) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และ 4) ปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรฐาน
โดยแนวทางพัฒนาและส่งเสริมการใช้พลังงานไฮโดรเจนของประเทศไทย แบ่งการดําเนินงานเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะสั้น (ภายในปี ค.ศ. 2030) ช่วงของการเตรียมความพร้อม วิจัย และพัฒนา
- จัดทำแผนพัฒนาตลาดผู้ใช้พลังงานทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว
- สนับสนุนการพัฒนาโครงการนำร่อง และสิทธิพิเศษเพื่อส่งเสริมการลงทุนโครงการพลังงานสะอาด
- สร้างความตระหนักถึงความจำเป็นและทิศทางการพัฒนาไฮโดรเจนสำหรับประเทศไทย
- สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาทั้งการผลิต การใช้งาน การขนส่ง การจัดเก็บ และอื่น ๆ ที่สอดคล้องกับบริบทของไทย
- ทบทวนการประเมินความเป็นไปได้ทางเทคนิคและการเงิน
- ประเมินผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นและศึกษาแนวทางการรับมือและบรรเทาผลกระทบต่าง ๆ
- จัดทำแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
- กำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบด้านความปลอดภัย การผลิต การจัดเก็บ การขนส่งทางรถและทางท่อ และการใช้งานไฮโดรเจนในเชิงพาณิชย์
ระยะกลาง (ค.ศ. 2031-2040) ช่วงเริ่มต้นพัฒนาตลาดผู้ใช้เชิงพาณิชย์ สร้างความสามารถในการแข่งขันให้ผู้ประกอบการในประเทศไทย
- พัฒนาตลาดสำหรับโรงงาน
- สนับสนุนเงินลงทุนในการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ให้กับผู้ประกอบการรองรับการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของเชื้อเพลิง
- ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้มีการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ หรือยานยนต์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ โดยให้น้ำหนักกับการพิจารณาค่า carbon footprint
- กำหนดโครงสร้างราคาที่ให้ส่วนลดกับเชื้อเพลิงที่มีค่า carbon footprint ต่ำและให้ส่วนเพิ่มกับเชื้อเพลิงที่มีค่า carbon footprint สูง
- มาตรการสนับสนุนการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง
- สนับสนุนการวิจัยและพัฒนาให้ผู้ประกอบการ
- พัฒนาระบบท่อรองรับการใช้เชื้อเพลิงผสม พร้อมสนับสนุนเงินลงทุนเพื่อปรับเปลี่ยนอุปกรณ์สำหรับกลุ่มผู้ใช้
- สนับสนุนการลงทุนสถานีเติมไฮโดรเจนรองรับยานยนต์ FCEV ในพื้นที่เป้าหมาย
- พัฒนาระบบรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน
- พัฒนาระบบติดตามเฝ้าระวังด้านความปลอดภัย
- พัฒนาศักยภาพบุคลากรและเครือข่ายความร่วมมือระหว่างภาคธุรกิจและสถาบันการศึกษาทั้งในและต่างประเทศ
ระยะยาว (ค.ศ. 2041-2050) ช่วงของการสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของตลาดอย่างยั่งยืน มุ่งสู่ Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ขยายโครงสร้างพื้นฐานรองรับตลาดใหม่
- ลดระดับการอุดหนุนจากภาครัฐ และปรับเปลี่ยนมาใช้กลไกตลาด
- กำหนดโครงสร้างราคาที่ให้ส่วนลดกับเชื้อเพลิงที่มีค่า carbon footprint ต่ำ และให้ส่วนเพิ่มกับเชื้อเพลิงที่มีค่า carbon footprint สูง
- พัฒนาตลาดและกลไกซื้อขายคาร์บอน รวมถึงกลไกอื่น ๆ เช่น ภาษีคาร์บอน
- พัฒนาช่องทางการเข้าถึงตลาดการซื้อขายคาร์บอน เช่น Platform รองรับตลาดซื้อขายคาร์บอนเชิงพาณิชย์
- ขยายพื้นที่ให้บริการระบบท่อสำหรับการใช้เชื้อเพลิงผสม และเพิ่มสัดส่วนการผสมไฮโดรเจนไปจนถึงเป้าหมายที่ระดับร้อยละ 20 โดยปริมาตร
- ขยายพื้นที่ให้บริการสถานีเติมไฮโดรเจนเพื่อรองรับตลาดรถยนต์ FCEV ประเภทอื่น ๆ นอกเหนือจากกลุ่มรถบรรทุก (heavy duty) เช่น ยานยนต์ขนาดเล็ก (light duty vehicle) และยานยนต์ประเภทอื่น ๆ
- พัฒนาตลาดใหม่สำหรับกลุ่มผู้ใช้ไฮโดรเจน โดยเฉพาะการใช้ในระบบจัดการพลังงานแบบกระจายศูนย์

เป็นที่คาดหวังว่านโยบายและแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาและส่งเสริมการใช้ไฮโดรเจนดังที่กล่าวมา จะกระตุ้นให้เกิดอุปสงค์และอุปทานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาอุตสาหกรรมไฮโดรเจนภายในประเทศ และเป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนการลดคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ของประเทศไทยในอนาคต
ข้อมูลจาก
– สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน
– สถาบันนวัตกรรม ปตท.