เขียนเล่าข่าว : อุตสาหกรรมปิโตรเคมียุคใหม่ ก้าวข้ามความท้าทายสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

73
- Advertisment-

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของผู้คนทั่วโลก เนื่องจากได้สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์มากมายที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกและอยู่รอบตัวในชีวิตประจำวันของพวกเรา ไม่ว่าจะเป็น เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องสำอาง จาน ชาม ช้อนส้อม โต๊ะ เก้าอี้ คอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนรถยนต์ ยางรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า วัสดุก่อสร้าง และยารักษาโรค เป็นต้น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี จึงมีความสำคัญและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล

อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปิโตรเคมีกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน ทั้งภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งส่งผลให้กำลังซื้อลดลง ราคาพลังงานผันผวนที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนวัตถุดิบ ค่าขนส่ง และกำไร ต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมือง ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงนโยบายการขึ้นภาษีของสหรัฐอเมริกาที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการซื้อขาย (Trade Flow Relocation) อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นทุนต่ำ ยังส่งผลให้สินค้าล้นตลาดและราคาผันผวน ทำให้การแข่งขันในเวทีโลกมีความรุนแรงยิ่งขึ้น นอกจากนั้น ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) และปัญหาการจัดการขยะพลาสติก ยังเป็นวิกฤตการณ์ที่ต้องได้รับการดูแลแก้ไขอย่างเร่งด่วน

อุตสาหกรรมปิโตรเคมียุคใหม่จึงเร่งปรับตัวเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ประกอบกับแนวโน้มในอนาคต โลกจะมีการออกหลักเกณฑ์ที่ใช้ประเมินความยั่งยืนขององค์กรออกมามากขึ้น โดยพิจารณาจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล หรือ ESG (Environmental, Social and Governance) ดังนั้น นอกจากจะต้องเร่งสร้างนวัตกรรมใหม่เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและรองรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกแล้ว ปัจจุบันอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินการเพื่อ “ความยั่งยืน” (Sustainability) โดยเฉพาะการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทานเพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืนดังกล่าว โดยการนำแนวคิด “เศรษฐกิจหมุนเวียน” หรือ Circular Economy มาใช้ เพื่อให้เกิดวงจรการหมุนวนในระบบการผลิต นำทรัพยากรมารีไซเคิลเป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะช่วยให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดปริมาณของเสียและขยะจากการดำเนินงาน ลดการบริโภควัตถุดิบ ทำให้ใช้พลังงานน้อยลง ซึ่งจะลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายขององค์กรลงอีกด้วย ซึ่งประเด็นเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีให้มีโอกาสทำผลกำไรต่อเนื่องในระยะยาว และสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

- Advertisment -

นอกจากนี้ การดำเนินงานลักษณะดังกล่าวจะช่วยให้องค์กรเข้าถึงทรัพยากรต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะมีภาพลักษณ์และการดำเนินงานที่ดีร่วมกับชุมชนและหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และจะเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ เช่น Green Finance ได้

สำหรับอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เป็นอุตสาหกรรมที่ใช้วัตถุดิบจากแหล่งสำคัญ คือ ก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ ถ่านหิน แร่ธาตุต่าง ๆ พืชผลทางการเกษตร และไขมันจากสัตว์ โดยอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของไทยส่วนใหญ่จะใช้น้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ หรือที่เรียกว่า “ปิโตรเลียม” เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิต

ผลผลิตที่ได้จากปิโตรเคมีขั้นต้น ได้แก่ เอทิลีน (Ethylene) โพรพิลีน (Propylene) บิวทาไดอีน (Butadiene) C4 ผสม (Mixed C4) เบนซีน (Benzene) โทลูอีน (Toluene) และ ไซลีน (Xylene) ซึ่งผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นทั้ง 7 ชนิดนี้ เป็นพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี เพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีอื่นๆ จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการปิโตรเคมีขั้นกลาง คือการนำผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นต้นตั้งแต่หนึ่งชนิดขึ้นไปมาผลิตต่อ โดยผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นกลางที่สำคัญ เช่น ไวนิลคลอไรด์ (Vinyl Chloride) และสไตรีน (Styrene) เป็นต้น

จากนั้นจะเข้าสู่กระบวนการปิโตรเคมีขั้นปลาย คือการนำปิโตรเคมีขั้นกลางมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น เม็ดพลาสติก (Plastic Resins) เพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องอย่างบรรจุภัณฑ์ ยานยนต์ วัสดุก่อสร้าง และเครื่องอุปโภคบริโภค เป็นต้น หรือผลิตเป็นเส้นใยสังเคราะห์ (Synthetic Fibres) เช่น เส้นใยโพลีเอสเทอร์ (Polyester) เส้นใยโพลีอะไมด์ (Polyamide Fiber/Nylon Fiber) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง อาทิ สิ่งทอ และบรรจุภัณฑ์  นอกจากนั้น ยังสามารถนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ยางสังเคราะห์ (Synthetic Rubber/Elastomers) เช่น ยางสไตรีนบิวตาไดอีน (SBR) ยางบิวตาไดอีน (BR) ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำพวกชิ้นส่วนยานยนต์ ยางรถยนต์ และเครื่องอุปโภคบริโภค ตลอดจนสามารถผลิตเป็นสารเคลือบผิวและกาว (Synthetic Coating and Adhesive Materials) เช่น โพลีคาร์บอเนต (Polycarbonate) และโพลีไวนีลอะซีเตต (Polyvinyl-Acetate) เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบและสารประกอบในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงภาคการก่อสร้าง ได้อีกด้วย

การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้สร้างคุณค่าให้กับประเทศไทยอย่างมหาศาล โดยนับตั้งแต่การผลิตปิโตรเลียม ได้เกิดมูลค่าการลงทุนมากถึงราว 1.25 ล้านล้านบาท และในช่วงของการผลิตปิโตรเคมีต้นน้ำและกลางน้ำ ก็เกิดการสร้างรายได้ถึง 836,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.2% ของ GDP ประเทศไทย รวมถึงเกิดการสร้างงานถึง 414,000 คน ส่วนในช่วงปิโตรเคมีขั้นปลายน้ำ ก็เกิดผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) มากกว่า 3,000 ราย รวมถึงสร้างมูลค่าการส่งออกได้ถึง 486,000 ล้านบาท คิดเป็น 5.7% ของการส่งออกทั้งหมด นอกจากนี้ จ.ระยอง ที่ตั้งหลักของอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ยังเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนครองแชมป์อันดับ 1 ของประเทศ ที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) สูงสุดของประเทศมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย (ข้อมูลจากสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย PTIT ณ ปี 2021 ยกเว้นมูลค่าการลงทุน ปี 1990–2021)

แม้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีในปัจจุบันจะต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายมิติ แต่ก็ยังถือว่าเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตต่อไปได้ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วโลก นักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ชี้ว่า ราคาหุ้นในกลุ่มปิโตรเคมีมีแนวโน้มฟื้นตัวไปพร้อมกับเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 4 ของปี 2568 นี้ สะท้อนให้เห็นว่าปิโตรเคมียังเป็นอุตสาหกรรมหลักในการพัฒนาและหล่อเลี้ยงประเทศไทย ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน ตลอดจนเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจของประเทศได้เติบโตอย่างมั่นคง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องตั้งรับและปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่อุตสาหกรรมปิโตรเคมียุคใหม่ เพื่อความอยู่รอดและมั่นคงของธุรกิจ และนำพาประเทศไทยเดินหน้าบรรลุเป้าหมายของการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงและเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ได้

Advertisment