หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงาน สถานการณ์ตลาดน้ำมัน ประจำสัปดาห์วันที่ 21-25 ก.ค. 68 และแนวโน้มในสัปดาห์วันที่ 28 ก.ค.- 1 ส.ค. 68 โดยระบุว่าราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบแคบๆ และตลาดยังจับตาความเคลื่อนไหวการเจรจามาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ กับประเทศคู่ค้าต่าง ๆ

Fed รายงานว่าภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ อยู่ในระดับกลางถึงอ่อนแอเล็กน้อยจากภาษีนำเข้าที่สูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยบางธุรกิจเริ่มพิจารณาขึ้นราคาสินค้า เลื่อนการจ้างงานหรือปลดพนักงานและมียอดคำสั่งซื้อที่ชะลอตัว ขณะที่ธุรกิจขนาดเล็กบางรายชะลอการเปิดกิจการ อย่างไรก็ดี มีบางธุรกิจวางแผนย้ายฐานการผลิตกลับเข้ามาในประเทศ (Reshoring)
กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ (Bureau of Labor Statistics: BLS) รายงานว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) ซึ่งบ่งชี้อัตราเงินเฟ้อในเดือน มิ.ย. 68 อยู่ที่ +2.7% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า สูงสุดนับตั้งแต่เดือน ม.ค. 68 เนื่องจากผลกระทบมาตรการกำแพงภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ทำให้ราคาสินค้าบางชนิดเพิ่มขึ้น อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์
17 ก.ค. 68 ทางการของเคอร์ดิสถานรายงานว่าเกิดเหตุโดรนโจมตีแหล่งผลิตน้ำมัน Tawke (90,000 บาร์เรลต่อวัน) และ Peshkabour (60,000 บาร์เรลต่อวัน) ของบริษัทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ DNO ของนอร์เวย์ ทางเหนือของอิรักอย่างต่อเนื่องจนเกิดเหตุระเบิด ส่งผลให้การผลิตน้ำมันดิบในเคอร์ดิสถานลดลง 140,000 – 150,000 บาร์เรลต่อวัน จากปริมาณรวม 285,000 บาร์เรลต่อวัน
18 ก.ค. 68 สหภาพยุโรป (European Union: EU) อนุมัติมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งที่ 18 อาทิ จำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียให้อยู่ที่ต่ำกว่าราคาตลาด 15% มีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ก.ย. 68 (เดิมจำกัดที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล), ห้ามนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นจากน้ำมันดิบของรัสเซีย โดยมีระยะเปลี่ยนผ่าน 6 เดือน, เข้มงวดในการสกัดกองเรือเงาขนส่งน้ำมันรัสเซียและห้ามทำธุรกรรมกับสถาบันการเงินและกองทุนของรัสเซีย เป็นต้น