- Advertisment-

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ประเมินแนวโน้มธุรกิจช่วงที่เหลือ ปี 2568 ชี้ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยทั้งปี อยู่ที่ 65-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคา LNG อยู่ที่ 4-4.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู คาดปริมาณการขายกลุ่มธุรกิจก๊าซฯ-ไฟฟ้า-น้ำมัน ยังเติบโตตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่ราคาขายอาจลดลง ด้านธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ยังได้รับแรงกดดันจากซัพพลายที่เพิ่มขึ้น พร้อมตั้งวอร์รูมรับมือเศรษฐกิจถดถอย งัดแผนคุมรายจ่าย ลดต้นทุน รักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี

น.ส.จิตรเรขา พึ่งพักตร์ ผู้จัดการส่วนผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT เปิดเผยในงาน Oppday Q1/2025 PTT วันที่ 23 พ.ค.2568 โดยระบุว่า ปตท. ได้ประเมินแนวโน้มธุรกิจในช่วงที่เหลือของปี 2568 เริ่มจากข้อมูลของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ที่คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลก (GDP) ในปี 2568 ว่าจะขยายตัว 2.8% เพิ่มขึ้นจากปี 2567 ที่เติบโต 3.3% เนื่องจากสหรัฐฯ ระงับการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ประเทศคู่ค้าเป็นเวลา 90 วัน ทำให้ประเทศต่างๆ คลายความกังวลลงและมีเวลาเจรจาต่อรอง ขณะที่การค้าการส่งออกโลกในระยะสั้นยังดีอยู่ เนื่องจากหลายประเทศจะเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษี ตลอดจนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของธนาคารกลางประเทศต่างๆ ที่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง เช่น นโยบายของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้การค้าของจีนและสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะกดดันเศรษฐกิจโลกต่อไปซึ่งต้องจับตาดู

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2568 IMF คาดว่า จะเติบโต 1.8% จากปี 2567 ที่เติบโต 2.5% เนื่องจากการส่งออกที่เพิ่มขึ้น แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อลดลง ตลอดจนการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ยังต้องระวังผลกระทบมาตรการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ที่อาจจะรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 นี้ รวมถึงสินค้านำเข้าที่จะเข้ามาแข่งขันมากขึ้น และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นก็จะกดดันเศรษฐกิจไทยด้วย

- Advertisment -

ส่วนราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาด Henry Hub คาดว่า จะปรับเพิ่มขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ส่งออก LNG เพิ่มขึ้นทำให้ซัพพลายในประเทศลดลง ประกอบกับอุปสงค์ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นด้วย คาดว่าจะอยู่ที่ 4-4.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดว่าจะอ่อนตัวลงโดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65-75 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล จากความตรึงเครียดด้านนโยบายตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และคาดการณ์โอเปกพลัสน่าจะขยายกำลังการผลิตน้ำมันเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือน พ.ค. 2568 เป็นต้นไป รวมถึงอุปทานจากกลุ่ม Non-OPEC ที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าการกลั่น (GRM) ตลาดสิงคโปร์ จะอ่อนตัวลงเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7-4.7 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์ (สเปรด) ของกลุ่มโรงกลั่น โดยเฉพาะเบนซินและดีเซล ที่มีซัพพลายจากการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่นใหม่

ด้านผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ยังคงได้รับแรงกดดันเนื่องจากดีมานด์ของผลิตภัณฑ์ปลายทางยังฟื้นตัวช้า ประกอบกับมีแรงกดดันจากซัพพลายใหม่ๆ โดยเฉพาะในจีน ที่ทยอยเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง และความตึงเครียดจากมาตรการด้านภาษี

สำหรับทิศทางการดำเนินงานของกลุ่ม ปตท. ในปี2568 ในส่วนของธุรกิจ Upstream อย่างธุรกิจสำรวจและผลิต (E&P) ของ ปตท.สผ. คาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยจะปรับเพิ่มขึ้น ตามปริมาณการขายในประเทศหลังโครงการเอราวัณผลิตก๊าซฯ ได้เพิ่มขึ้น และการเข้าซื้อสัดส่วนในโครงการสินภูฮ่อมเพิ่มเติม รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตของโครงการอาทิตย์ในช่วงเดือน มิ.ย. 2568 นี้ ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยของ ปตท.สผ. คาดว่าจะยังรักษาให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ อย่างไรก็ตามคาดว่าราคาเฉลี่ยจะปรับลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและก๊าซฯ ในตลาดโลก

ด้านธุรกิจก๊าซฯ คาดว่ากำลังการผลิตจะฟื้นตัวตามปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้นและการปรับเพิ่มปริมาณการขายให้กับลูกค้า ขณะที่ปริมาณจองท่อฯ และ LNG terminal ก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการในประเทศ แต่ก็ยังมีสิ่งที่น่ากังวลจากผลกระทบของการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯ และการนำเข้า LNG ของ Shipper รายใหม่ที่จะส่งผลต่อปริมาณการขายก๊าซฯ

ส่วนของธุรกิจ Downstream อย่างธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น (P&R) คาดว่าธุรกิจปิโตรเคมีจะมีซัพพลายใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ขณะที่ดีมานด์ที่อ่อนแอก็น่าจะกดดันราคา ด้านธุรกิจการกลั่นจะยังได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าการกลั่น (GRM) ปรับตัวลดลง และมีปัญหาขาดทุนสต็อก (Stock loss) เพิ่มขึ้น

ด้านธุรกิจน้ำมัน คาดว่าปริมาณการขายจะปรับเพิ่มขึ้นตาม GDP ที่คาดว่าจะขยายตัว ส่วนธุรกิจไฟฟ้า คาดว่าความต้องการใช้ในประเทศน่าจะฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น และมาร์จิ้นมีแนวโน้มดีขึ้นจากราคาถ่านหินผลิตไฟฟ้าที่มีแนวโน้มลดลง และธุรกิจ Life science คาดว่าจะรักษาการเติบโตจากการขายผลิตภัณฑ์ยาได้จากการจำหน่ายในตลาดเอเชียและสหรัฐฯ

นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจ รวมถึงโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย จากนโยบายตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ประกอบกับโอเปกพลัสกำลังพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตหรือไม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกดดันราคาน้ำมันให้ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม ปตท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้มีการจัดตั้งวอร์รูม เตรียมแผนรับมือเศรษฐกิจถดถอยไว้แล้ว

นอกจากนี้ ปตท. ยังเตรียมการรับมือด้วยการเตรียมกระแสเงินสดและสภาพคล่องให้เพียงพอ ซึ่งจากการดำเนินโครงการต่างๆ ดังกล่าว จะช่วยสร้างผลกำไรและผลการดำเนินงานของปตท.ให้เติบโตตามเป้าหมาย และพยุงผลประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดีแม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะผันผวน โดยในปี 2568 ปตท. ตั้งงบลงทุนในส่วนของ ปตท. ไว้ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยจะมุ่งลงทุนธุรกิจก๊าซฯ และธุรกิจที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ทั้งธุรกิจท่อส่งก๊าซฯ และธุรกิจก๊าซฯ อย่างไรก็ตาม ปตท.ยังมีนโยบายที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายและแสวงหาโอกาสเพื่อทำกำไรในสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความผันผวน

Advertisment