ไทย-กัมพูชา กระชับความร่วมมือพัฒนาความมั่นคงพลังงานแหล่ง OCA

529
- Advertisment-

ไทย-กัมพูชา ตกลงกระชับความร่วมมือด้านความมั่นคงพลังงาน แหล่งพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา (Overlapping Claimed Area-OCA)

วันนี้ 7 ก.พ. 2567  นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีราชอาณาจักรกัมพูชา ได้พบปะหารือและแถลงข่าวร่วมกัน ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีการหารือกันในหลายด้าน โดยเรื่องที่ได้รับความสนใจมากคือ การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลบริเวณไหล่ทวีประหว่างไทยและกัมพูชา (Overlapping Claimed Area-OCA)

นายเศรษฐา กล่าวว่า ไทยและกัมพูชามุ่งมั่นในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศในหลายด้าน  โดยสำหรับในด้านการพัฒนาพื้นที่ชายแดนนั้น ทั้งสองฝ่ายได้หารือและตกลงที่จะกระชับความร่วมมือในด้านความมั่นคงทางพลังงาน โดยมีการตกลงที่จะหารือเพิ่มเติมเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันจากทรัพยากรไฮโดรคาร์บอนในพื้นที่ที่เรียกว่าพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างทั้งสองประเทศ  อย่างไรก็ตามทั้งสองประเทศยืนยันที่จะพบปะและหารือระหว่างกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระชับความร่วมมือให้ใกล้ชิดต่อไป

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า ก่อนหน้านี้ นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.(PTTEP) ระบุว่าหากทั้งสองประเทศสามารถตกลงร่วมกันได้ ทาง ปตท.สผ. ก็พร้อมจะเข้าไปมีส่วนร่วมในการพัฒนา แต่ขึ้นอยู่กับภาครัฐว่าจะมองวิธีการพัฒนาในรูปแบบใด หรือ หากรัฐจะเลือกรูปแบบการเปิดประมูล ปตท.สผ. ก็พร้อมที่จะเข้าร่วม อย่างไรก็ตามในส่วนของ บริษัทฯ ก็มีโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) ในพื้นที่อ่าวไทยที่ตั้งอยู่ใกล้กับแหล่งปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนดังกล่าวอยู่แล้ว

“ตอนพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) เกิดขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน ก็เกิดจากแนวคิดที่บอกว่า  We Agree to Disagree คือ ตกลงว่าจะไม่ตกลงกันด้วยเส้นเขตแดน แล้วจึงเดินหน้าพัฒนาร่วมกัน ก็หวังว่า การเจรจาระหว่างไทยกับกัมพูชาครั้งนี้ จะเกิดขึ้นในรูปแบบนั้นเช่นกัน”

สำหรับการพัฒนาปิโตรเลียมในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้น ถือเป็นพื้นที่ ที่ยังไม่มีการสำรวจชัดเจน ไม่มีการสำรวจวัดคลื่นไหวสะเทือน (Seismic Survey) รวมถึงยังไม่มีการเจาะหลุมสำรวจฯ เป็นเพียงการคาดเดาว่าน่าจะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพด้านปิโตรเลียม เนื่องจากพื้นที่ด้านล่างดูแล้วมีลักษณะโครงสร้างที่ต่อเนื่องจากแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย เช่น แหล่งเอราวัณ และบงกช จึงน่าจะมีศักยภาพ แต่อย่างไรก็ตาม ก็ต้องมีการสำรวจพื้นที่ให้เกิดความชัดเจน ไม่ว่าใครจะเป็นผู้ได้รับสัมปทานหรือได้สิทธิเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าวก็ตาม

ทั้งนี้ หากตกลงกันได้จริง เชื่อว่าจะนำไปสู่การพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างรวดเร็วขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียมในปัจจุบันก้าวหน้าไปมาก คาดว่าจะใช้เวลาสำรวจและผลิตก๊าซฯได้ภายใน 5 ปี จากอดีตที่ต้องใช้เวลาประมาณ 9 ปี ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับทั้งสองประเทศ

Advertisment