โหมโรง4ผู้ประกอบการไทยคว้ารางวัล ASEAN Energy Awards 2018 ที่สิงคโปร์

1667
- Advertisment-

รู้จัก4ผู้ประกอบการไทย จาก21ราย ที่คว้ารางวัล ASEAN  Energy Awards 2018 ที่สิงคโปร์  ทั้ง พิจิตรไบโอเพาเวอร์  สงวนวงษ์ เอ็นเนอร์ยี  เคทิส ไบโอเอทานอล และ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี  ตอกย้ำศักยภาพของผู้ประกอบการไทยในเวทีอาเซียน

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center –ENC ) รายงานว่า ในช่วงค่ำวันที่28ต.ค. 2561 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ได้เปิดตัวแนะนำ 4 ผู้ประกอบการที่คว้ารางวัล ASEAN  Energy Awards  2018 ที่สิงคโปร์  ให้สื่อมวลชนที่ร่วมเดินทางมาทำข่าวได้รู้จัก เป็นการเบื้องต้น  ก่อนที่จะมีพิธีมอบรางวัลอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 29 ต.ค.2561 โดยในปีนี้ ผู้ประกอบการไทยสามารถคว้ารางวัลด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานในเวที ดังกล่าวรวม 21 ผลงานจากการส่งเข้าประกวดทั้งสิ้น 25 ผลงาน ซึ่งถือว่ามากที่สุดในประเทศกลุ่มอาเซียน

เริ่มจาก นายบรรจง ตั้งจิตรวัฒนากุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พิจิตรไบโอเพาเวอร์ จำกัด (บนซ้าย ) ซึ่งเป็นเจ้าของ โครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล พิจิตร ไบโอเพาเวอร์ ที่ใช้แกลบ และไม้สับเป็นเชื้อเพลิง ซึ่งได้รับรางวัลชนะเลิศ ด้านพลังงานทดแทน On-Grid (National Grid) Category

- Advertisment -

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าว ใช้แกลบที่เหลือจากโรงสีข้าวในพื้นที่มาใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับผลิตกระแสไฟฟ้าจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กำลังการผลิตรวม 9.8 เมกะวัตต์ (ใช้แถลบประมาณ230 -250 ตันต่อวัน) ซึ่งนอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งแกลบออกนอกพื้นที่ ยังสามารถสร้างรายได้และผลกำไรให้แก่โรงไฟฟ้าและกลุ่มบริษัท

โครงการของโรงไฟฟ้าชีวมวล พิจิตร ไบโอเพาเวอร์ นั้นใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยจากประเทศเยอรมนี ไทย และญี่ปุ่นที่ ออกแบบโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของชุมชน  ซึ่งมีการนำ น้ำจากหม้อไอน้ำและหอหล่อเย็นมาใช้ในระบบลำเลียงขี้เถ้าแบบเปียกเพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองและรดต้นไม้ในโรงงาน นอกจากนี้ยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้ขี้เถ้าแกลบดำ ซึ่งเป็นผลพลอยได้ (by-product) จากกระบวนการผลิตไฟฟ้าโดยการนำไปใช้เป็นสารปรับปรุงดินและพัฒนาเป็นอิฐมวลเบา

โดยในปี 2560 โครงการใช้เชื้อเพลิงแกลบมากกว่า 87,000 ตัน ในการผลิตไฟฟ้า 70 GWh โดยแบ่งใช้เองภายในโรงไฟฟ้า 1.4 GWh และจำหน่ายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) 68.6 GWh สร้างรายได้ให้แก่โรงไฟฟ้ามากกว่า 311 ล้านบาทต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 39,648 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ โครงการใช้เงินลงทุนประมาณ 680 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนการลงทุน IRR 12-13 % และมีระยะเวลาคืนทุนประมาณ 7-8 ปี

ส่วน นางโชติมา ลีอังกูร กรรมการผู้จัดการ  บริษัท สงวนวงษ์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด(บนขวา) เจ้าของ โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ซึ่งได้รับรางวัล ชนะเลิศ ประเภทโครงการพลังความร้อนร่วม ให้ข้อมูลว่า โครงการดังกล่าวผลิตไฟฟ้าและไอน้ำจากก๊าซชีวภาพที่ผลิตจากของเสีย/น้ำเสียจากกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังของโรงงานแป้งมันสำปะหลัง (บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทแม่) มาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซชีวภาพและส่งกลับไปให้บริษัทแม่ใช้เป็นพลังงานความร้อนในกระบวนการผลิตแป้งมันสำปะหลังในกรณีที่ก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียของบริษัทแม่ไม่เพียงพอใช้งาน (บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม ผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสียเพื่อใช้งานทดแทนน้ำมันเตาอยู่แล้วเป็นส่วนใหญ่) เสริมการผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ทดแทนน้ำมันเตาในภาพรวมได้ 100% โดยสามารถทดแทนการใช้น้ำมันเตาในส่วนที่โรงงานรับผิดชอบประมาณ 3.2 ล้านลิตรต่อปี และยังมีปริมาณเหลือพอส่งไปผลิตไฟฟ้าจำหน่ายให้แก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) สร้างรายได้หลักให้บริษัท สงวนวงษ์ เอ็นเนอร์ยี จำกัด ปีละกว่า 100 ล้านบาท

นอกจากการผลิตก๊าซชีวภาพและไฟฟ้า โครงการยังออกแบบให้การใช้พลังงานมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าสูงสุด โดยนำไอเสียและความร้อนส่วนเกินจากเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากลับมาใช้ประโยชน์ในการผลิตไอน้ำและน้ำเย็นแทนการใช้ก๊าซชีวภาพและไฟฟ้า ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายด้านพลังงานลดลงและยังมีผลกำไรเพิ่มขึ้นด้วย

สำหรับ นายพิพัฒน์ สุทธิวิเศษศักดิ์ กรรมการบริษัทเคทิส ไบโอเอทานอล จำกัด เจ้าของโครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากน้ำเสีย  ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง ด้านพลังงานทดแทน Off-Grid (Power) Category ให้ข้อมูลว่า

บริษัทเคทิส ไบโอเอทานอล นั้น ดำเนินธุรกิจโรงงานผลิตเอทานอล ที่มีน้ำเสียเกิดขึ้นจากกระบวนการผลิต 660,000 ลูกบาศก์เมตรต่อปี ซึ่งที่ผ่านมาก่อปัญหาด้านกลิ่นและความสกปรก การรั่วไหลของน้ำเสีย ฝุ่นละออง และปัญหาจากการขนส่ง รวมทั้งสร้างภาระค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการและรับผิดชอบดูแล จึงมีแนวคิดนำน้ำเสียดังกล่าวกลับมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้ในการผลิตไอน้ำและไฟฟ้าเพื่อใช้เป็นพลังงานในกระบวนการผลิตของโรงงานเอทานอลในรูปแบบพลังงานความร้อนร่วม ซึ่งนอกจากช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านการบริหารจัดการน้ำเสีย การใช้ก๊าซชีวภาพและพลังงานที่ผลิตได้จากก๊าซชีวภาพทดแทนถ่านหินและไฟฟ้ายังช่วยลดต้นทุนการผลิตเอทานอล ทำให้บริษัทมีผลกำไรเพิ่มขึ้น

โครงการดังกล่าวสามารถผลิตก๊าซชีวภาพได้ปีละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร ใช้ทั้งหมด (100%) เป็นเชื้อเพลิงสำหรับหม้อไอน้ำร่วมกับถ่านหินเพื่อผลิตไอน้ำและไฟฟ้านำกลับมาใช้ประโยชน์ในกระบวนการผลิตของโรงงานผลิตเอทานอล โดยผลิตไอน้ำแรงดันสูง ประมาณ 200,000 ตัน แบ่งส่วนหนึ่ง ประมาณ 160,000 ตัน ไปผลิตไฟฟ้าได้ปีละ 7,360 MWh นำกลับมาใช้ประโยชน์ในโรงงานผลิตเอทานอล ไอน้ำอีกส่วนหนึ่งนำไปผ่านวาล์วลดแรงดันนำไปใช้ในการกลั่นเอทานอลเกรดเชื้อเพลิง นอกจากนี้ยังนำไอเสียที่ออกจากกังหันไอน้ำของเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากลับมาใช้ในการกลั่นเอทานอลเกรดอุตสาหกรรมและต้มฆ่าเชื้อสำหรับระบบหมักแทนการใช้ไฟฟ้า ไอน้ำและไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโครงการสามารถใช้ทดแทนการใช้ถ่านหินได้ 14,200 ตันต่อปี และทดแทนการใช้ไฟฟ้าจากสายส่งได้ 7,360 MWh ต่อปี เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณปีละ 290,725 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ รวมมูลค่าพลังงานที่บริษัทประหยัดได้มากกว่า 48 ล้านบาทต่อปี

โครงการมีมูลค่าการลงทุนรวม 117 ล้านบาท ต้นทุนดำเนินการและซ่อมบำรุงปีละ 6.8 ล้านบาท และไม่มีต้นทุนวัตถุดิบ จึงมี IRR สูงถึง 34% และมีระยะเวลาคืนทุนเพียง 3 ปี

ปิดท้ายด้วย นาย วิศิษฐ์ ใจมั่น ผู้แทนจาก โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี ที่ได้รับรางวัล รองชนะเลิศอันดับสอง ประเภทอาคารควบคุม Large Building Category ให้ข้อมูลว่า ด้านการอนุรักษ์พลังงานนั้น โรงเรียนได้ดำเนินการ ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์ เปลี่ยนเครื่องปรับอากาศที่ใช้งานมากว่า 15 ปี และเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าเป็นหลอด LED ทำให้สามารถลดการใช้พลังงานภายในโรงเรียนได้  635,488 kWh/ปี  ส่วนด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม โรงเรียนมีการดำเนินมาตรการอนุรักษ์น้ำ โดยการนำน้ำเสียที่ออกจากตัวอาคารต่างๆ มาเก็บไว้ภายในบ่อพักน้ำของโรงเรียน และบำบัดน้ำด้วยเครื่องตีน้ำเติมอากาศ เติมน้ำหมัก EM และ EM Ball เพื่อให้คุณภาพน้ำดีขึ้น จากนั้นจึงนำน้ำที่บำบัดกลับมาใช้รดน้ำต้นไม้รอบบริเวณโรงเรียน สนามบอล และยังมีการต่อยอดนำน้ำที่บำบัดแล้วนั้น มาผ่านเครื่องกรองเพื่อบำบัดน้ำอีกครั้งหนึ่ง เพื่อกำจัดตะกอน สีและกลิ่นของน้ำ เพื่อนำน้ำนั้นกลับมาใช้ภายในชักโครก และโถปัสสาวะ นอกจากนี้ยังนำน้ำมันที่ใช้แล้วจากโรงอาหารของโรงเรียน รวมทั้งได้รับบริจาคจากนักเรียนและผู้ปกครอง นำมาผ่านกระบวนการผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซล และนำมาใช้งานกับรถบรรทุกของโรงเรียนโดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมัน และเศษอาหารที่เหลือจากโรงอาหารของโรงเรียน นำมาหมักเป็นก๊าซชีวมวล ไปใช้ในกระบวนการผลิตน้ำมันไบโอดีเซล ลดต้นทุนในการซื้อก๊าซ LPG

นี่เป็นแค่เพียงตัวอย่างของผู้ประกอบการ4 รายที่ได้รับรางวัล ASEAN  Energy Awards  2018 ที่สิงคโปร์ ที่ทาง พพ.เลือกมาแนะนำให้รู้จักเท่านั้น  ซึ่งช่วยทำให้เราได้เห็นว่า ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบการภาคเอกชนไทย มีความมุ่งมั่นเอาจริงเอาจังในเรื่องของการส่งเสริมพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน โดยมีรางวัลในเวทีระดับอาเซียน เป็นสิ่งที่การันตี

Advertisment