โซลาร์ภาคประชาชนปี 65 หลุดเป้า ครัวเรือนร่วมโครงการไม่ถึง 2 เมกะวัตต์จากเป้าหมาย 10 เมกะวัตต์

1194
N4431
- Advertisment-

โครงการโซลาร์ภาคประชาชน 10 เมกะวัตต์ หลุดเป้าหมาย มีผู้ร่วมโครงการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบเพียง 1.37 เมกะวัตต์ จาก 248 ราย นับตั้งแต่เปิดโครงการเมื่อเดือน พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา โดยส่วนใหญ่เป็นบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑลที่เข้าร่วมโครงการ  ส่วนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร รวม  10 เมกะวัตต์ ไม่ถึงเป้าหมายเช่นกัน มีการเสนอขายไฟฟ้ารวม 0.8 เมกะวัตต์ จากผู้เข้าร่วม 7 ราย

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานความคืบหน้าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนว่า หลังจากภาครัฐได้เปิดโครงการโซลาร์ภาคประชาชน ประจำปี 2565 โดยเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 10 เมกะวัตต์ มาตั้งแต่ประมาณเดือน พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ล่าสุด (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ต.ค. 2565) จากการตรวจสอบการยื่นขอเข้าร่วมโครงการและการผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ทั้งในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) พบว่ามียอดผู้เข้าร่วมโครงการ 248 ราย รวมปริมาณไฟฟ้า 1.37 เมกะวัตต์ ต่ำกว่าเป้าหมายรับซื้อที่ 10 เมกะวัตต์เป็นอย่างมาก

ทั้งนี้เมื่อพิจารณาแยกการรับซื้อไฟฟ้าในส่วนของ PEA เป้าหมาย 5 เมกะวัตต์ และ กฟน. อีก 5 เมกะวัตต์ จะพบว่า PEA มีผู้เข้าร่วมโครงการ 81 ราย รวมปริมาณไฟฟ้า 0.44 เมกะวัตต์  ส่วน กฟน. มีผู้ร่วมโครงการ 167 ราย  รวมปริมาณไฟฟ้า 0.92 เมกะวัตต์

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามโครงการโซลาร์ภาคประชาชนรอบแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2562 เปิดรับซื้อ 100 เมกะวัตต์  และรอบ 2 ปี 2563 จำนวน 100 เมกะวัตต์ แต่มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่ถึงเป้าหมาย  โดยรวมทั้ง 2 รอบมีประชาชนสมัครรวมประมาณกว่า 400 ราย รวมกำลังการผลิตเพียง 3-4 เมกะวัตต์ เท่านั้น เนื่องจากราคารับซื้อเดิมไม่จูงใจมากนักเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย ดังนั้นการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนในรอบที่ 3 ปี 2564  จึงปรับราคารับซื้อเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย และให้ผู้ร่วมโครงการฯ ที่เคยได้รับราคารับซื้อไฟฟ้า 1.68 บาทต่อหน่วยได้ปรับราคารับซื้อขึ้นเป็น 2.20 บาทต่อหน่วยแบบอัตโนมัติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2564 เป็นต้นไป โดยรับซื้อรวมลดลงเหลือ 50  เมกะวัตต์

และการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน ปี 2565 นี้ถือเป็นรอบที่ 4 โดยราคารับซื้อยังคงไว้ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ปรับลดเป้าหมายการรับซื้อลงเหลือเพียง 10 เมกะวัตต์ จากเดิมเคยเปิดรับซื้อ 50 เมกะวัตต์

เนื่องจากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่าประชาชนยังให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการไม่มากนัก

นอกจากนี้ในส่วนของการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร เป้าหมายรับซื้อรวม 10 เมกะวัตต์ ในราคารับซื้อไฟฟ้า 1 บาทต่อหน่วย ปรากฎว่า มีเพียงโรงเรียนและสถานศึกษาขอเข้าร่วมโครงการเท่านั้น โดยรวมมี 7 รายที่เข้าร่วมโครงการ รวมไฟฟ้า 0.8 เมกะวัตต์ แต่ลงนามในสัญญาเพียง 4 ราย รวมไฟฟ้า 0.30 เมกะวัตต์

Advertisment