โครงการ “ตามรอยพ่อฯ” ปี 7 จ.เลย ชู ‘วนเกษตร’ ฟื้นฟูต้นน้ำป่าสัก ตามรอยศาสตร์พระราชา

1241
- Advertisment-

เชฟรอน ร่วมกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และ สจล. จับมือภาคีเครือข่าย 7 ภาคส่วน ขับเคลื่อนโครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปีที่ 7 จัดกิจกรรมรณรงค์เต็มรูปแบบที่จังหวัดเลย ชู ‘วนเกษตร’ ฟื้นฟูต้นน้ำป่าสัก ตามรอยศาสตร์พระราชา

โครงการ “พลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” ปี 7 โดยสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ (สจล.) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และภาคีเครือข่ายทั้ง 7 ภาคส่วน ได้แก่ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน ภาคศาสนา และสื่อมวลชน จัดกิจกรรมรณรงค์เต็มรูปแบบ ระหว่างวันที่ 1-4 สิงหาคม 2562 ที่ จ.เลย ต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสัก โดยนำการทำวนเกษตร หรือ การเกษตรในพื้นที่ป่า โดยตลอด 4 วัน มีกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการปั่นรณรงค์ระยะทาง 45 กม. กิจกรรมเอามื้อสามัคคีใน 2 พื้นที่ คือ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง และไร่นาป่าสวนขุนเลย อ.ภูหลวง และกิจกรรมทัศนศึกษา สักหง่า ป่าต้นน้ำป่าสัก เพื่อสร้างและส่งต่อแรงบันดาลใจให้คนไทยทั่วประเทศร่วมสานต่อศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นต่อไป โดยมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้นกว่า 1,000 คน

- Advertisment -

นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร นายกสมาคมดินโลก และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า กิจกรรมในปีที่ 7 ที่ จ.เลย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดแม่น้ำป่าสักและเป็นจังหวัดแรก ๆ ที่ได้จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมเครือข่ายกสิกรรมธรรมชาติขึ้นตั้งแต่ปี 2547 และจัดตั้งเป็นศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวงในปี 2551 และลุ่มแม่น้ำป่าสักเป็น 1 ใน 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศที่ดำเนินโครงการฯ มีการส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศทางบก แก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ให้คนอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่งยืน ด้วยการสร้างหลุมขนมครกกักเก็บน้ำบนพื้นที่สูง ปลูกพืชเพื่อสร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ให้พอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น, ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับโครงการ ตามรอยพ่อฯ มีเป้าหมายในการน้อมนำศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่นลงสู่การปฏิบัติ และขยายผลสู่ลุ่มน้ำอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยมุ่งแก้ไขปัญหาเรื่องการจัดการน้ำ เพื่อลดการสูญเสียที่เกิดจากภัยพิบัติด้วยการจัดการพื้นที่ให้เหมาะสมตามหลักภูมิสังคม ทุกบ้านสามารถกักเก็บน้ำได้ รวมถึงสร้างฝายชะลอน้ำ ช่วยบรรเทากระแสน้ำไหลหลากลงท่วมพื้นที่ด้านล่าง

ด้าน นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า ป่าต้นน้ำใน จ.เลย มีความสำคัญมาก เพราะเป็นต้นน้ำป่าสักซึ่งมีความลาดชันสูง ทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งได้ง่ายพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร จึงทรงห่วงใย อันเป็นที่มาของโครงการฯ ในปี 2556 และในช่วง 3 ปีที่เหลือของโครงการฯ จะต้องเร่งเครื่องเพื่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและผลสำเร็จที่เป็นรูปธรรม

สำหรับโครงการในปีที่ 7 ได้จัดกิจกรรมรณรงค์เต็มรูปแบบ 3 กิจกรรม ระหว่าง 1-4 ส.ค.ที่ผ่านมา โดยวันแรกเป็นการปั่นรณรงค์ระยะทาง 45 กม. จากศาลากลาง จ.เลย มุ่งหน้าสู่วัดป่าประชาสรรค์ อ.วังสะพุง

กิจกรรมที่ 2 ระหว่างวันที่ 2-4 ส.ค. คือ การเอามื้อสามัคคีใน 2 พื้นที่ คือ ที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติภูหลวง ได้แก่ การดำนา ทำฝายชะลอน้ำ ปลูกป่า 5 ระดับ เพาะกล้าไม้และสมุนไพร และที่ไร่นาป่าสวนขุนเลย อ.ภูหลวง ของนายแสวง ดาปะ มีกิจกรรมขุดนาขั้นบันได ขุดคลองไส้ไก่  ทำแฝกเสริมไผ่  ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง  ดำนาปลูกข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง ‘แดงเมืองเลย’ ข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองที่เกือบจะสูญพันธุ์

และกิจกรรมสุดท้ายในวันที่ 3 ส.ค. เป็นกิจกรรมทัศนศึกษา สักหง่า ต้นน้ำป่าสัก ที่บ้านหินสอ ต.ปลาบ่า อ.ภูเรือ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของชาวบ้านหินสอในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสักจนกลับมาเขียวชอุ่มอีกครั้ง และยังกระตุ้นให้เครือข่ายทุกภาคส่วนตื่นตัว เพื่อร่วมกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำป่าสัก โดยใช้ศักยภาพที่แต่ละคนมีอย่างเต็มที่อีกด้วย

 

ขณะที่ นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ กล่าวว่า พื้นที่ต้นน้ำป่าสักส่วนใหญ่เป็นภูเขา จึงเป็นการทำวนเกษตร โดยให้ความสำคัญกับการปลูกไม้ยืนต้น ไม้ผล และไม้ใช้สอยต่าง ๆ ให้เป็นองค์ประกอบหลักของไร่นาผสมผสานกับการปลูกพืชชั้นล่างที่ไม่ต้องการแสงแดดมาก หรือได้อาศัยร่มเงาและความชื้นจากการที่มีพืชชั้นบนขึ้นปกคลุม รวมทั้งการปลูกพืชสมุนไพร ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สร้างรายได้ให้ชุมชน โดยปลูกแทรกระหว่างไม้ยืนต้นต่าง ๆ

นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย กล่าวว่า จ.เลย ได้นำศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ร่วมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยส่งเสริมให้ประชาชนปลูกสวนป่าเพื่อเศรษฐกิจในพื้นที่ของตนเอง ทำให้ จ.เลย มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และยังเป็นการส่งเสริมอาชีพให้ราษฎรได้อีกทางหนึ่ง ที่ผ่านมาไม่มีการบุกรุกพื้นที่แปลงใหญ่เพิ่มขึ้น และยังสามารถคืนผืนป่ากลับมาได้จำนวนหนึ่งอีกด้วย

นายแสวง ดาปะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชน เจ้าของพื้นที่ไร่นาป่าสวนขุนเลย กล่าวว่า ต้องการให้พื้นที่ของตนเป็นแปลงตัวอย่าง เพื่อขยายแนวความคิดเรื่องการปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง สู่เพื่อนเกษตรกรด้วยกันในพื้นที่ป่าต้นน้ำ

“แต่ก่อนเคยปลูกข้าวโพด ลูกเดือย แต่อยากปลดหนี้ จึงหาแนวทางทำไร่ทำสวนนอกเหนือจากการทำพืชเชิงเดี่ยว จนเมื่อปี 43-44 ไปศึกษาดูงานที่มูลนิธิเลยเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนาอย่างยั่งยืน แล้วกลับมาตั้งกลุ่มออมทรัพย์เกษตรยั่งยืน ช่วงเริ่มต้นมีสมาชิก 24 คน ค่อยๆ เปลี่ยนมาปลูกพืชผสมผสาน ปลูกลิ้นจี่ ลำไย ผักหวาน ต่อมาขยายเครือข่ายพัฒนาภูหลวงอย่างยั่งยืนใน 4 อำเภอ ได้แก่ วังสะพุง ภูหลวง ภูเรือ ด่านซ้าย มีวิทยากรประจำเครือข่าย 35 คน พาไปดูงานให้ความรู้ตามความถนัดของแต่ละคน ปัจจุบันมีสมาชิก 104 คน ยอดเงินออม 1.2 ล้านบาท” นายแสวง กล่าว

สำหรับกิจกรรมครั้งถัดไปของโครงการฯ จะจัดทัศนศึกษาในพื้นที่โครงการวิจัย “การออกแบบเชิงภูมิสังคมไทยการติดตามและประเมินผลเพื่อบริหารจัดการน้ำชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” ของศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขปัญหาประเทศ สจล. ในวันที่ 12 กันยายน 62 ที่บ้านแม่ฮ่าง อ.งาว จ.ลำปาง ผู้ที่สนใจติดตามกิจกรรมได้ทาง www.facebook.com/ajourneyinspiredbytheking หรือดูรายละเอียดที่ https://ajourneyinspiredbytheking.org

Advertisment