แจงเหตุผล12ข้อ ทำไม กฟผ.ควรต้องนำเข้า LNG 1.5ล้านตันต่อปีจากปิโตรนาส

6098
- Advertisment-

เปิดเหตุและผล 12ข้อ ที่มาและที่ไปของการที่ กฟผ.ควรนำเข้า LNG ในปริมาณไม่เกิน1.5ล้านตันต่อปี ก่อนถูก “สนธิรัตน์” สั่งล้มดีลการจัดหากับปิโตรนาส ระบุช่วยลดค่าเชื้อเพลิงได้กว่า35,000 ล้านบาท ลดค่าไฟได้อีก 2.78สตางค์ต่อหน่วย พร้อมยังลุ้นให้ กพช.พลิกมติ 11ก.ย.นี้

ใครที่มีโอกาสได้ร่วมรับฟังการชี้แจงแบบละเอียดยิบของฝ่ายบริหาร ซึ่งนำโดย นายวิบูลย์ ฤกษ์ศิระทัย ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)กับพนักงาน กฟผ. ทั่วประเทศ เมื่อวันที่10 ก.ย.2562 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับเหตุผลที่มา ที่ไป การนำเข้า LNG ในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตัน ต่อปี คงจะหายสงสัย และมีคำถามกลับไปถึงฝ่ายนโยบาย ว่า ทำไมจึงต้องล้มดีลการจัดหาLNG ที่มาจากการประมูลแข่งขัน และได้ราคาเฉลี่ยดีที่สุดนับตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีการจัดซื้อและนำเข้าLNG เข้ามา ถือเป็นการตัดสินใจล้มดีลที่ทำให้ประเทศชาติและประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าเสียประโยชน์หรือไม่?

ทีมผู้บริหารกฟผ.ชี้แจงพนักงานกรณีการสั่งล้มดีลนำเข้า LNG 1.5ล้านตันต่อปี จากปิโตรนาส

- Advertisment -

โดยสรุปสาระสำคัญ ของการชี้แจงของฝ่ายบริหารกฟผ. ต่อพนักงาน กฟผ.ได้ 12 ข้อดังนี้

1.นโยบายรัฐบาลต้องการให้เปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ เพราะเชื่อว่าการแข่งขันจะส่งผลต่อราคาก๊าซและค่าไฟฟ้าที่ลดลง จึงมีมติ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2560 มอบหมายให้ กฟผ. เตรียมความพร้อมทำหน้าที่เป็น shipper รายใหม่ ในปริมาณการจัดหา LNG ไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561
เนื่องจาก เห็นว่ากฟผ. มี Demand ที่จะนำไปใช้ในโรงไฟฟ้าของกฟผ.เอง ซึ่งกฟผ.เห็นว่าการนำเข้าแบบ Spot มีความเหมาะสม เพราะ มีระยะเวลาเพียง 1 ปีกว่า ในการเตรียมการ

2.ในห่วงโซ่อุปทานหรือ Supply Chain ของการจัดหา LNG มี 5 ขั้นตอน คือ 1. LNG Suppliers แบ่งเป็นผู้ผลิตและผู้ค้า 2.Shipping การขนส่งทางเรือ 3.LNG Storage การเก็บไว้ในถังและเอามาแปลงสภาพเป็นก๊าซ 4.ระบบส่งก๊าซไปตามท่อ 5.การนำไปใช้ในโรงไฟฟ้า

3. กรณีที่ กฟผ.จะดำเนินงานแบบ spot contract หรือซื้อในราคาตลาดจร จะมี 4 ขั้นตอน ที่ต้องดำเนินการคือ 1.การได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ค้า หรือ LNG Suppliers  2.การจัดซื้อที่ต้องมี เอกสารประกวดราคาเป็นสัญญาแม่บทสำหรับการซื้อขาย Spot LNG หรือ (Master Sale and Purchase Agreement -MSPA)  เอกสารเชิญชวนเพื่อประกวดราคาและเอกสารยืนยันคำสั่งซื้อ  3. การใช้บริการคลัง ที่เป็นสัญญาการใช้บริการสถานี LNG ระหว่าง กฟผ.และบริษัท PTTLNG และ 4. การใช้บริการระบบท่อ เป็นสัญญาระหว่าง กฟผ.กับ PTT  โดยการดำเนินการใน 3 ขั้นตอนข้างต้น กฟผ.ได้ดำเนินการจนสัญญา MSPA ได้รับความเห็นชอบจากบอร์ดและสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นที่เรียบร้อย

4.มติ กบง. เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2561(มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีพลังงาน ในขณะนั้น เป็นประธาน) เห็นว่าสถานการณ์ LNG แบบ spot มีราคาค่อนข้างสูง จึงเห็นว่าถ้า กฟผ. ทำแบบระยะกลางหรือระยะยาว น่าจะได้ราคาถูกกว่า  ดังนั้น กบง. จึงมีมติเปลี่ยนวิธีนำเข้าจากแบบ spot เป็นแบบสัญญาระยะกลาง(middle term)หรือ ระยะยาว long term  และมีมติเพิ่มเติมให้ กฟผ. ทำสัญญาการใช้คลังและท่อกับ ปตท. ให้แล้วเสร็จภายในปี 2561 และเตรียมการนำเข้าแบบระยะกลางหรือระยะยาวภายในปี 2561 โดยให้เริ่มนำเข้าไม่เกิน 1.5 ล้านตันภายในปี 2562

5. กบง.ยังเห็นชอบการขอส่งผ่านค่าไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG ของ กฟผ. ไปเฉลี่ยในโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าได้ เมื่อกฟผ. ดำเนินการเลือกโรงไฟฟ้า Heat Rate ต่ำสุด ในการผลิตไฟฟ้าจาก LNG  และ ราคา LNG ที่กฟผ.จัดหาได้จะต้องไม่สูงกว่าราคา LNG ต่ำที่สุด ตามสัญญา LNG ระยะยาวของ ปตท. ที่มีอยู่ในปัจจุบัน  รวมทั้ง การนำเข้าต่อขนาดการจองพื้นที่ของสถานีแปรสภาพ LNG ของ กฟผ. จะต้องมีสัดส่วนไม่น้อยกว่าสัดส่วนของ ปตท. ทั้งนี้ เงื่อนไขทั้ง 3 ประการ ทางกฟผ.ได้ดำเนินการตามมติ กบง. ครบถ้วน

6. การเปลี่ยนจากสัญญา spot ให้เป็นสัญญาระยะยาว นั้น กฟผ.ได้ดำเนินการตามขั้นตอน โดยช่วงต้นเดือนมกราคม 2562  ได้ส่งร่างสัญญา Sale and Purchase Agreement -SPA ต่อสำนักงานอัยการสูงสุด  จากนั้นได้เปิดคัดเลือกคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ประกอบการที่จะจัดหาLNG ให้กับกฟผ. มีผู้ยื่นแสดงความสนใจ 43 ราย และมีผู้ผ่านคุณสมบัติจำนวน 34 ราย (คุณสมบัติพิจารณาจากการมีประสบการณ์ในการซื้อขายก๊าซ มีก๊าซตรงตามคุณสมบัติที่ต้องการ และมีระดับ credit rating ที่ดี )

7.วันที่ 19 เมษายน 2562 คณะกรรมการซื้อโดยวิธีพิเศษได้ตรวจสอบข้อเสนอของผู้จัดหาก๊าซ ที่ผ่านคุณสมบัติ  พบว่ามีผู้ค้าส่งข้อเสนอทันตามกำหนด 12 ราย ซึ่งต่างเป็นบริษัทที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในวงการLNG  รวมทั้งปตท.

8. การเสนอราคาแข่งขัน ทั้ง12 ราย ปรากฏว่า ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดและได้รับความเห็นชอบจากบอร์ดกฟผ. เมื่อวันที่ 14 พ.ค.2562

 9. ราคา LNG ที่ กฟผ.จะนำเข้าจาก ปิโตรนาส มีแผนจะนำไปใช้กับโรงไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพสูงของ กฟผ. คือ โรงไฟฟ้าวังน้อย โรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าพระนครใต้ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าถูกลง โดยเปรียบเทียบกับสัญญาระยะยาวที่กฟผ.ซื้อจาก PTT ถูกกว่าประมาณ 80บาทต่อล้านบีทียู โดยหากคิดเป็นมูลค่ารวมตลอดอายุสัญญาซื้อขาย LNG ของ กฟผ.ในระยะ7ปี จะช่วยประหยัดค่าเชื้อเพลิงลงได้ ประมาณ 35,000 ล้านบาท และช่วยทำให้ค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าเอฟทีลดลงได้ 2.78 สตางค์ต่อหน่วย

10.ประเด็นข้อกังวลเรื่องภาระ Take or Pay ซึ่งเป็นเงื่อนไขในสัญญาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ในปริมาณการรับก๊าซขั้นต่ำ หากรับได้ไม่ถึงตามสัญญาที่ตกลงก็ต้องจ่ายเงินตามที่สัญญาไว้ ส่วนก๊าซในปริมาณที่ยังไม่ได้ใช้สามารถเรียกเพิ่มมาใช้ในภายหลังได้  โดยTake or Pay มีไว้เพื่อทำให้ผู้ขายเกิดความมั่นใจว่าผู้ซื้อจะต้องรับซื้อตามข้อกำหนด  ซึ่งประเด็นดังกล่าว กฟผ.ชี้แจงว่าข้อสัญญาเรื่อง Take or Pay กับปิโตรนาสได้เจรจาให้มีความยืดหยุ่นพอควร ที่สามารถปรับปริมาณการนำเข้าให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ปี 2563 ที่มีความกังวลว่าจะเกิด Take or Pay ได้ระหว่าง 0.8-1.5 ล้านตันต่อปี นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีข้อกำหนดในสัญญาด้วยว่าถ้านำเข้าแล้วไม่มีที่ใช้หรือใช้ไม่ได้จริงๆ จนเกิดภาวะ Take or Pay  ก็สามารถนำไปขายต่อให้รายอื่นได้

11.เรื่องสัญญา Global DCQ กฟผ.จะเจรจาให้แบ่งสัญญาเป็น 2 ประเภท คือ 1) กำหนดปริมาณก๊าซตามสัญญาแบบ firm เพื่อรองรับความมั่นคงของระบบไฟฟ้า 2) กำหนดปริมาณก๊าซตามสัญญาแบบ non-firm เพื่อรองรับการแข่งขันเสรีกิจการก๊าซธรรมชาติ และนโยบายพลังงานหมุนเวียน ในอนาคต

12. การนำเข้าLNG ของ กฟผ. เป็นการดำเนินการตามนโยบายของ กพช.และคณะรัฐมนตรี ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการตามขั้นตอน จนได้ผู้เสนอราคาต่ำสุดคือปิโตรนาส แต่เมื่อ กบง.วันที่30ส.ค.2562 (สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพลังงาน เป็นประธาน) มีมติให้กฟผ.เจรจายกเลิกการจัดหาด้วยสัญญาระยะกลาง กับปิโตรนาส เพื่อทดลองนำเข้าแบบSpot จำนวน1-2คาร์โก้ คาร์โก้ละ9หมื่นตัน โดยเห็นว่า ราคาSpot ได้ปรับราคาลดลงมามาก จะเป็นประโยชน์ ต่อค่าไฟฟ้า โดยที่รัฐยังคงนโยบายเปิดเสรีก๊าซ    กฟผ.จะรอจนกว่า กพช. และครม. จะมีมติเห็นชอบ ตาม กบง. จึงจะมีการแจ้งยกเลิกการทำสัญญา ต่อ ปิโตรนาส และเปลี่ยนวิธีนำเข้ามาเป็นสัญญาแบบspot ต่อไป

กพช.จะมีการประชุมในวันที่ 11ก.ย.2562นี้ จึงต้องลุ้นว่าจะมีมติออกมาอย่างไร ในขณะที่คนกฟผ.ก็ยังมีความหวังที่จะได้เป็นผู้จัดหาLNGรายใหม่ ในสัญญาระยะกลางและระยะยาว ป้อนโรงไฟฟ้าของตัวเอง เพื่อ สร้างบรรยากาศการแข่งขัน สอดรับนโยบายเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ ในอนาคต

Advertisment