เตรียมโอนอำนาจให้ อบต. เทศบาล คุมกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ประเภท ค. แทน กกพ.

1495
- Advertisment-

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมพิจารณา ปรับหลักเกณฑ์กองทุนพัฒนาไฟฟ้าประเภท ค.(กองทุนขนาดเล็กที่ได้รับเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี) ให้เป็นกองทุนที่มีรายรับไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อปี พร้อมโอนอำนาจให้ อบต.และเทศบาล ในพื้นที่พิจารณาโครงการต่างๆ ได้เองโดยไม่ต้องผ่าน กกพ. อีก เพื่อให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมมากขึ้น

นางอรรชกา สีบุญเรือง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานจะมีการพิจารณาภายใน 1-2 เดือนนี้  ในการปรับหลักเกณฑ์ของกองทุนประเภท ค (กองทุนขนาดเล็กที่ได้รับเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อปี)เพื่อขยายวงเงินเพิ่มเป็นไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อปี พร้อมโอนอำนาจการพิจารณาอนุมัติโครงการต่างๆ ให้กับผู้แทนองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.)และเทศบาล โดยไม่จำเป็นต้องผ่าน กกพ.อีกต่อไป  ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกกพ.ที่ต้องการให้ท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกองทุนฯ มากขึ้น

โดยการปรับเพิ่มวงเงินดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อรายได้ของกองทุน เพราะจะเป็นการเกลี่ยเงินจากกองทุนประเภท ข(กองทุนขนาดกลางที่ได้รับเงินมากกว่า 1-50 ล้านบาทต่อปี) หรือการย้าย กองทุนประเภทข.ประมาณ20แห่ง  ให้ไปรวมอยู่ในกองทุนประเภท ค แทน

- Advertisment -

นอกจากนี้ กกพ.จะมีการจัดตั้งสำนักงานกองทุนฯในพื้นที่ต่างๆ ขึ้น เพื่อช่วยลดภาระให้กับสำนักงานเขตของกกพ. ที่ปัจจุบันมีอยู่ 13 เขตทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้การดำเนินงานของกองทุนฯต่างๆ เกิดประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการเตรียมความพร้อมที่ในอนาคต กกพ.จะปรับการให้บริการออกใบอนุญาตแบบเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถมายื่นและรับใบอนุญาตได้ในจุดเดียว โดยที่สำนักงานเขตจะต้องเข้ามาช่วยพิจารณาการขอใบอนุญาตต่างๆ แบบ One Stop Service

“การตั้งสำนักงานเขต คงมีสาขาไม่มากนัก ซึ่งเบื้องต้นมองว่า ควรเป็นกองทุนขนาดใหญ่จริงๆเช่น กองทุนประเภท ก (กองทุนขนาดใหญ่ที่ได้รับเงินมากกว่า 50 ล้านบาทต่อปี) ก็ควรมีสำนักงานเขต อยู่ในพื้นที่ แต่หากเป็นกองทุนขนาดเล็ก ประเภท ข  ที่มีสำนักงานในจังหวัดหรือในเขตอยู่แล้ว ก็อาจจะควบรวมเป็นสำนักงานเดียวกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนและบริหารความเสี่ยงด้านรายได้จากโรงไฟฟ้าที่จะเข้ามาในอนาคตและต้องคำนึงระยะยาวด้วย หากมีการจ้างพนักงานเพิ่มแต่รายได้เข้ากองทุนน้อยลงก็อาจจะมีผลกระทบจึงต้องพิจารณาให้เหมาะสม” นางอรรชกา กล่าว

Advertisment