อภิปรายค่าไฟฟ้าเดือด ฝ่ายค้านแจงรัฐบริหารชุ่ย คาดกลางปีนี้ค่าไฟฟ้าแตะ 5 บาทต่อหน่วย ด้าน รมว.พลังงาน โต้ข้อมูลฝ่ายค้านผิด

720
- Advertisment-

ฝ่ายค้าน อภิปรายนโยบายตรึงค่าไฟฟ้าส่งผลกระทบสภาพคล่องทางการเงินของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  จนต้องกู้เงิน จ่ายดอกเบี้ย คาดกลางปี 2567 ค่าไฟฟ้าปรับขึ้นเกิน 5 บาทต่อหน่วย หลัง กฟผ. ขาดสภาพคล่องไม่มีเงินบริหารค่าใช้จ่ายรายเดือนช่วง ก.ค. 2567 แนะรัฐตั้งงบชดเชยดอกเบี้ยให้ กฟผ. พร้อมลดเงินจ่ายคืนคลังให้รัฐวิสาหกิจด้านพลังงาน ด้านรัฐมนตรีพลังงาน แจงกลางสภาฯ  “คนอย่างผมไม่เคยเกรงใจใคร” สิ่งใดทำแล้วประชาชนและประเทศชาติได้ประโยชน์ไม่ต้องเกรงใจ โต้ฝ่ายค้านนำข้อมูล กฟผ.มาอภิปรายไม่ตรงข้อเท็จจริง

นายศุภโชติ ไชยสัจ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายการจัดงบประมาณการแก้ปัญหาการบริหารค่าไฟฟ้าของรัฐบาล ในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ในวันที่ 3 ม.ค. 2567 ว่า นโยบายภาครัฐส่งผลให้ภาระหนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ใหญ่ขึ้น และส่งผลให้ค่าไฟฟ้าประชาชนแพงขึ้น โดยไม่ถึง 2 ปีค่าไฟฟ้าปรับขึ้นจาก 3.65 บาทต่อหน่วย เป็น 4.42 บาทต่อหน่วย แต่ภาครัฐมีนโยบายตรึงค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยในงวด ม.ค.-เม.ย. 2567 โดยใช้วิธีให้บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ตรึงค่าก๊าซธรรมชาติในการผลิตไฟฟ้าและให้ กฟผ.แบกรับภาระค่าไฟฟ้าแทนประชาชนต่อไปก่อน จากปัจจุบันที่ กฟผ.แบกไว้อยู่ 1.4 แสนล้านบาทแล้ว จะเพิ่มเป็น 1.8 แสนล้านบาท  

“กระทรวงพลังงานมีคนจากพรรคการเมืองเดิมมาบริหาร ก็เกรงใจนายทุนเหมือนเดิม และแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าโดยโยกเงินกระเป๋าซ้ายมากระเป๋าขวาเท่านั้น แล้วบอกให้ กฟผ. แบกหนี้ไว้ชั่วคราว พอจะจ่ายหนี้ ก็มีมติให้ยืดหนี้ก้อนนั้นออกไปอีก ดังนั้นประชาชนต้องมานั่งลุ้นค่าไฟฟ้าทุก 4 เดือน”

- Advertisment -

การดำเนินนโยบายตรึงค่าไฟฟ้าของรัฐบาลส่งผลกระทบต่อสภาพคล่อง กฟผ. จนต้องไปกู้เงินจากสถาบันการเงิน และมีภาระหนี้ดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีก ทั้งนี้นับตั้งแต่มีการตรึงค่าไฟฟ้าในปี 2565 ทำให้ กฟผ.ต้องกู้เงิน 8 ครั้ง รวมเป็นเงิน 7.5 หมื่นล้านบาท และปี 2566 กู้อีก 7 ครั้ง เป็นเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท และคาดว่าในปี 2567 นี้ก็จะกู้ไม่น้อยกว่าปี 2566 ส่งผลให้ กฟผ.ต้องจ่ายหนี้ 5 หมื่นล้านบาทต่อปี รวมกับดอกเบี้ยอีก 3-4 พันล้านบาท ดังนั้นยิ่งภาครัฐขยายเวลาการชำระหนี้คืน กฟผ. ก็ยิ่งทำให้ดอกเบี้ยที่ กฟผ.ไปกู้ยืมมาเพิ่มสูงขึ้น

และจากรายงานประมาณการยอดเงินสดปลายปี 2566-2567 คาดการณ์ว่ายอดเงินสด กฟผ.จะร่วงเหลือ 3.9 หมื่นล้านบาท จากที่เคยมีถึง 1 แสนล้านบาทเมื่อกลางปี 2566 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์เงินสดคงเหลือขั้นต่ำที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำหนดไว้ที่ 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนแรกว่า เงิน กฟผ.จะไม่พอใช้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายรายเดือนนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 2567 และเงินสดอาจติดลบถึง 1 หมื่นล้านบาทในเดือน ต.ค. 2567 ได้

ดังนั้นเท่ากับ กฟผ. จะไม่มีเงินพอดำเนินงานรายเดือน และชำระหนี้ที่กู้มา นับตั้งแต่กลางปี 2567 นี้เป็นต้นไป และสถานการณ์อาจเลวร้ายกว่านี้ถ้าค่าเชื้อเพลิงแพงขึ้น และค่าเงินบาทสูงขึ้นกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ และแน่นอนว่า กฟผ.จะไม่ยอมให้กระแสเงินสดติดลบ ดังนั้น กฟผ.จะต้องปรับขึ้นค่าไฟฟ้าแน่นอนตั้งแต่กลางปี 2567 เป็นต้นไป

โดยหากรัฐตรึงค่าไฟฟ้า 1 งวดจะเท่ากับใช้งบประมาณ 4 หมื่นล้านบาท รวมกับหนี้ที่ กฟผ.แบกอยู่ 1.4 แสนล้านบาท และต้องกันเงิน 6 หมื่นล้านบาทสำหรับการดำเนินงานรายเดือน ดังนั้นภาระหนี้สะสมกลางปี 2567 จะเท่ากับ 2.7 แสนล้านบาท และหากคิดเป็นค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายคืนหนี้ กฟผ.  6 งวด ภายใน 2 ปี ค่าไฟฟ้าจะเท่ากับ 5.10 บาทต่อหน่วย ขณะที่ต้นทุนค่าไฟฟ้าอยู่เพียง 4 กว่าบาทต่อหน่วยเท่านั้น    

อย่างไรก็ตามแนวทางแก้ปัญหาในการจัดงบประมาณปี 2567 เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าประชาชน คือ 1.ควรตั้งงบประมาณชดเชยดอกเบี้ยที่ กฟผ.กู้มา ให้อยู่ในงบรัฐวิสาหกิจปี 2567 เพื่อบรรเทาปัญหาหนี้และเพิ่มสภาพคล่อง กฟผ. 2.การแก้ปัญหาเงินกู้อัตราดอกเบี้ยสูง เสนอให้กระทรวงการคลังเป็นผู้กู้เงิน และนำมาปล่อยกู้ให้ กฟผ. อีกทอด เพื่อให้สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าได้ และ 3.ลดประมาณการรายรับของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานลง จากเดิมกฎหมายกำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องมีอัตราส่วนในการส่งเงินคืนคลังมากกว่า 50% ของกำไร ถ้าสามารถลดได้ชั่วคราวในช่วงวิกฤตินี้ เชื่อว่า กฟผ.จะมีเงินสดไปบริหารสภาพคล่องได้มากขึ้น และลดการกู้เงิน ลดอัตราดอกเบี้ยลงได้อีกทาง

อย่างไรก็ตามแนวทางดังกล่าวกลับไม่ถูกบรรจุใน พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 นี้ แถมยังให้ กฟผ.ส่งเงินคืนคลังสูงขึ้นกว่าเดิมเกือบ 3 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปี 2566 ที่ส่ง 1.7 หมื่นล้านบาท แสดงว่ารัฐไม่ได้มองปัญหาค่าไฟฟ้าและภาพคล่อง กฟผ.ว่าเป็นวิกฤติ แถมยังรีดเงิน กฟผ.เพิ่มอีก โดยไม่ได้ดูความเป็นจริงว่าเกิดอะไรขึ้นอยู่

“สรุปว่าการจัดทำงบประมาณปี 2567 ด้านพลังงาน เป็นงบชุ่ย ไม่เข้าใจปัญหา แสดงถึงการไร้ความสามารถของรัฐในการบริหารงบประมาณแผ่นดิน ถ้ายังทำกันอยู่แบบนี้ ประชาชนจะพึ่งใครได้” นายศุภโชติ กล่าว

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ว่า มีเพื่อนสมาชิกได้อภิปรายถึง กฟผ. ข้อมูลไม่ถูกต้อง ถ้าไม่มาชี้แจงจะทำให้พี่น้องประชาชน และสื่อมวลชนเข้าใจผิดในตัวเลข มีการอภิปรายว่า ตัวเองกับรัฐมนตรีคราวที่แล้วมาจากพรรคเดียวกัน ทำให้เกรงใจนายทุน แก้ปัญหาแบบเดิม

“ขอเรียนว่า โครงสร้างพลังงานแบบปัจจุบัน ผมก็ไม่พอใจ แต่ไม่มีทางอื่น ที่จะต้องปรับตามโครงสร้างแบบปัจจุบัน แต่ไม่ว่าจะอย่างไร ผมเชื่อว่าประชาชนพึงพอใจในผลงานที่ทำมา คนอย่างผมไม่เคยเกรงใจใคร ถ้าหากทำไปแล้ว พี่น้องประชาชนได้ประโยชน์ ประเทศชาติได้ประโยชน์ ผมไม่เคยเกรงใจใคร ถ้ามัวแต่เกรงใจใคร 3 เดือนที่ผ่านมา ผมคงทำในสิ่งที่ทำให้กับประเทศชาติ และประชาชนไม่ได้อย่างที่ปรากฏเหมือนอย่าง 3 เดือนที่ผ่านมา ขอทำความเข้าใจไว้ก่อน”

นายพีระพันธุ์ กล่าวอีกว่า ประการที่ 2 เรื่องของ กฟผ. ตัวเลขที่มีการอภิปรายฟังแล้วก็ตกใจ เพราะตัวเลขที่ตัวเองได้รับจาก กฟผ. นำเข้าคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 คนละตัวเลขกัน ขณะนี้กระแสเงินสดของ กฟผ.ในปี 2566 มีเกือบ 9 หมื่นล้านบาท และประมาณการใช้จ่ายของ กฟผ. ที่มีการอภิปรายว่า ตั้งแต่ต้นปี 2567 ในเดือน ม.ค. จะลงไปถึง 1 หมื่นกว่าล้านบาท ไม่เป็นความจริง เพราะ กฟผ. ต้องรักษาระดับเงินสดไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 6 หมื่นล้านบาทเป็นมาตรฐาน ฉะนั้นตัวเลขที่บอกว่าลงไปหมื่นกว่าล้าน เป็นไปไม่ได้ และไม่มีทางให้เป็นแบบนั้น

ทั้งนี้ก่อนจะมาชี้แจง ก็ได้สอบถาม กฟผ. เพื่อความมั่นใจ โดยได้พูดกับรักษาการผู้ว่าการ กฟผ. และรองผู้ว่าฯ ฝ่ายการเงิน ได้ยืนยันว่าตัวเลขที่รายงาน ครม. เมื่อวันที่ 2 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา ถูกต้อง จึงไม่ทราบว่า ตัวเลขที่สมาชิกนำมาอภิปรายในสภาฯ เอามาจากไหน ขอให้เข้าใจว่า กระแสเงินสดวันนี้ของกฟผ. มีประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท

สำหรับ หนี้ของ กฟผ. ที่เป็นหนี้ ปตท. 3 หมื่นกว่าล้านบาท ขณะนี้ไม่มี ใช้หนี้หมดแล้ว วันนี้ ปตท.ได้รับการชำระหนี้จาก กฟผ.หมดแล้ว ไม่มีการติดหนี้กัน และขอถือโอกาสขอบคุณทุกภาคส่วน ที่เข้ามาร่วมกับรัฐบาลชุดนี้ ในการลดค่าใช้จ่ายให้กับพี่น้องประชาชน มั่นใจว่า พี่น้องประชาชนพอใจกับสิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ทำให้ ในการลดภาระค่าใช้จ่าย ซึ่งแน่นอนว่า ไม่มีใครต้องเดือดร้อน หรือเดือดร้อน แต่ทุกคนพร้อมใจกันช่วย เพื่อลดภาระตรงนี้ให้กับประชาชน

Advertisment