สำนักงาน กกพ. แจงปรับโครงสร้างไฟฟ้าตาม MOU พรรคร่วมรัฐบาล ต้องผ่านมติ กพช.ก่อนจึงจะปฏิบัติได้จริง เผย 2 แนวทางช่วยลดค่าไฟฟ้าได้

1114
- Advertisment-

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ยืนยันพร้อมปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า ตามมติ MOU ของ 8 พรรคร่วมรัฐบาล แต่ต้องผ่านการเห็นชอบจาก กพช. ก่อนจึงจะปฏิบัติตามได้ เผย 2 แนวทางปรับโครงสร้างไฟฟ้า 1.นำก๊าซฯ อ่าวไทยไปผลิตไฟฟ้าเป็นอันดับแรก ก่อนส่งให้ภาคปิโตรเคมี จะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 70 สตางค์ต่อหน่วย 2.นำทุกแหล่งก๊าซฯ มาหารเฉลี่ยราคาเท่ากัน ก่อนส่งให้ใช้ทั้งภาคไฟฟ้าและปิโตรเคมี จะช่วยลดค่าไฟฟ้าได้ 30-40 สตางค์ต่อหน่วย ชี้รัฐบาลใหม่จะเลือกแนวทางไหนก็จะมีทั้งผู้ที่ได้และเสียผลประโยชน์ แนะพิจารณาอย่างรอบคอบ 

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) และในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า จากกรณีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ของ 8 พรรคการเมืองในแนวทางบริหารประเทศร่วมกัน (พรรคก้าวไกล, พรรคเพื่อไทย,พรรคประชาชาติ,พรรคไทยสร้างไทย,พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่)

โดย MOU ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน ที่ระบุให้ปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้า การคำนวณราคา และกำลังการผลิตที่เหมาะสม เพื่อลดค่าครองชีพประชาชนและสร้างความมั่นคงทางพลังงานนั้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็พร้อมปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล แต่การปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าจะต้องไปแก้ไขหรือบรรจุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ หรือ PDP และต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จากนั้นเมื่อออกมาเป็นมติ กพช.แล้ว ทาง กกพ.จึงจะสามารถปฏิบัติตามได้ 

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามขณะนี้กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ระหว่างการจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ ดังนั้นการปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าและการปรับสัดส่วนสำรองไฟฟ้าประเทศให้เหมาะสม ควรต้องไปดำเนินการในส่วนของแผน PDP ฉบับใหม่ตามขั้นตอนดังกล่าวก่อน 

ทั้งนี้เห็นว่าการปรับโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของประเทศสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น 1.การนำก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย ซึ่งเป็นก๊าซฯ ที่มีราคาถูกที่สุดไปใช้ในการผลิตไฟฟ้าเป็นอันดับแรกก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าประชาชนลดลงได้ถึง 70 สตางค์ต่อหน่วย และก๊าซฯ ที่เหลือใช้จะนำไปรวมกับก๊าซฯ ที่ซื้อจากเมียนมาและก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อเฉลี่ยราคา จากนั้นจึงจะนำไปให้ภาคปิโตรเคมีใช้เป็นกลุ่มต่อไป 

2.การนำก๊าซฯ จากทุกแหล่ง ทั้งอ่าวไทย,เมียนมา และ LNG มาหารเฉลี่ยราคาทั้งหมด จากนั้นจะให้ทั้งโรงไฟฟ้าและภาคปิโตรเคมีใช้ในราคาเดียวกัน ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดค่าไฟฟ้าประชาชนได้ 30-40 สตางค์ต่อหน่วย 

สำหรับทั้ง 2 แนวทาง แตกต่างจากปัจจุบันที่ กพช.ที่ผ่านมากำหนดให้ก๊าซฯจากอ่าวไทยต้องถูกส่งเข้าโรงแยกก๊าซฯ เพื่อให้ภาคปิโตรเคมีใช้ก่อน ส่งผลให้ภาคปิโตรเคมีได้ใช้ก๊าซฯราคาถูก และก๊าซฯ ที่เหลือจะถูกนำไปหารเฉลี่ยราคาร่วมกับก๊าซฯจากเมียนมา และ LNG ก่อนจะส่งเข้าไปให้โรงไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าออกมา ดังนั้นเมื่อ LNG มีราคาแพง จึงทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงไปด้วย 

ดังนั้นการจะปรับโครงสร้างด้านการผลิตไฟฟ้าดังกล่าวจะต้องไปแก้ไขที่มติ กพช. เดิม หรือ การกำหนดมติ กพช.ใหม่ออกมา เพื่อให้ กกพ.สามารถปฏิบัติตามได้

สำหรับในส่วนของกำลังสำรองไฟฟ้าที่ปัจจุบันสูงเกินกว่า 30% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศนั้น นับเป็นเรื่องยากที่จะแก้ไข เนื่องจากที่ผ่านมาได้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) กับผู้ผลิตไฟฟ้าไปแล้วและเป็นสัญญาระยะยาวด้วย ซึ่งการจะแก้ไขอาจจะต้องไปวางแผนใหม่ในการผลิตไฟฟ้าในอนาคต โดยกำหนดไว้ในแผน PDP ฉบับใหม่แทน

ส่วนราคาค่าไฟฟ้านั้น ทาง กกพ.ยืนยันว่าที่ผ่านมาได้คำนวณตามหลักการต้นทุนที่แท้จริง รวมถึงได้พิจารณาให้โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนเชื้อเพลิงราคาถูกที่สุดเข้ามาผลิตไฟฟ้าเป็นอันดับแรก เพื่อให้ค่าไฟฟ้าไม่แพงเกินไป และยังให้โรงไฟฟ้าบางแห่งสลับไปใช้น้ำมันดีเซลในช่วงที่ LNG มีราคาแพงด้วย ทำให้ค่าไฟฟ้าประชาชนปรับลดลงได้ในช่วงที่ผ่านมา  

Advertisment