สนพ.แจงปรับแผนไฟฟ้า ปี 64-73 เร่งพลังงานลมเข้าระบบอีก 1,230 MW หั่นทิ้งโรงไฟฟ้าชุมชน 1,083 MW

2286
- Advertisment-

สนพ.ชี้แจงการปรับปรุงแผนPDP2018 Rev1 ในช่วง 10 ปีแรก (2564-2573) โดยเร่งรับซื้อไฟฟ้าพลังงานลมเร็วขึ้นอีก 1,230 เมกะวัตต์ และ ไฟฟ้าจาก สปป.ลาว เพิ่มอีก 1,366 เมกะวัตต์ ในขณะที่ลดโรงไฟฟ้าชุมชนทั้งชีวมวลและชีวภาพลงรวมกันกว่า 1,083 เมกะวัตต์ ส่วนไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมได้เพิ่มเป็น 200 เมกะวัตต์​ โดยการปรับแผนดังกล่าวคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.)​ให้ความเห็นชอบไปตั้งแต่เมื่อวันที่ 28 ต.ค.64 ที่ผ่านมา

นาย วีรพัฒน์​ เกียรติ​เฟื่องฟู รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.)​ กล่าวว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานลมในประเทศเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากเป็นการผลิตไฟฟ้าที่ไม่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์​ ซึ่งสอดคล้องกับหลักการสำคัญในแผนพลังงานแห่งชาติ ในขณะที่ต้นทุนการผลิตก็มีแนวโน้มที่ต่ำลง เช่นเดียวกับไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว
โดยในแผนPDP2018 Rev1 ฉบับเดิมนั้น ไฟฟ้าจากพลังงานลมจะเข้าระบบในปี65-67 ปีละ 90 เมกะวัตต์ แต่ในแผนที่ปรับปรุงใหม่ จะเข้าระบบตั้งแต่ปี67-71 ปริมาณปีละ 200 เมกะวัตต์​ ส่วนปี 72 และ 73 ปีละ 250 เมกะวัตต์ รวมพลังงานลมที่เพิ่มขึ้นในช่วง 10 ปีแรกปริมาณ 1,230 เมกะวัตต์

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำใน สปป.ลาว นั้น ตามแผนเดิมจะเข้าระบบในปี 69และ 71 ปริมาณปีละ 700 เมกะวัตต์ แต่แผนที่ปรับใหม่ ปี 69 จะเข้าระบบลดลงเหลือ 469 เมกะวัตต์​แต่ ปี 71 จะเพิ่มปริมาณเป็น 897 เมกะวัตต์ และปี 73 จะรับซื้ออีก 1,400 เมกะวัตต์

- Advertisment -

ในส่วนของไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์หรือ โซลาร์เซลล์​ ที่เป็นการผลิตซึ่งไม่ปล่อยก๊าซCo2 นั้น ในภาพรวมจะซื้อลดลง 739 เมกะวัตต์ คือจาก 5,194 เมกะวัตต์ เหลือ 4,455 เมกะวัตต์ แต่แผนที่ปรับปรุงใหม่นั้นจะเร่งการรับซื้อให้อยู่ ในช่วงปี66-70 ให้เร็วขึ้น คือปี 66 จำนวน 200 เมกะวัตต์ ปี 67 จำนวน 300 เมกะวัตต์ ปี 68 จำนวน 400 เมกะวัตต์ ปี 69 จำนวน 500 เมกะวัตต์ ปี 70 จำนวน 600 เมกะวัตต์ ส่วนปี 71 เข้าระบบ 700 เมกะวัตต์ ปี72 เข้าระบบ 800 เมกะวัตต์ และ ปี 73 เข้าระบบ 900 เมกะวัตต์

ทั้งนี้ในการรับซื้อจะเน้นพิจารณาไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนทุ่นลอยน้ำของ กฟผ. โซลาร์เซลล์​ที่ผลิตควบคู่กับแบตเตอรี่กักเก็บพลังงาน และโซลาร์เซลล์​ภาคประชาชนและภาคธุรกิจที่ติดตั้งบนหลังคาเป็นหลัก

นอกจากนี้ยังจะมีการเพิ่มการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรมอีก 200 เมกะวัตต์รวมเป็นไฟฟ้าจากขยะทั้งหมด 600 เมกะวัตต์ โดยแผนเดิมจะรับซื้อเข้าระบบในปี 65 ปริมาณ 400 เมกะวัตต์ แต่แผนใหม่ จะรับซื้อเข้าระบบในปี67-68 ปีละ 300 เมกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นขยะชุมชนปีละ 200 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรมอีกปีละ 100 เมกะวัตต์​

ในขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนที่ตามแผนเดิมในปี 64-67 จะรับซื้อมากถึงประมาณ 1,900 เมกะวัตต์นั้น มีการปรับลดปริมาณรับซื้อลง โดยในส่วนที่มาจากชีวมวล เดิมมีปริมาณ 1,120 เมกะวัตต์ จะเหลือ 485 เมกะวัตต์ ส่วนก๊าซชีวภาพ เดิมมีปริมาณ 783 เมกะวัตต์ จะเหลือ 335 เมกะวัตต์ หรือลดลงรวมกัน 1,083 เมกะวัตต์ ทั้งนี้เนื่องจากได้รับการยืนยันข้อมูลในศักยภาพของพื้นที่และวัตถุดิบที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงที่มีจำกัด อย่างไรก็ตาม หากมีข้อมูลที่อัพเดทว่าสามารถจะเพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้าได้มากขึ้น ก็อาจจะมีการปรับเพิ่มปริมาณรับซื้อในช่วง 10 ปีหลังของแผนPDP2022ได้

แผน 10 ปีที่ปรับปรุงใหม่ ยังมีการปรับลดไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขนาด 700 เมกะวัตต์ที่จะเข้าระบบปี 73 ออกไปจากแผนด้วย

นายวี​รพัฒน์ ​กล่าวว่า การปรับปรุงแผน 10 ปีที่ผ่านความเห็นชอบจาก กบง. ยังจะต้องมีการหารือร่วมกันกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน หรือ พพ. กฟผ. การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง เกี่ยวกับศักยภาพและระบบสายส่งที่จะมารองรับด้วย จากนั้นจะนำไปผนวกรวมกับแผนPDP2022ที่น่าจะจัดทำแล้วเสร็จประมาณ กลางปี 65

Advertisment