“สนธิรัตน์” หวังเงินลงทุนโรงไฟฟ้าชุมชน 7-8หมื่นล้านช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจตกต่ำในปี63

1197
- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน  เร่งนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชน 3ปีแรก 1,000เมกะวัตต์ หวังมีเม็ดเงินลงทุน 7- 8 หมื่นล้านบาทไปช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ปี 2563 ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก  พร้อมดันโครงการพลังงานชุมชนเข้าหารือในคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเร็วๆนี้ เน้น พื้นที่บริเวณชายขอบ ชายแดน ปลายสายส่งไฟฟ้า ที่714 หมู่บ้านครอบคลุม51 จังหวัด โดยจะสามารถเริ่มทยอยอนุมัติจัดสรรงบกองทุนอนุรักษ์ฯปี 2563 ที่มีอยู่ 1 หมื่นล้านบาท ได้ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ปี 2563

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยในงานสัมมนาการสื่อสารนโยบายพลังงานสู่การปฏิบัติ ปี 2563   เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2562 ว่า ในปี 2563 นี้จะเป็นปีที่เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะลำบาก จากผลพวงของเศรษฐกิจโลกที่ไม่ดีนัก ดังนั้นพลังงานถือเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพ และช่วยสร้างรายได้ในระดับชุมชน โดยในปี 2563 จะเร่งการผลักดันนโยบาย “Energy For All พลังงานเพื่อทุกคน” ลงไปสู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระดับฐานรากของประเทศ ซึ่งได้วางเป้าหมายระยะสั้นที่จะเร่งดำเนินการให้สำเร็จเป็นรูปธรรม ใน 6 ด้าน ได้แก่

1.หมุนเวียนเศรษฐกิจฐานราก ผ่านโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนกว่า 1,000 เมกะวัตต์ ในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีการนำเสนอรายละเอียดโครงการฯเข้าที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้อนุมัติในวันที่ 16 ธ.ค. 2562 นี้ คาดว่า ในปี2563 จะมีเม็ดเงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจ เฟสแรก ประมาณ 7-8 หมื่นล้านบาท โดยหลักการจัดตั้งโรงไฟฟ้าจะพิจารณาผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับเป็นหลัก เช่น มีการใช้วัตถุดิบในพื้นที่และต้องยกระดับรายได้ของชุมชน ซึ่งหากพบว่า ดำเนินการไปแล้วเอกชนรายใด ไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข หรือ เบี้ยวชุมชน จะยกเลิกการรับซื้อไฟฟ้าทันที

- Advertisment -

2.ด้านการเข้าถึงไฟฟ้า โดยตั้งเป้าหมายทุกพื้นที่ของประเทศไทยที่มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องจะต้องมีไฟฟ้าใช้ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งพื้นที่บริเวณชายขอบ ชายแดน ปลายสายส่งไฟฟ้า  โดยเบื้องต้น จะแยกออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ไม่ขัดต่อกฎหมาย และกลุ่มที่ขัดต่อกฎหมาย เช่น เป็นพื้นที่ป่าไม้ เป็นต้น ซึ่งคาดว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการในพื้นที่ที่ไม่ขัดต่อกฎหมายได้ก่อน พร้อมกำหนดแผนดำเนินการให้เสร็จภายใน 3-5 ปี ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำกรอบการสนับสนุนผ่านกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน(กองทุนอนุรักษ์ฯ)เพื่อขับเคลื่อนในทางปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม

3. จัดทำสถานีพลังงานชุมชนในพื้นที่ที่มีศักยภาพทั่วประเทศ โดยใช้โมเดลการพัฒนาชุมชนของ จ.กาญจนบุรีเป็นแนวทางในการทำสถานีพลังงานชุมชนแบบครบวงจรที่สามารถนำพลังงานจากแสงอาทิตย์ ชีวมวล ขยะ และเชื้อเพลิงฟอสซิลมาบริหารจัดการในกิจกรรมต่างๆ เพื่อลดรายจ่ายด้านพลังงานและสร้างรายได้ต่อยอดอาชีพของชุมชน โดยจะพิจารณานำเงินกองทุนอนุรักษ์ฯ เข้ามาสนับสนุนด้วย

“นโยบายจะแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือ “โรงไฟฟ้าชุมชน” กับ “พลังงานชุมชน” ซึ่งโดยหลักการจะแตกต่างกัน คือ “พลังงานชุมชน” จะเป็นลักษณะผลิตไฟฟ้าใช้เองไม่ขายเข้าระบบ(Off Grid) แต่ “โรงไฟฟ้าชุมชน” จะมี 2 มิติ ทั้ง Off Grid และ ขายเข้าระบบ (On Grid)” นายสนธิรัตน์ กล่าว

เบื้องต้น นโยบาย “พลังงานชุมชน” จะมีทั้งส่วนที่ใช้เงินจากกองทุนอนุรักษ์ฯเข้าไปสนับสนุน หรือ อาจดึงภาคเอกชน เข้าร่วมจัดทำโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขององค์กร(CSR) โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมรายละเอียดโครงการฯ เพื่อนำเข้าสู่การพิจาณาของคณะอนุกรรมการกองทุนฯ ในเร็วๆนี้ หลังจากมีผู้ยื่นเสนอคำขอกว่า 100 โครงการแล้ว คาดว่า จะสามารถเริ่มทยอยอนุมัติจัดสรรงบประมาณปี 2563 ที่มีอยู่ 1 หมื่นล้านบาท ได้ในช่วงเดือน ก.พ.-มี.ค.ปี 2563

4.ด้านค่าครองชีพ ที่นอกเหนือจากช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้านส่วนลดค่าก๊าซหุงต้มและค่าไฟฟ้าผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับปรุงโครงสร้างราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติให้เกิดความเป็นธรรม

5.ส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยผลักดันการใช้ดีเซลB10(น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์​10%ในทุกลิตร)และแก๊สโซฮอล์E20(น้ำมันเบนซินที่ผสมเอทานอล 20% ในทุกลิตร) เป็นน้ำมันเกรดมาตรฐาน เพื่อดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)ส่วนเกินประมาณ 4 แสนตันออกจากตลาด ซึ่งจะช่วยสร้างเสถียรภาพราคา และขณะนี้สามารถยกระดับราคาปาล์มน้ำมันขึ้นมาที่กิโลกรัมละกว่า 4 บาทแล้ว อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งในปี 2563 จะออกมาตรการส่งเสริม E20 ต่อไป

และ6.สนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า(EV) อย่างเป็นรูปธรรม โดยได้หารือกับนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติขึ้นมาดูแลโดยจะต้องส่งเสริมร่วมกันทั้งระบบ พร้อมพิจารณามาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อรองรับทิศทางในอนาคต ซึ่งในส่วนของกระทรวงพลังงาน พร้อมสนับสนุนเรื่องของ สถานีชาร์จไฟฟ้า และทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ยังจะพิจารณานำกำลังผลิตไฟฟ้าส่วนเกินที่เหลือใช้ หรือ สำรองไฟฟ้า ของประเทศที่มีอยู่ระดับ 30% นำมาเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าสำหรับรถไฟฟ้าสาธารณะเช่น BTS และ MRT โดยมีเป้าหมายชัดเจนว่า เมื่อดำเนินการแล้วจะต้องลดค่าตั๋วโดยสารให้กับภาคประชาชน และไฟฟ้าส่วนเกินนี้ยังเป็นการเตรียมพร้อมเปลี่ยนผ่านไปสู่การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) และการค้าไฟฟ้าระหว่างประเทศ ตามแผนการเชื่อมโยงไฟฟ้าของอาเซียน(อาเซียนกริด) ด้วย คาดว่า แผนต่างๆจะชัดเจนในเร็วๆนี้

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC)รายงานว่า  ข้อมูลเบื้องต้นของกระทรวงพลังงาน ระบุว่า มีพื้นที่ที่ยังไม่มีไฟฟ้าใช้อยู่ประมาณ 40 จังหวัด ใน 662 หมู่บ้าน 53,687 ครัวเรือน และมีพื้นที่อยู่ปลายสายส่งที่เกิดปัญหาไฟตกไฟดับบ่อยอีก 11 จังหวัด 52 หมู่บ้าน 60,599 ครัวเรือน

Advertisment