“สนธิรัตน์”เล็งเปิดซื้อไฟโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเฟสแรก 250 แห่ง ทั่วประเทศ

3640
- Advertisment-

กระทรวงพลังงาน เล็งเปิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเฟสแรก 250 แห่ง ซึ่งรวมโรงไฟฟ้าชุมชนแบบเร่งด่วน (Quick Win) 10-20 แห่งเข้าไปด้วย คาดดำเนินการได้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563 ขณะที่ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) ตั้งโจทย์เบื้องต้นโรงไฟฟ้าชุมชน 7 รูปแบบ เพื่อรับฟังความเห็น กำหนดวิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10% และเอกชนที่อาจร่วมกับภาครัฐถือหุ้น 90%  ชี้ชุมชนจะมีรายได้จาก 3 ส่วนคือ จากการถือหุ้นในโรงไฟฟ้า, ส่วนแบ่งจากการขายไฟฟ้า 25 สตางค์ต่อหน่วย และรายได้จากการขายเชื้อเพลิง

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมรับฟังความเห็นการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก เมื่อวันที่ 9ต.ค.2562 ซึ่งมีหน่วยงานรัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม ร่วมระดมความเห็นกว่า 200 คน จัดที่ชั้น15 อาคารเอ็นเนอยี่ คอมเพล็กซ์  กระทรวงพลังงาน   ว่า กระทรวงพลังงานคาดว่าจะสามารถเปิดโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน เฟสแรกได้ประมาณ 250 แห่งก่อน โดยจะดำเนินการไปพร้อมกับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนประเภทเร่งด่วน หรือ Quick Win จำนวน 10-20 แห่ง ที่จะดำเนินการก่อนภายใน 6 เดือนแรกของปี 2563

ซึ่งโครงการ Quick Win จะต้องเป็นโครงการที่ภาครัฐเคยนำเงินไปร่วมลงทุนกับโรงไฟฟ้าในช่วงที่ผ่านมา แต่โครงการไม่ประสบผลสำเร็จ หรือยังไม่สามารถขายไฟฟ้าเข้าระบบได้ ซึ่งจะต้องนำกลับมาพิจารณาปัญหาและอุปสรรคว่าจะสามารถนำมาเป็นโครงการ Quick Win ได้หรือไม่ เพื่อไม่ให้เงินที่รัฐเคยลงทุนไปสูญเปล่า

- Advertisment -
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพลังงาน ระหว่างให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

สำหรับภายหลังการระดมความเห็นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนครั้งนี้ ทางกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) จะสรุปผลและจัดทำเป็นเงื่อนไขโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน จากนั้นจะมีการหารือรอบสุดท้ายกับผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนอีกครั้งเพื่อปรับปรุงและออกเป็นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนต่อไป ซึ่งคาดว่าจะสามารถสรุปความชัดเจนได้เสร็จภายใน 1 เดือนนี้

ส่วนกรอบนโยบายโรงไฟฟ้าชุมชนที่นำมาระดมความเห็นครั้งนี้ ได้กำหนดรูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนไว้ 7 ประเภท ได้แก่
1.โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน)
2.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ(พืชพลังงาน)-พลังงานแสงอาทิตย์
3.โรงไฟฟ้าชุมชน ชีวมวล
4.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดชีวมวล-พลังงานแสงอาทิตย์
5.โรงไฟฟ้าชุมชน ก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย/ของเสีย)
6.โรงไฟฟ้าชุมชน ไฮบริดก๊าซชีวภาพ(น้ำเสีย-ของเสีย)-พลังงานแสงอาทิตย์
7.โรงไฟฟ้าชุมชน พลังงานแสงอาทิตย์

ทั้งนี้ได้กำหนด 5 หัวข้อที่หารือกัน ได้แก่ 1.สัดส่วนการถือหุ้นที่เหมาะสมของโรงไฟฟ้าระหว่างชุมชนกับเอกชน โดยชุมชนจะรับเป็นหุ้นบุริมสิทธิได้หรือไม่ 2.ส่วนแบ่งรายได้ที่ต้องคืนสู่ชุมชน 3.ราคาเชื้อเพลิงที่เหมาะสม 4. วิธีที่เหมาะสมในการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ และ 5. โรงไฟฟ้าชุมชนจะสร้างเศรษฐกิจฐานรากให้ดีขึ้นได้อย่างไร

โดยจากการรับฟังความเห็นเบื้องต้นพบว่า ส่วนใหญ่เห็นว่าสัดส่วนการถือหุ้นของวิสาหกิจชุมชนควรอยู่ในกรอบ10-30% จากข้อเสนอของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.)ที่ให้วิสาหกิจชุมชนถือหุ้น 10% และเอกชนซึ่งอาจร่วมกับภาครัฐถือหุ้นในสัดส่วน 90% ขณะที่ส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าคืนสู่ชุมชนอย่างน้อย 25 สตางค์ต่อหน่วยนั้น ยังต้องหารือต่อไป ซึ่งรายได้ที่ชุมชนจะได้รับมาจาก 3 ส่วน คือ การเข้าถือหุ้นในโรงไฟฟ้า, ส่วนแบ่งรายได้จากการขายไฟฟ้าและรายได้จากการขายเชื้อเพลิง
ทั้งนี้สัดส่วนการถือหุ้น,ส่วนแบ่งรายได้คืนสู่ชุมชนและราคาเชื้อเพลิงที่เหมาะสม จะยืดหยุ่นให้เกิดตามความเหมาะสม รวมถึงโครงการ Quick Win ไม่จำเป็นต้องมีครบทั้ง 7 รูปแบบโรงไฟฟ้าชุมชนที่ พพ. นำเสนอ แต่หากพื้นที่ใดไม่สามารถใช้เชื้อเพลิงชีวมวล แก๊สชีวภาพ หรือ รูปแบบผสมผสานเชื้อเพลิงได้ ก็สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพียงอย่างเดียวได้  อย่างไรก็ตามต้องการให้ข้อสรุปเงื่อนไขโครงที่ออกมาจูงใจนักลงทุนและสถาบันการเงินของเอกชนด้วย ซึ่งจะทำให้โครงการเดินหน้าได้รวดเร็ว แต่ต้องอยู่บนวัตถุประสงค์ที่ชุมชนฐานรากจะต้องได้ประโยชน์อย่างแท้จริง

สุวัฒน์ กมลพนัส  ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)

ด้านนายสุวัฒน์ กมลพนัส  ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าชุมชน เสนอให้ชุมชนเข้ามามีส่วนในการถือหุ้นบุริมสิทธิ์ ในสัดส่วนประมาณ10% ในเบื้องต้น ซึ่งเมื่อดำเนินการขายไฟฟ้าไปแล้ว1ปี และความเสี่ยงต่างๆลดลง ก็ให้สิทธิชุมชนซื้อหุ้นสามัญในสัดส่วน20% รวมเป็นสัดส่วนที่ชุมชนถือหุ้นในโรงไฟฟ้า รวม 30%

ในขณะที่ ผู้แทนจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) มีข้อเสนอให้ชุมชนควรได้ถือหุ้นในสัดส่วนที่มากพอจะมีสิทธิ์ออกเสียงในโรงไฟฟ้า และเห็นว่า ควรจะให้หน่วยงานรัฐเข้ามาร่วมถือหุ้นด้วย

สอดคล้องกับ นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอว่า หน่วยงานรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ เช่น กฟผ. กฟน. PEA ที่รัฐมีอำนาจในการดูแล ควรจะมีสัดส่วนการเข้ามาถือหุ้นอย่างน้อย1ใน3 ในโรงไฟฟ้าชุมชน เพื่อให้สามารถกำกับการบริหารจัดการ และควบคุมประสิทธิผลในการดำเนินโครงการให้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้ตามเป้าหมาย

นายผจญ ศรีบุญเรือง รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนควรจะมีผลตอบแทนการลงทุนที่ดีพอจะสามารถขอกู้เงินจากแบงก์เอกชนได้  โดยหากมีการกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่เป็นต้นทุนของผู้ประกอบการ และทำให้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำเกินไป ก็จะมีเฉพาะแบงก์รัฐเท่านั้นที่จะสนับสนุนเงินกู้  โครงการก็อาจจะประสบความสำเร็จได้ยาก

ผู้แทนจากธนาคาร ธกส. (เสื้อเขียว)

ด้านผู้แทนจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) กล่าวว่า ธกส.มีวงเงินเตรียมให้กู้สำหรับโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ในวงเงินประมาณ 5,000ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR  โดยเห็นถึงความสำคัญของการช่วยเหลือเกษตรกร วิสาหกิจชุมชน เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

นายนที สิทธิประศาสน์  จากชมรมSPPชีวมวล กล่าวว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนควรจะเน้นเชื้อเพลิงที่มาจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ไม่ใช่เชื้อเพลิงที่มาจากโรงงาน เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ และเป็นการช่วยลดการเผาเศษวัสดุในพื้นที่โล่งแจ้งที่ก่อให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ได้อีกทาง

นายอาทิตย์ เวชกิจ  รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน  ส.อ.ท. กล่าวว่า รัฐควรจะใช้วิธีคัดเลือกเอกชนผู้เข้าร่วมโครงการโรงไฟฟ้าชุมชน ด้วยวิธีการเปิดประมูล โดยเอกชนที่มีข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนมากที่สุด และขอรับค่าไฟฟ้าในรูปFeed in Tariff ในอัตราที่ต่ำที่สุด ควรจะเป็นผู้ได้สิทธิดำเนินโครงการ  ทั้งนี้เพื่อให้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนได้เอกชนที่มีคุณภาพ   ชุมชนได้ประโยชน์มากที่สุด แต่ส่งผลต่อภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนน้อยที่สุด

ภาพบรรยากาศการเปิดรับฟังความคิดเห็นโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

Advertisment