รัฐ-เอกชน-นักวิชาการ ชี้ก๊าซฯ แหล่งทับซ้อนไทย-กัมพูชา OCA จำเป็นต่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทย หนุนเดินหน้าเจรจาต่อ

362
Screenshot
- Advertisment-

รัฐ-เอกชน-นักวิชาการ หนุนเดินหน้าเจรจาแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) ดึงก๊าซฯ มาใช้ประโยชน์สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ ปตท. ระบุ ก๊าซ LNG ยังจำเป็นในช่วงที่ OCA ยังไม่มีความชัดเจน พลังงานแนะเอกชนนำเข้า LNG ในอนาคตควรเน้นเป็นสัญญาระยะยาว ช่วยลดต้นทุนราคาก๊าซฯ และค่าไฟฟ้าประชาชนได้

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวในงานเสวนา “พลังงานราคาถูก ทางรอดเศรษฐกิจไทย” ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจว่า การใช้ไฟฟ้าของไทยเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะในช่วง 2 ปีนี้ เนื่องจากสภาพอากาศร้อนมากขึ้น โดยในปี 2566 ยอดการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 7% จากปกติจะเติบโตประมาณ 2% ทุกปี และในปี 2567 นี้ คาดว่าจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นประมาณ 5-6% แสดงให้เห็นว่าไทยยังมีความต้องการปริมาณไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้ากลับลดลง จากเดิมเคยผลิตก๊าซฯได้ 70-80% ปัจจุบันเหลือเพียง 56% ของความต้องการใช้ก๊าซฯ ส่งผลให้ต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาทดแทน ซึ่งในอดีตเมื่อ 8 ปีที่แล้วไทยเคยนำเข้า LNG ประมาณ 4-5 ลำเรือ แต่ปัจจุบันต้องนำเข้าถึง 90 ลำเรือ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น ขณะที่ก๊าซฯ ในอ่าวไทยกลับลดลงและแหล่งผลิตก๊าซฯ เริ่มถดถอยลงหลังจากใช้งานมานาน ส่วนปริมาณน้ำมันที่จัดหาได้และใช้ในประเทศก็เริ่มลดลงจากเดิมเคยจัดหาได้ 15% แต่ในปี 2567 เหลือเพียง 7% ของความต้องการใช้ทั้งหมด

- Advertisment -
Screenshot

ดังนั้นจะเห็นว่า สิ่งสำคัญสำหรับไทยในปัจจุบันคือการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ ซึ่งคุณภาพการให้บริการไฟฟ้าของไทยยังอยู่ในระดับต้นๆ ของอาเซียน โดยไทยใช้เกณฑ์ความมั่นคงไฟฟ้า LOLE ที่มีดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับตลอด 1 ปีไม่เกิน 0.7 วันต่อปี ดังนั้นไทยยังมีความมั่นคงด้านพลังงานและยังเป็นประเทศที่น่าลงทุน จะเห็นได้จากในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มียอดการขอรับการสนับสนุนการลงทุนกว่า 722,500 ล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยการลงทุนกว่า 93,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนด้าน Data Center และ Cloud Service โดยเรื่องหลักที่ผู้ลงทุนต้องการคือ ไฟฟ้าสีเขียว ซึ่งกระทรวงพลังงานมีความพร้อมทั้งด้านปริมาณ คุณภาพ ราคาและความยั่งยืน เช่น การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าสีเขียวตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2567-2580 หรือ PDP 2024 ให้มากขึ้นจาก 26% เป็น 51%

ทั้งนี้กระทรวงพลังงานไม่ได้มองแค่ราคาพลังงานถูก แต่ยังมองเรื่องความมั่นคง การรักษาเสถียรภาพด้านราคา ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในประเทศ ไปพร้อมกันด้วย

นายสาร์รัฐ ประกอบชาติ รองผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า การใช้ไฟฟ้าของไทยมีความเปลี่ยนแปลงที่ต้องคำนึงถึงในอนาคตให้มากขึ้น ได้แก่  1.การเกิดยอดการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีคไฟฟ้า) ที่เปลี่ยนจากช่วงกลางวันมาเป็นกลางคืน 2.การเปลี่ยนแปลงด้านไฟฟ้า ที่เกิดการผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองมีมากขึ้น 3.การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) เติบโตแบบก้าวกระโดด และ 4.การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นตามแผนพลังงานชาติ

ดังนั้นในร่างแผน PDP 2024 จึงมุ่งดูแลใน 3 มิติ ได้แก่ 1. การเพิ่มเป้าหมายไฟฟ้าสะอาดมากขึ้นเป็น 51% ภายในปี 2580 โดยลดการใช้ก๊าซฯ ลงจาก 60% เหลือ 41% แต่ก๊าซฯ ยังจำเป็นต่อการรองรับความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ 2.นโยบายยังยึดมั่นด้านความมั่นคงพลังงาน สิ่งแวดล้อม และราคาที่เป็นธรรม และ 3.ต้องบริหารจัดการระบบสมาร์ทกริดรองรับไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่จะเพิ่มมากขึ้น

Screenshot

อย่างไรก็ตามในแผน PDP 2024 ไม่ได้พิจารณาถึงการจัดหาก๊าซฯในแหล่งพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ( Overlapping Claims Area หรือ OCA) เนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนเพียงพอ ซึ่งแผน PDP 2024 จำเป็นต้องพิจารณาเฉพาะแหล่งพลังงานที่มีความชัดเจนก่อน ส่วน OCA ก็ยังถือว่าจำเป็น เนื่องจากจะเป็นแหล่งก๊าซฯ ราคาไม่สูงเกินไป และราคาไม่ผันผวนเมื่อเทียบกับ LNG ถ้าสามารถเดินหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ก็จะสอดคล้องกับแผนพลังงานชาติที่ต้องการก๊าซฯ ระยะยาว แต่หาก OCA ยังไม่เกิดขึ้น การบริหารจัดการก๊าซ LNG แบบสัญญาระยะยาวก็จำเป็นและต้องมีสัดส่วนที่มากขึ้น เนื่องจากจะได้ราคาที่ถูกกว่าซื้อจากตลาดจร

นายคุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ยืนยันว่าการเจรจา OCA ภายใต้กรอบความร่วมมือ MOU 2544 ควรเดินหน้าต่อไป เพราะเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงด้านพลังงานประเทศ เนื่องจากจะเห็นได้ว่าปัจจุบันการนำเข้า LNG มีมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้าประชาชน ขณะที่ OCA จัดเป็นแหล่งก๊าซฯ ที่อยู่ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ซึ่งใช้เวลาเพียง 3 เดือนก็สามารถวางระบบท่อเพื่อนำก๊าซฯ มาใช้ได้เลย เพราะไทยมีท่อก๊าซฯ อยู่ 3 เส้นรองรับก๊าซฯ ได้ 3,800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่มีการใช้งานจริงเพียง 2,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหากเกิดการใช้อย่างเต็มประสิทธิภาพจะทำให้ค่าผ่านท่อถูกลงได้ด้วย

สำหรับในเรื่องพลังงานนั้นเห็นว่าสิ่งไม่ที่ควรทำคือ อย่าอุดหนุนราคาพลังงานแบบเหวี่ยงแห อย่าฝืนกลไกตลาดเสรี และปิดประเทศ รวมทั้งอย่าอ้างการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเกินควร จนกระทบความมั่นคง ราคา และธรรมาภิบาล นอกจากนี้อย่าสร้างกระแสเกลียดชังพลังงาน โดยอ้างเกี่ยวกับการระแวงเพื่อนบ้าน, ปัญหาสิ่งแวดล้อม, สินค้าแพง หรือตลาดทุนนิยม เป็นต้น

Screenshot

แต่สิ่งที่ควรทำด้านพลังงานคือ ตั้งงบประมาณมาช่วยเฉพาะกลุ่มเปราะบางทั้งราคาน้ำมัน ราคาค่าไฟฟ้า, ปล่อยให้ราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (LPG) ลอยตัว ไม่ฝืนกลไกตลาด เพราะจะเสี่ยงขาดแคลน, เร่งเจรจาแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา ( TC-OCA ) เพื่อเปิดพื้นที่สำรวจและเพิ่มปริมาณสำรองก๊าซฯ แทนที่จะปล่อยให้นำเข้า LNG มากขึ้นเรื่อยๆ, ปรับโครงสร้างกิจการไฟฟ้าและการซื้อไฟฟ้าให้มีการแข่งขันมากขึ้น ไม่ต่อสัญญาโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) หรือ โรงไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก (SPP) ที่จะหมดอายุ แต่ให้มาแข่งขันเสนอค่าไฟฟ้าในตลาดเสรีแทน และการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียว ไม่จำเป็นต้องเร่งรีบ แต่ควรมีกติกาที่โปร่งใส การซื้อไฟฟ้าจากต่างประเทศควรใช้ระบบประมูลค่าไฟฟ้า ไม่ใช่เจรจารายโครงการ

ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ไม่อยากให้ยึดนโยบายราคาพลังงานถูก เพราะจะกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม แม้ราคาถูกในวันนี้ แต่จะแพงในวันหน้าได้ และการตรึงค่าไฟฟ้าระยะยาว จะนำไปสู่ภาระหนี้ที่ประชาชนต้องจ่ายในภายหลัง ดังนั้นควรให้ความสำคัญกับพลังงานที่เป็นธรรม รักษาสมดุลเศรษฐกิจ ที่รับได้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค

สำหรับทางออกด้านพลังงานของประเทศไทยคือ 1.ปรับบทบาทโรงไฟฟ้าก๊าซฯ ให้ทำหน้าที่เสริมความมั่นคงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่ไม่เพียงพอแทน ส่วนกรณี OCA ถือว่ามีประโยชน์อย่านั่งทับไว้เฉยๆ 2. เร่งลงทุนพลังงานสะอาด โดยเฉพาะระบบแบตเตอรี่ การมีส่วนร่วมลดการใช้ไฟฟ้าภาคสมัครใจ 3.รัฐควรปรับระบบผลิตและซื้อขายไฟฟ้า ให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากขึ้น ในรูปแบบกิจการไฟฟ้าเสรี ปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาด   

Screenshot

นายวุฒิกร สติฐิต ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ กลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ก๊าซฯ ยังมีความจำเป็นต่อประเทศไทยอยู่ การแสวงหาก๊าซฯ จากแหล่งใหม่ๆ ทั้ง OCA และแหล่งอื่นๆ ก็จะช่วยลดต้นทุน และเสริมความมั่นคงด้านพลังงานได้ แต่ถ้าแหล่งก๊าซฯ อยู่ใกล้ไทยจะดีกว่าเพราะมีโครงสร้างท่อก๊าซฯ รองรับอยู่แล้ว และลักษณะทางธรณีวิทยาก็ใกล้เคียงไทย ซึ่งรูปแบบความร่วมมือก็มีหลายรูปแบบที่จะทำให้เกิดต้นทุนที่ต่ำลงได้

สำหรับ OCA ยังไม่ชัดเจนว่าจะนำก๊าซฯ ขึ้นมาใช้ได้เมื่อไหร่ ดังนั้นการทำแผนพลังงานต้องมีหลายทางเลือกไว้ โดยเมื่อยังไม่มีความชัดเจน ก็ต้องนำเข้า LNG มาใช้ไปก่อน ซึ่งบางช่วง LNG ก็มีราคาถูกและเป็นประโยชน์ต่อประเทศเช่นกัน

Screenshot
Advertisment