รวมมาตรการรัฐ ช่วยลดค่าไฟฟ้า 4 ครั้งช่วงโควิด-19 ระบาด วงเงินกว่า 5.5 หมื่นล้าน

2027
oznorCO
- Advertisment-

โควิด-19 ลามไม่หยุด มาตรการรัฐช่วยลดค่าไฟฟ้ารวมแล้ว 4 ครั้ง เป็นวงเงินกว่า 5.5 หมื่นล้านบาท เฉพาะมาตรการยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) ช่วยเหลือผู้ประกอบการรายใหญ่มาเกือบ 2 ปี เฉือนเนื้อ 3 การไฟฟ้ารายได้หดเกือบ 600 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC ) รายงานว่า มาตรการลดค่าไฟฟ้าให้ประชาชน ที่ภาครัฐประกาศออกมาเมื่อวันที่ 12 ก.ค. 2564 ให้ลดค่าไฟฟ้าระหว่างเดือน ก.ค.-ส.ค. 2564 นี้ ถือเป็นครั้งที่ 4 สำหรับการช่วยเหลือลดภาระค่าไฟฟ้าภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME) จากปัญหากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 โดยการลดค่าไฟฟ้าทั้ง 4 ครั้งนี้ คิดรวมเป็นเงินประมาณ 55,584 ล้านบาท

โดยมาตรการลดค่าไฟฟ้าครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างเดือน มี.ค.-ต.ค. 2563 ที่เป็นช่วงการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรกรวมเป็นเงินกว่า 26,612 ล้านบาท โดยใช้เงินจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่สะสมไว้ตลอดเกือบ 10 ปีที่ผ่านมาจนหมด

- Advertisment -

ครั้งที่ 2 ระหว่างเดือน ก.พ.-มี.ค.2564 รวมเป็นเงิน 8,202 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินงบประมาณจากภาครัฐ,

ครั้งที่ 3 ช่วงเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2564 รวมเป็นเงิน 8,770 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินงบประมาณรัฐบาลเช่นกัน และครั้งที่ 4 นี้ ระหว่างเดือนก.ค.-ส.ค.2564 กระทรวงพลังงานคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 12,000 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 55,584 ล้านบาท

โดยหลักเกณฑ์การช่วยลดค่าไฟฟ้าในครั้งล่าสุดนี้ หรือในครั้งที่ 4 แตกต่างจากครั้งก่อน คือ ให้กลุ่ม SME ใช้ไฟฟ้าฟรี 100 หน่วยแรก ซึ่งแตกต่างจากที่ผ่านมาที่กำหนดให้ใช้ไฟฟ้าฟรีเฉพาะ 50 หน่วยแรก ทั้งนี้เนื่องจาก SME ได้รับผลกระทบสูงจากการปิดกิจการหลายรอบตามประกาศของภาครัฐ ส่วนภาคครัวเรือนยังคงเป็นมาตรการที่คล้ายเดิม โดยใช้เดือน ก.พ. 2564 เป็นเดือนฐานในการคิดคำนวณส่วนลดค่าไฟฟ้า คือ

บ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 150หน่วยต่อเดือน จะได้ใช้ไฟฟ้าฟรีใน 90 หน่วยแรก, ส่วนกรณีบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าเกิน 150หน่วยต่อเดือน แต่น้อยกว่าหรือเท่ากับเดือน ก.พ. 2564 ให้คิดค่าไฟฟ้าตามหน่วยการใช้ไฟฟ้าจริง ทั้งนี้หากใช้มากกว่าฐานเดือน ก.พ. 2564 แต่ไม่เกิน 500 หน่วยต่อเดือน ให้จ่ายเท่ากับเดือน ก.พ. 2564
สำหรับกรณีที่ใช้ระหว่าง 501-1,000 หน่วยต่อเดือน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือน ก.พ. 2564+ 50% ของหน่วยไฟฟ้าที่เพิ่มจากเดือน ก.พ. 2564 และถ้าใช้ เกิน 1,000 หน่วยต่อเดือน ให้จ่ายค่าไฟฟ้าเท่ากับเดือน ก.พ. 64+ 70% ของหน่วยไฟฟ้าที่เพิ่มจากเดือน ก.พ. 2564
อย่างไรก็ตามนอกจากกลุ่มครัวเรือนและ SME แล้ว ภาครัฐได้ประกาศช่วยเหลือกลุ่มกิจการขนาดกลาง ขนาดใหญ่ กิจการเฉพาะ องค์กรไม่แสวงหากำไรและการสูบน้ำเพื่อการเกษตร ซึ่งรวมถึงกลุ่มโรงแรม สำหรับการช่วยเหลือค่าไฟฟ้างวดล่าสุด ก.ค.-ส.ค. 2564 ด้วย โดยให้การช่วยเหลือในลักษณะยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) จนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 64 โดยให้จ่ายค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (demand Charge) ตามกำลังไฟฟ้าที่ใช้จริง

สำหรับ​ระบบ Minimum Charge เป็นอัตราค่าไฟฟ้าเหมาจ่ายขั้นต่ำ 70% ของการใช้ย้อนหลัง 12 เดือน ดังนั้นเมื่อรัฐประกาศให้ปิดบางกิจการตั้งแต่การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ปี 2563 รอบแรก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ได้ออกประกาศยกเว้นการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าแบบ Minimum Charge และให้ผู้ประกอบการจ่ายค่าไฟฟ้าตามจริงไปก่อน ซึ่งมาตรการนี้ดำเนินการมาตั้งแต่เดือน มี.ค. 2563 และต่ออายุตามมาตรการล็อกดาวน์ของภาครัฐมาโดยตลอดจนล่าสุดให้ไปสิ้นสุดมาตรการในปลายเดือน ธ.ค. 2564 นี้

ทั้งนี้มาตรการยกเว้น Minimum Charge ดังกล่าว ส่งผลให้ 3 การไฟฟ้า(การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ,การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน. ) เก็บเงินได้น้อยลงประมาณ 35 ล้านบาทต่อเดือน หรือปีละ 420 ล้านบาท ซึ่งการลด Minimum Charge ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน มี.ค.2563 และจะใช้ไปถึง ธ.ค. 2564 หรือเกือบ 2 ปี จะส่งผลให้ 3 การไฟฟ้ามีรายได้น้อยลงประมาณ 600 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามว่ามาตรการล็อกดาวน์ที่ภาครัฐประกาศใช้ 14 วัน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 25 ก.ค. 2564 นี้ จะช่วยลดปริมาณการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ระลอกนี้ลงได้หรือไม่ หากสถานการณ์ยังมีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก ภาครัฐอาจต่ออายุมาตรการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้น และหากสถานการณ์ไม่ดีขึ้นจนลากยาวเกินเดือน ส.ค. 2564 นี้ มาตรการลดค่าไฟฟ้าประชาชนอาจต้องขยายต่อไปเป็นรอบ ที่ 5 ก็เป็นไปได้

Advertisment