มาทำความรู้จัก วิธีการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมในทะเล

3547
- Advertisment-

มาทำความรู้จัก วิธีการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมในทะเล

ในโครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมนั้น เมื่อหลุมผลิตปิโตรเลียมหมดศักยภาพ ไม่มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ หรือ พื้นที่ที่ได้รับสัญญาหรือสัมปทานหมดระยะเวลากับทางภาครัฐแล้ว ผู้ประกอบการปิโตรเลียมจะต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในกิจการปิโตรเลียมออกจากพื้นที่ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ เพื่อความปลอดภัยในการทำกิจกรรมต่าง ๆ และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่อไป

สำหรับการรื้อถอนสิ่งติดตั้งในทะเลนั้น จะดำเนินการใน 3 ส่วน คือ การปิดและสละหลุมถาวร (Plug and Abandonment) การรื้อถอนโครงสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม และการรื้อถอนท่อขนส่งปิโตรเลียมใต้ทะเล ภายใต้กระบวนการที่ต้องใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิศวกรรม เทคนิค รวมถึงต้องใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีเฉพาะ     ซึ่งในแต่ละส่วนมีวิธีการ ดังนี้

- Advertisment -

1. การปิดและสละหลุมถาวร (Plug and Abandonment) จะใช้วิธีการอัดซีเมนต์ลงไปในท่อกรุที่ขุดลึกลงไปจนถึงชั้นหินกักเก็บปิโตรเลียม (น้ำมันดิบหรือก๊าซธรรมชาติ) เพื่อปิดหลุมผลิตอย่างถาวร ซึ่งเมื่อซีเมนต์แข็งตัวแล้ว จะต้องทำการทดสอบเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีปิโตรเลียมรั่วไหลออกมาได้อีก

2. การรื้อถอนโครงสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียม จะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเล หรือ โครงสร้างส่วนบน (Topside) และส่วนโครงสร้างใต้ระดับน้ำทะเล หรือโครงสร้างส่วนของขาแท่น (Jacket) ซึ่งในกระบวนการรื้อถอนโครงสร้างแท่นผลิตปิโตรเลียมในทะเลนั้น จะเริ่มดำเนินการในส่วนของโครงสร้างส่วนบน หรือ Topside ก่อน ซึ่งสามารถรื้อถอนโดยแยกออกมาเป็นชิ้น ๆ ได้ หรือ เป็นการตัดและยกแท่นผลิตทั้งแท่นออก และเมื่อส่วนที่อยู่เหนือระดับน้ำทะเลถูกรื้อถอนไปแล้ว จึงจะดำเนินการรื้อถอนในส่วนของโครงสร้างส่วนของขาแท่น หรือ Jacket ต่อไป จากนั้นจะนำ โครงสร้างที่รื้อถอนแล้วขึ้นบนฝั่ง เพื่อเข้าสู่กระบวนการจัดการ เช่น ทำความสะอาดเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ การจัดการโดยส่งไปยังโรงงานหลอมเหล็ก (Smelter) การนำไปจัดวางเป็นปะการังเทียม หรือการนำไปใช้ประโยชน์อื่น ๆ ต่อไป เป็นต้น

ทั้งนี้ ในบางกรณีนั้นจะมีการปล่อยโครงสร้างใต้ระดับน้ำทะเลบางอย่างไว้ เช่น โครงสร้างฐานรองรับแท่น   เนื่องจากโครงสร้างเหล่านี้ได้กลายไปเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำและปะการังไปแล้ว หากมีการรื้อถอนออกมา อาจจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศบริเวณนั้นได้

3. การรื้อถอนท่อขนส่งปิโตรเลียมใต้ทะเล
สำหรับการรื้อถอนท่อขนส่งปิโตรเลียมใต้ทะเลจะต้องทำความสะอาดสิ่งปนเปื้อนที่ตกค้างบริเวณภายในท่อเสียก่อน เพื่อป้องกันสิ่งปนเปื้อนรั่วไหลลงสู่ทะเล จากนั้นจะปลดข้อต่อที่เชื่อมต่อระหว่างท่อกับโครงสร้างต่าง ๆ และจัดการรื้อถอน โดยวิธีการรื้อถอนมี 2 รูปแบบ คือ

1. การรื้อออกทั้งหมด ซึ่งในวิธีนี้จะมีทางเลือกย่อยออกไปอีก 2 ทางเลือก คือ การรื้อถอนท่อขนส่งใต้ทะเลด้วยวิธีย้อนกลับการติดตั้ง และ การรื้อถอนท่อขนส่งใต้ทะเลด้วยวิธีตัดเป็นชิ้นและยกสู่ผิวน้ำ โดยใน การรื้อถอนท่อขนส่งใต้ทะเลด้วยวิธีย้อนกลับการติดตั้ง จะใช้วิธีการยกปลายท่อขึ้นมาบนเรือปฏิบัติงานด้วยการดึงท่อขึ้นมาบนเรือพร้อมกับการเคลื่อนที่ของเรือในลักษณะย้อนกลับการติดตั้งท่อขนส่งใต้ทะเล    จากนั้น ก็ทำการตัดท่อบนเรือตามความยาวที่กำหนด และนำท่อที่ตัดออกเป็นส่วน ๆ เก็บรวบรวม และยึดตรึงไว้ที่เรือบรรทุกรอการขนส่งไปยังสถานที่แยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุรวมทั้งของเสียจากการรื้อถอนต่อไป

ส่วน การรื้อถอนท่อขนส่งใต้ทะเลด้วยวิธีตัดเป็นชิ้นและยกสู่ผิวน้ำ จะใช้วิธีตัดท่อขนส่งใต้ทะเลออกเป็นส่วน ๆ ตามขนาดความยาวที่กำหนด โดยตัดที่พื้นทะเลแล้วยกท่อที่ตัดแล้วขึ้นมาและยึดตรึงไว้บนเรือบรรทุก   เพื่อรอการขนส่งไปยังสถานที่แยกชิ้นส่วนและจัดการวัสดุรวมทั้งของเสียจากการรื้อถอนต่อไป

2. การปล่อยท่อขนส่งใต้ทะเลไว้ในพื้นที่ โดยหลังจากที่ได้ทำการล้างทำความสะอาดท่อขนส่งใต้ทะเลเรียบร้อยแล้ว จะปลดข้อต่อระหว่างท่อขนส่งใต้ทะเลกับโครงสร้างต่าง ๆ ออกจากกัน เติมน้ำทะเลและสารป้องกันการเกิดสนิมรวมถึงป้องกันการกัดกร่อนเข้าไปในท่อจากนั้นจะทำการปิดปลายท่อทั้ง 2 ด้าน และฝังกลบบริเวณส่วนหัวและท้ายของท่อด้วยวัสดุกลบทับทั้ง 2 ด้าน

Advertisment