พีอีเอ เอ็นคอม จับมือ  บีซีพีจี ตั้งบริษัท TDED รุกธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด

1662
- Advertisment-

พีอีเอ เอ็นคอม จับมือ  บีซีพีจี ตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development -TDED รุกธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานสะอาด ใช้ระบบดิจิทัลบริหารจัดการซื้อขายไฟฟ้า ตั้งเป้า 5 ปี มีกำลังผลิต 100 เมกกะวัตต์ สร้างรายได้โต 1,000 ล้านบาท นำร่องโครงการแรกผลิตไฟฟ้าโซลาร์รูฟท็อปที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ขนาด 12 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุน 300 ล้านบาท 

นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทพีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า  บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ร่วมจัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development (TDED) เพื่อพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดโดยใช้นวัตกรรมช่วยในการบริหารจัดการ เบื้องต้นจะลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน โดยเฉพาะการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา(โซลาร์รูฟท็อป) และนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้บริโภค  โดยตั้งเป้าหมายลงทุนช่วง 5 ปี(2562-2566) จะมีกำลังผลิตไฟฟ้า 100 เมกะวัตต์ สร้างรายได้รวม 1,000 ล้านบาท ซึ่งในปี 2562 นี้ จะเริ่มจากความร่วมมือโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์ เป็นโครงการแรก ใช้เงินลงทุนประมาณ 300 ล้านบาท แล้วเสร็จในสิ้นปี 2562 นี้ และเริ่มรับรู้รายได้ในปี 2563

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้ความร่วมมือครั้งนี้ บีซีพีจี จะแยกในส่วนของโครงการที่เป็นโซลาร์รูฟท็อปทั้งหมดโอนย้ายไปอยู่ภายใต้ TDED  เช่น  โครงการอสังหาริมทรัพย์ของบริษัท แสนสิริ จำกัด(มหาชน) หรือ หรือ T77 ย่านสุขุมวิท 77 ซึ่งเป็นโครงการนำร่องของบีซีพีจี ก็จะต้องโอนเข้าไปด้วย รวมถึงโครงการที่จะทำร่วมกับ บริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน)เช่นกัน   สำหรับกลุ่มลูกค้าในอนาคตจะเจาะเป้าหมายนิคมอุตสาหกรรมของ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และนิคมฯทั่วไป รวมถึงมหาวิทยาลัย เป็นต้น

- Advertisment -

ส่วนการพัฒนาซอฟต์แวร์รองรับการซื้อขายไฟฟ้านั้น บีซีพีจี มีพันธมิตรจากออสเตรเลีย คือ บริษัท พาวเวอร์ เล็ดเจอร์ มาร่วมพัฒนานวัตกรรมให้

“ TDED จัดตั้งขึ้นเพื่อรองรับโอกาสในอนาคตที่รัฐจะเปิดตลาดเสรีซื้อขายไฟฟ้า ซึ่งระยะต่อไปกฎกติกาต่างๆที่เป็นอุปสรรคจะผ่อนคลายมากขึ้น ทำให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และผู้บริโภคมีทางเลือกมากขึ้น” นายบัณฑิต กล่าว

ทั้งนี้ บริษัท Thai Digital Energy Development มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 200 ล้านบาท โดยพีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ถือหุ้นสัดส่วน 25% และบริษัท บีซีพีจี ถือหุ้นสัดส่วน 75% โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ 1. เพื่อส่งเสริมธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน สนับสนุน New Digital Business ผ่าน PEA Hero Platform ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้พัฒนา 2. เพื่อส่งเสริมธุรกิจประหยัดพลังงาน และธุรกิจบริหารจัดการพลังงาน (ESCO) ในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน 3. เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน Digital Energy แบบครบวงจรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค

Advertisment