พลังงาน ปัดฝุ่นศึกษาสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ SPR ประเทศอีกรอบ คาดเสร็จใน 2 เดือน

629
- Advertisment-

รัฐมนตรีพลังงาน สั่งกรมธุรกิจพลังงาน ศึกษาการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (SPR) ของประเทศอีกครั้ง เพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงานในยามวิกฤติสงคราม คาดศึกษาเสร็จภายใน 2 เดือนก่อนเสนอรัฐมนตรีพลังงานพิจารณา ระบุต้องบรรจุไว้ในแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ต่อไป ขณะที่ผ่านมากรมธุรกิจพลังงานเคยศึกษา SPR เมื่อปี 2562 และเสนอให้สำรองน้ำมัน 50 วันมาแล้ว  

นายสราวุธ แก้วตาทิพย์  อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้สั่งการให้กรมธุรกิจพลังงานดำเนินการศึกษา “การสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Petroleum Reserve: SPR) ของประเทศ” เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทย โดยจะนำสำรองน้ำมันดังกล่าวมาใช้ในกรณีวิกฤติ เช่น การเกิดสงคราม เป็นต้น

ทั้งนี้การศึกษา SPR ดังกล่าวจะต้องครอบคลุมทั้งด้านผู้ลงทุนว่าจะให้รัฐลงทุนเอง หรือ เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน นอกจากนี้ยังต้องศึกษาถึงปริมาณการเก็บสำรองน้ำมันที่เหมาะสม สถานที่เก็บ และการบริหารจัดการ เป็นต้น อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมธุรกิจพลังงานได้ดำเนินการศึกษาแล้ว และคาดว่าจะศึกษาเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อรายงานต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานต่อไป

- Advertisment -

สำหรับในส่วนของการสำรองน้ำมันในปัจจุบัน ประเทศไทยมีข้อกำหนดให้ผู้ค้าน้ำมันต้องสำรองน้ำมันดิบ 6% ของปริมาณการจำหน่าย และให้สำรองน้ำมันสำเร็จรูป 1% ของปริมาณการจำหน่าย โดยรวมไทยมีการสำรองน้ำมัน 7% ของปริมาณการจำหน่าย หรือ มีการสำรองน้ำมัน 25 วัน ซึ่งขณะนี้ปริมาณดังกล่าวยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม กรมฯ จึงยังไม่พิจารณาปรับเปลี่ยนข้อกำหนดดังกล่าวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามกรมฯ จะต้องจัดทำ  SPR และปริมาณสำรองน้ำมันของผู้ค้าน้ำมันในสัดส่วน 7% ดังกล่าว เพื่อบรรจุไว้ในแผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง (Oil Plan) ซึ่งจะรวมอยู่ในแผนพลังงานชาติต่อไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า เมื่อปี 2562 กระทรวงพลังงานในสมัย นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เคยมีนโยบายให้กรมธุรกิจพลังงานศึกษาการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์มาแล้ว โดยผลการศึกษาได้มีข้อเสนอให้ประเทศไทยควรมีสำรองน้ำมันภาครัฐในรูปแบบสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) ประมาณ 50 วัน และให้ปรับสำรองของภาคเอกชนให้เพิ่มขึ้นด้วย โดยสำรองน้ำมัน 50 วันดังกล่าว เป็นปริมาณที่ต่างประเทศส่วนใหญ่กำหนดใช้สำรองน้ำมัน SPR กันอยู่แล้ว

และเมื่อย้อนไปในปี 2556 ก็ถือเป็นครั้งแรกที่กระทรวงพลังงานได้ศึกษาการสำรองน้ำมัน SPR โดยอ้างอิงกลุ่มประเทศสมาชิกสำนักงานพลังงานสากล (IEA) 28 ประเทศ ที่ส่วนใหญ่เป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมัน ที่กำหนดสัดส่วนการสำรองน้ำมันไม่น้อยกว่า 90 วันของการนำเข้าสุทธิ โดยจัดเก็บน้ำมันสำรอง 2 รูปแบบ คือ สำรองโดยภาครัฐและสำรองโดยภาคเอกชน โดยขณะนั้นไทยก็มีเป้าหมายในการสำรองน้ำมันที่เทียบเคียงกับประเทศสมาชิก IEA เช่นกัน คือ สำรองน้ำมัน 90 วัน แยกเป็นการสำรองโดยภาคเอกชน 43 วัน หรือเท่ากับ 28 ล้านบาร์เรล และสำรองภาครัฐ 47 วัน หรือเท่ากับ 30.5 ล้านบาร์เรล

นอกจากนี้ยังมีแนวทางจะจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้นมาบริหารคลังน้ำมันที่จะต้องมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแล โดยขณะนั้นศึกษาไว้ 4 แนวทาง คือ สมาคม องค์การมหาชน บริษัทจำกัด และมูลนิธิ และในส่วนของการเก็บน้ำมันมี 3 ทางเลือก คือ การสร้างคลังใหม่บนบก การสำรองน้ำมันในทะเล และการสำรองในอุโมงค์ใต้ดิน ซึ่งไม่ว่าจะเลือกการเก็บน้ำมันแบบใดก็จะต้องเป็นพื้นที่ที่ใกล้กับโรงกลั่นน้ำมัน เช่น ระยอง ศรีราชา และตั้งอยู่ในจุดที่สามารถขนถ่ายน้ำมันได้สะดวก ซึ่งการศึกษา SPR ดังกล่าวยังไม่ได้ถูกนำมาใช้จนถึงปัจจุบันนี้  

Advertisment