พลังงานเตรียมพร้อมนำเข้า LNG ทดแทนกรณีแหล่งก๊าซเอราวัณ ผลิตไม่ต่อเนื่อง

548
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานเตรียมแผนสำรองนำเข้าLNG มาทดแทนก๊าซจากแหล่งเอราวัณ กรณีผลิตก๊าซไม่ต่อเนื่องหลังหมดอายุสัมปทานปิโตรเลียม 23 เม.ย. 2565 โดยยืนยันเร่งดำเนินการเจรจากับผู้รับสัมปทานให้ดีที่สุดเพื่อให้ได้ข้อยุติในเร็วๆนี้

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการส่งมอบพื้นที่แหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ จากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ผู้รับสัมปทานรายเดิม ให้กับ บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (PTTEP ED) ซึ่งเป็นคู่สัญญารายใหม่กับรัฐภายใต้ระบบแบ่งปันผลผลิต ว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างเจรจาเพื่อให้ PTTEP ED สามารถเข้าพื้นที่ดำเนินการผลิตก๊าซฯให้ได้อย่างต่อเนื่อง (สัญญาสัมปทานแหล่งเอราวัณของ บริษัท เชฟรอนฯลฯจะหมดอายุในวันที่ 23 เม.ย. 2565 )

อย่างไรก็ตามหากกระบวนการเจรจาไม่เป็นไปตามแผน และ PTTEP ED เข้าพื้นที่เพื่อเตรียมการผลิตก๊าซฯ ให้เกิดความต่อเนื่องไม่ได้ กระทรวงพลังงานได้เตรียมแผนสำรองในการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) มาใช้ทดแทนชั่วคราวซึ่งมั่นใจว่าประเทศไทยจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนก๊าซฯผลิตไฟฟ้า ส่วนจะมีผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับราคานำเข้าLNG ซึ่งปัจจุบันราคาLNG มีแนวโน้มถูกกว่าราคาก๊าซฯในอ่าวไทย จึง อาจเป็นผลดีต่อราคาค่าไฟฟ้าโดยรวม ที่จะไม่ปรับสูงขึ้น

- Advertisment -

ทั้งนี้คาดว่าจะมีความชัดเจนเกี่ยวกับการเจรจาเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณในเร็วๆนี้ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้เนื่องจากยังเป็นเรื่องทางคดีความกันอยู่

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ปัจจุบันแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ ในพื้นที่อ่าวไทย มีปริมาณผลิตก๊าซฯได้ 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจะลดปริมาณลงเมื่อใกล้หมดอายุสัมปทานในวันที่ 23 เม.ย. 2565 และทาง เชฟรอนฯ ผู้รับสัมปทานรายเดิม จะต้องส่งมอบพื้นที่ให้ PTTEP ED คู่สัญญาใหม่กับรัฐที่จะต้องผลิตก๊าซตามเงื่อนไขข้อตกลงในปริมาณไม่น้อยกว่า 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน

โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2564 ที่ผ่านมา PTTEP ED ได้เข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณเพื่อเริ่มสำรวจและวางแผนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ​ หลังบรรลุข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ​ (IT Transition Support Agreement) ร่วมกัน​ ที่ทางเชฟรอนประเทศไทยจะสนับสนุนการดำเนินงานของ PTTEP ED ในการเตรียมความพร้อมด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศนอกชายฝั่ง ซึ่งรวมถึงการออกแบบและติดตั้งโครงสร้างพื้นฐานตลอดจนเครือข่ายระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อให้การสื่อสารและการจัดการข้อมูลมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตามในส่วนของการเข้าไปติดตั้งแท่นหลุมผลิตเพิ่มเติม เพื่อรักษาระดับปริมาณการผลิตก๊าซให้เป็นไปตามข้อตกลงที่ทำไว้กับรัฐหลังวันสิ้นสุดสัญญา​สัมปทานของเชฟรอน นั้น ทาง PTTEP ED ยังไม่สามารถดำเนินการได้ โดยยังอยู่ระหว่างการเจรจา ซึ่งล่าช้าไปกว่าแผนที่วางเอาไว้ค่อนข้างมาก

Advertisment