ปิยสวัสดิ์มั่นใจ รัฐไม่ล้มดีลกลุ่ม ปตท. ซื้อกิจการไฟฟ้า GLOW

193
- Advertisment-

“กรณ์ จาติกวณิช” เดินสายยื่นหนังสือถึง ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ค้านกลุ่ม ปตท. ซื้อกิจการบริษัท GLOW  ในขณะที่โฆษก กกพ. ระบุรอรวบรวมข้อร้องเรียนก่อนจึงพิจารณาให้เสร็จในกรอบ 90 วัน ด้าน “ปิยสวัสดิ์” เชื่อ รัฐไม่ล้มดีล ปตท. ระบุนโยบายรัฐเปิดเสรีธุรกิจก๊าซฯ ควรเปิดเสรีธุรกิจไฟฟ้าด้วย ขณะที่นายเติมชัย บุนนาค ซีอีโอ GPSC ยืนยันว่าการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ลูกค้า GLOW จะไม่ได้รับผลกระทบ และเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับลูกค้า เพื่อลดข้อกังวลและให้ความมั่นใจว่าจะไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า

วันนี้ (12ก.ย.2561) นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และในฐานะประธานกรรมการนโยบายพรรคประชาธิปัตย์ เดินทางมายื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ณ ที่ทำการ กกพ. ตึกจามจุรีสแควร์  เพื่อคัดค้านกรณีกลุ่ม บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT จะเข้าซื้อกิจการของบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ GLOW  โดยมีนายพรเทพ ธัญญพงศ์ชัย ประธาน กกพ. ออกมารับหนังสือด้วยตัวเอง พร้อมด้วยนายวีระพล จิรประดิษฐกุล คณะกรรมการ กกพ.และโฆษก กกพ.

นายกรณ์​ กล่าวว่า กกพ.จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะอาจจะมีผลต่อการดำเนินการที่ขัดกับรัฐธรรมนูญตามมาตรา 75 ที่ห้ามภาครัฐทำธุรกิจแข่งกันเอกชน ยกเว้นว่าสามารถดำเนินการได้กรณีจำเป็น และวันนี้จะเดินทางไปยื่นข้อร้องเรียนดังกล่าวต่อผู้ตรวจการแผ่นดินด้วย ส่วนผู้ตรวจการแผ่นดินจะยื่นข้อท้วงติงกรณีขัดรัฐธรรมนูญให้กับศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาดหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ผู้ตรวจการแผ่นดินจะต้องพิจารณาต่อไป

- Advertisment -

สำหรับประเด็นสำคัญที่ได้หารือกับ ประธาน กกพ. คือเงื่อนไขสำคัญการซื้อขายหุ้นครั้งนี้ต้องได้รับการอนุมัติจาก กกพ. ซึ่งหาก กกพ. อนุมัติ ก็จะทำให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.ที่จะเป็นผู้เข้าซื้อ GLOW จ่ายเงินค่าซื้อหุ้นให้กับกลุ่ม Engie ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น GLOW มูลค่าเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้เงินจำนวนนี้ถูกดึงออกนอกประเทศ หากภายหลังมีการโอนเงินไปแล้วแต่มีการตีความว่าเป็นการกระทำที่ขัดกฎหมายใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดังนั้น กกพ. ควรพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจ ซึ่ง กกพ. มีกำหนดการพิจารณาแล้วเสร็จภายในวันที่ 27 ก.ย. 2561 และสามารถขยายเวลาได้อีก 15 วัน

นอกจากนี้ยังมีความกังวลต่อการซื้อกิจการ GLOW จะทำให้เกิดการผูกขาดการขายไฟฟ้าในพื้นที่มาบตาพุด และทำให้กลุ่มลูกค้าของ GLOW นับ 10 รายมีความกังวลเรื่องการซื้อไฟฟ้าและไอน้ำที่อาจจะไม่เป็นธรรม และได้ยื่นข้อร้องเรียนดังกล่าวมาที่ กกพ.เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ด้านนายวีระพล กรรมการกกพ. ในฐานะโฆษก กกพ. กล่าวว่า กกพ.อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลหลังจากมีผู้มายื่นข้อเรียกร้องต่อกรณีการที่กลุ่ม ปตท.จะเข้าซื้อกิจการ GLOW โดยยังไม่ได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว แต่ก็จะยังอยู่ในกรอบระยะเวลา 90 วันหลังจากได้รับหนังสือ ขณะที่การพิจารณาของ กกพ.จะอยู่ในขอบเขตตามข้อกฎหมายว่าด้วยการแข่งขัน และจะนำข้อกังวลเรื่องการดำเนินการขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญมาพิจารณาร่วมด้วย

“ขณะนี้ก็มีผู้มานำเสนอข้อมูลให้กับทางกกพ.อย่างต่อเนื่อง ซึ่งรวมถึงลูกค้าของ GLOW ในพื้นที่มาบตาพุด และล่าสุดที่นายกรณ์ที่ได้เดินทางมายื่นหนังสือในวันนี้ด้วย”

ขณะที่ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตประธานกรรมการบริษัท  ปตท.จำกัด (มหาชน) กล่าวในรายการ “เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand” ทางช่อง NOW26 ในช่วงเช้าวันเดียวกัน ว่า คาดว่ารัฐบาลจะไม่สั่งให้ปตท.ยุติการซื้อกิจการของ GLOW ในครั้งนี้ เพราะรัฐบาลมีนโยบายให้มีการแข่งขันเสรีในธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ก็ควรจะต้องให้มีการแข่งขันเสรีในธุรกิจไฟฟ้าด้วยเช่นกัน และหวังว่า กกพ.จะพิจารณากรณีการซื้อกิจการครั้งนี้เฉพาะในขอบเขตกฎหมายที่มีอยู่คือเรื่องการผูกขาดของกิจการเท่านั้น

“ตามนโยบายของรัฐบาลที่เปิดให้มีการแข่งขันอย่างเสรีในเรื่องของก๊าซฯ ต้องยอมรับว่าธุรกิจของ ปตท.จะต้องเปลี่ยนไป รูปแบบโครงสร้างการทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าจะต้องเปลี่ยนไปด้วย อย่ามาบอกว่าก๊าซฯเปิดเสรีทุกคนเข้ามาแข่งได้ แต่ ปตท.เข้าไปทำธุรกิจไฟฟ้าไม่ได้ ก็ไม่ถูกต้อง โดยเฉพาะห้าม GPSC ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ นั้นไม่ถูกต้อง ถ้าต้องการให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจพลังงานอย่างแท้จริง ต้องเปิดให้มีการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าด้วย ซึ่งการเปิดให้แข่งขันในกิจการก๊าซฯอย่างเดียว แต่ไม่เปิดให้แข่งขันในธุรกิจไฟฟ้านั้นไม่พอ” นายปิยสวัสดิ์ กล่าว

นายปิยสวัสดิ์​ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของไทยคือ กฟผ. มีกำลังผลิตไฟฟ้า 16,000 เมกะวัตต์​ รองลงมาคือ บริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) 7,000 เมกะวัตต์​ กลุ่มบริษัท กัลฟ์ 6,000 เมกะวัตต์ และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก 5,000 เมกะวัตต์ ขณะที่ GPSC ของปตท. มีกำลังผลิตประมาณ 2,000 เมกะวัตต์​ เมื่อรวมกับGLOW อีก 3,000 เมกะวัตต์ จะมีกำลังผลิตเพียง 5,000 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นอันดับที่ 5 ของประเทศเท่านั้น

ส่วนกรณีที่ 10 บริษัท ซึ่งเป็นลูกค้าของ GLOW ได้ยื่นหนังสือคัดค้านการซื้อกิจการในครั้งนี้นั้น พบว่า 8 บริษัทจาก 10 บริษัท เป็นบริษัทในเครือ SCG ปูนซิเมนต์ไทยที่ทำธุรกิจปิโตรเคมีเช่นเดียวกันกับ ปตท. ซึ่งคาดว่าที่ยื่นคัดค้านนั้น อาจกังวลว่าจะไม่ได้รับความเป็นธรรมในการให้บริการด้านไฟฟ้าและไอน้ำ  เพราะโรงงานมีความจำเป็นต้องใช้ไอน้ำและไฟฟ้าอย่างมั่นคง ซึ่งกรณีดังกล่าว ทาง GPSC ออกมาระบุแล้วว่าพร้อมจะลงนาม (MOU) กับลูกค้าที่ใช้ไฟฟ้าของ GLOW ว่า จะไม่มีการเลือกปฏิบัติและให้ความเสมอภาคกับลูกค้าทุกราย ซึ่งหากพิจารณาให้ดีจะพบว่า ลูกค้าของ GLOW มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว ดังนั้นหากมีการรวมกิจการแล้ว  GPSC ยังต้องปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป และยังมี กกพ. ควบคุมดูแลการให้บริการกับลูกค้าด้วย จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่เกิดการเลือกปฏิบัติอย่างแน่นอน

นายเติมชัย บุนนาค ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า กรณีที่มีข้อกังวลจากลูกค้าบางส่วนของ GLOW นั้น ยืนยันว่าการเข้าซื้อหุ้นครั้งนี้ลูกค้า GLOW จะไม่ได้รับผลกระทบ โดยเงื่อนไข สัญญาราคาและการบริการลูกค้าทุกราย จะยังคงดำเนินการภายใต้กรอบสัญญาเดิมทุกประการ เพราะธรรมชาติของธุรกิจไฟฟ้าจะเป็นสัญญาระยะยาว มีการระบุถึงราคา ปริมาณซื้อขายที่ชัดเจน  ส่วนการกำหนดราคาซื้อขายจะเป็นไปตามราคาตลาด หรือ บนพื้นฐานของ Arm’s Length Basis ทั้งนี้สัญญาของลูกค้า GLOW ที่มีอยู่เฉลี่ยมีระยะเวลามากกว่า 10 ปี

นอกจากนี้ GPSC จะมีการเตรียมจัดทำบันทึกข้อตกลงร่วมกับลูกค้า เพื่อลดข้อกังวลและให้ความมั่นใจว่า จะไม่ให้มีการบริการใดๆ ในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อลูกค้า อีกทั้งยังมี กกพ. คอยตรวจสอบและกำกับการดำเนินการต่างๆ เพื่อให้ความมั่นใจอีกชั้นหนึ่งว่าการดำเนินธุรกิจไฟฟ้าถูกต้อง เป็นธรรม และไม่เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบทางธุรกิจ ซึ่งทั้ง GPSC และ GLOW ได้มีการให้ข้อมูลกับ กกพ. เพื่อประกอบในการพิจารณาเรียบร้อยแล้ว

“ส่วนข้อกังวลที่ว่าการเข้าซื้อ GLOW ของ GPSC ทำให้เกิดการผูกขาดของกลุ่ม ปตท. ในพื้นที่มาบตาพุดนั้น ขอชี้แจงว่า GPSC เป็นบริษัทเอกชนที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งมีกฎระเบียบข้อบังคับที่เข้มงวด อีกทั้ง GPSC มีการดำเนินธุรกิจที่เป็นเอกเทศชัดเจน ดังนั้นการบริการซื้อขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับบริษัทในกลุ่ม ปตท. ก็อยู่ภายใต้ข้อกำหนดและมาตรฐานเทียบเท่ากันกับลูกค้านอกกลุ่ม ปตท.”

Advertisment