ปตท หนุน “ชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์” พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน

605
- Advertisment-

“โครงการชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์” หรือ Zero Carbon Community ของอาศรมพลังงานฯ ภายใต้การสนับสนุนจาก มูลนิธิพลังที่ยั่งยืนของกลุ่ม ปตท., บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด และ สถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.  เร่งทำ 5 กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย กิจกรรมปลูกผักผลิตเห็ด, กิจกรรมปลูกและแปรรูปสมุนไพร, กิจกรรมเกี่ยวกับข้าว,กิจกรรมผลิตกล้าไม้ และกิจกรรมผลิตปุ๋ยถ่านไบโอชาร์ ที่นำไปปรับปรุงคุณภาพดินเสื่อมโทรมในเขตทุ่งกุลาร้องไห้ ให้มีประสิทธิภาพรองรับการปลูกป่าของ ปตท. เพื่อสร้างรายได้ ลดรายจ่าย รวมทั้งตั้งเป้าให้เกิดเป็นวิสาหกิจชุมชน ที่สามารถเลี้ยงตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต

นายเสน่ห์ เสาวพันธ์ รักษาการประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ตำบลกำแพง อำเภอเกษตรพิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด ที่ได้รับคัดเลือกเข้า “โครงการชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์” ตั้งแต่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา กล่าวว่า การดำเนินงาน 5 กิจกรรมนี้ จะทำให้ชุมชนตำบลกำแพงได้พัฒนาตนเองตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ที่มุ่งลดรายจ่าย สร้างรายได้ที่เหมาะสม เกิดการออม นำไปสู่การพึ่งตนเองให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง เกิดการเรียนรู้ในการบริหารจัดการ เพื่อเป็นวิสาหกิจที่มีศักยภาพในการดำเนินงานต่างๆที่สอดคล้องกับการพัฒนา โครงการชุมชนต้นแบบคาร์บอนเหลือศูนย์ในอนาคต

โดยปัจจุบันเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ตำบลกำแพง มีสมาชิกอยู่ 133 ครัวเรือน จาก 12 หมู่บ้าน ตั้งอยู่ในพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้ที่แห้งแล้ง ซึ่งชุมชนได้พัฒนาตนเองมาตั้งแต่ปี 2553 เริ่มจากกลุ่มสมุนไพรสร้างรายได้ แต่เนื่องจากปัญหาน้ำแล้ง ดินเสื่อม ป่าโทรม ทำให้การเพาะปลูกไม่ได้ผล จึงหันไปพัฒนาด้านเศรษฐกิจชุมชน ร่วมกับฟื้นฟูสภาพป่า  ต่อมาได้ร่วมมือกับสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.ในการปลูกป่าทดแทนต้นยูคาลิปตัสที่กระจายอยู่เต็มพื้นที่  นอกจากนี้ ชุมชนยังได้ช่วยกันหาทุนและออมเงิน แล้วตั้งเป็น 2 กองทุน คือ กองทุนพัฒนาดินน้ำป่า และกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตเศรษฐกิจชุมชน มียอดเงินรวมกันในปัจจุบัน ประมาณ 400,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึง 5 กิจกรรม ดังกล่าวข้างต้น

- Advertisment -
เสน่ห์ เสาวพันธ์ รักษาการประธานเครือข่ายวิสาหกิจชุมชน ตำบลกำแพง อำเภอเกษตรพิสัย จังหวัดร้อยเอ็ด

“การเข้าร่วมโครงการชุมชนต้นแบบนี้ เป็นสิ่งท้าทาย ที่จะทำให้ชุมชนตั้งใจในการแก้ไขปัญหาธรรมชาติแห้งแล้ง ช่วยลดโลกร้อน เกิดประสบการณ์ในการสร้างวิสาหกิจชุมชน เพื่อบริหารกิจกรรม ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้คุณภาพชีวิตของชุมชนดีขึ้น  ดิน น้ำ ป่า อุดมสมบูรณ์  หากทำได้ ก็จะเป็นตัวอย่างที่จะสร้างแรงบันดาลใจให้กับพื้นที่ทุ่งกุลาร้องไห้อื่นๆ เพราะพื้นที่ตำบลกำแพงนี้ มีป่ายูคาลิปตัสกว้างถึง 4,000 ไร่ ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่แห้งแล้งที่สุดในเขตนี้” นายเสน่ห์ กล่าว

Advertisment