นายกรัฐมนตรีสั่งคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า3พันบาทหวังช่วยประชาชน ช่วงวิกฤติ COVID-19

2777
- Advertisment-

นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพลังงานหาแนวทางในการคืนค่าประกันมิเตอร์ประชาชนจำนวน 3,000 บาทต่อมิเตอร์ หวังกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงวิกฤติCOVID-19 พร้อมให้พิจารณามาตรการลดค่าไฟฟ้าช่วยประชาชนและSME เป็นเวลา 2เดือนโดยให้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)เพื่อให้ความเห็นชอบพรุ่งนี้

ในการเดินทางมาเป็นประธานการประชุมหัวหน้าส่วนราชการหรือเทียบเท่าครั้งที่ 1/2563 ที่กระทรวงพลังงานเป็นเจ้าภาพจัดขึ้นโดยมีหัวหน้าส่วนราชการกว่า 40 หน่วยงาน เข้าร่วมหารือนั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนภายหลังการประชุมว่าได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานไปหาแนวทางในการดำเนินการคืนเงินค่ามัดจำมิเตอร์ไฟฟ้าให้กับประชาชนที่จ่ายให้กับหน่วยงานการไฟฟ้า ประมาณ 3,000 บาทต่อมิเตอร์ ที่จะเน้นในกลุ่มครัวเรือนและกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SME)ก่อน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจลดผลกระทบCOVID-19 โดยให้ชะลอมาตรการการแจกเงิน 2,000 บาทต่อคน ออกไปก่อน รวมทั้งให้กระทรวงพลังงานไปพิจารณามาตรการลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนเป็นเวลา 2 เดือน และให้นำรายละเอียดเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อพิจารณาในวันที่ 10 มี.ค. 2563 นี้

- Advertisment -
สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีพลังงาน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ในวันนี้(9 มี.ค. 2563) คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) จะประชุมพิจารณาแนวทางการคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้กับประชาชนประมาณ 3,000 บาทต่อมิเตอร์ ซึ่งคาดว่าจะมีเงินค่าประกันมิเตอร์ทั้งหมดอยู่ประมาณ 2 หมื่นล้านบาท แต่จะเน้นคืนให้กับประชาชนและกลุ่มSME ก่อน เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนในช่วงเกิดวิกฤติไวรัส COVID-19 โดยเบื้องต้นคาดว่าจะคืนเป็นเงินสด พร้อมกันนี้จะพิจารณาลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนด้วย โดยจะนำผลสรุปเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันที่ 10 มี.ค. 2563 พิจารณาต่อไป

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การคืนเงินมัดจำค่ามิเตอร์ ที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายล่วงหน้าให้กับหน่วยงานการไฟฟ้าทั้งการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อาจจะมีปัญหาในทางปฎิบัติ หากหวังที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนของผู้เช่าอาศัย ที่จะไม่ได้รับคืนเงินในส่วนนี้ แต่จะเป็นเจ้าของผู้ให้เช่าที่เป็นผู้จ่ายค่ามัดจำติดตั้งมิเตอร์ ซึ่งมีกำลังซื้ออยู่แล้ว โดยแนวทางของกระทรวงพลังงาน ซึ่งไม่ได้กำกับดูแลการไฟฟ้าทั้งการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค อาจจะต้องดำเนินการผ่าน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ซึ่งจะต้องมีการออกประกาศหลักเกณฑ์รายละเอียดออกมาเพื่อให้มีผลในการบังคับใช้ โดยใช้มติคณะรัฐมนตรี

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC ) รายงานด้วยว่า ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการหรือเทียบเท่าครั้งนี้ นายกรัฐมนตรียังได้รับฟังความคืบหน้าของการดำเนินนโยบายต่างๆ และมอบนโยบายให้ทุกส่วนราชการที่เข้าร่วมกว่า 40 หน่วยงาน บูรณาการการทำงานในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตโรคระบาดจากเชื้อไวรัสโควิด-19 นี้อย่างเต็มศักยภาพ พร้อมขับเคลื่อนมาตรการเร่งด่วนที่จะเข้ามาช่วยแก้ไขสถานการณ์ให้ผ่านพ้นไปด้วยดี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน ซึ่งจะนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจโดยรวมที่ดีขึ้น

Advertisment