นักวิชาการถอดบทเรียนไฟฟ้าดับในยุโรป ไทยต้องเตรียมเทคโนโลยีรับมือพลังงานสะอาดเข้าระบบมากขึ้นในอนาคต ป้องกัน Blackout

344
- Advertisment-

นักวิชาการ ระดมความเห็นถอดบทเรียนไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ทั่วประเทศสเปนและโปรตุเกส ชี้สาเหตุหลักส่วนหนึ่งเกิดจากความไม่เสถียรของกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ส่งผลกระทบต่อโรงไฟฟ้าหลักหลุดจากระบบ ด้านการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ยืนยันไทยมุ่งสู่พลังงานสีเขียว อนาคตจะมีไฟฟ้าพลังงานทดแทนมากขึ้น โดย 3 การไฟฟ้าเร่งหารือรับมือ ชี้ต้องนำเทคโนโลยีมารองรับพลังงานทดแทนให้สอดคล้องกัน เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย   

วันที่ 8 พ.ค. 2568 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ร่วมกันจัดสัมมนาในหัวข้อ “ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป: บทเรียนจากสเปน–โปรตุเกส 2025 และแนวทางรับมือและออกแบบระบบพลังงานอย่างสมดุล” เพื่อให้เข้าใจเชิงลึกถึงสาเหตุและผลกระทบของเหตุการณ์ไฟดับระดับประเทศ และเรียนรู้เพื่อประยุกต์ใช้กับบริบทของไทยและอาเซียน  

นายสุรชัย ชัยทัศนีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า วิกฤตไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ (Blackout) ทั่วกรุงมาดริดและเมืองบาร์เซโลนาของประเทศสเปน และเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส รวมถึงบางส่วนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2568 เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุประกอบกัน ซึ่งการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ก็เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ดังกล่าว แต่การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งพลังงานหมุนเวียนเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องยอมรับว่า การเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน ย่อมส่งผลกระทบทางเทคนิคต่อระบบไฟฟ้า

- Advertisment -

ดังนั้น ประเทศไทย จะต้องเตรียมพร้อมแนวทางรองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าที่จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ดังนี้

1.นำเทคโนโลยี Energy Storage เข้ามาใช้เพื่อช่วยเก็บพลังงานส่วนเกินจากพลังงานหมุนเวียน และจ่ายคืนเมื่อพลังงานหมุนเวียนลดลง

2.นำเทคโนโลยี Grid Modernization & Flexibility เข้ามาใช้เพื่อทำให้กริดรับมือกับพลังงานหมุนเวียนที่กระจายตัวและแปรปรวนได้ดีขึ้น เช่น ควบคุมแบบสองทางและอัตโนมัติ

3.ทำเรื่อง Forecasting & System Operation เพื่อพยากรณ์และวางแผนระบบไฟฟ้าล่วงหน้าได้แม่นยำขึ้น

4.พิจารณาเทคโนโลยี Flexible Generation ที่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าให้สามารถจ่ายไฟฟ้าได้เร็วหรือยืดหยุ่น เข้ามารองรับช่วงที่พลังงานหมุนเวียนไม่เพียงพอ

5.พิจารณาเรื่อง Diverse & Distributed RE เพื่อกระจายแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน ลดความเสี่ยงและเพิ่มความเสถียรให้กับระบบไฟฟ้า

6.นำเรื่อง Interconnection & Trading ที่จะเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายและการค้า เพื่อส่งไฟฟ้าระหว่างภูมิภาค เข้ามาช่วยรับมือกับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน

7.ส่งเสริม Regulatory & Market Mechanisms โดยวางกลไกกำกับดูแลที่สร้างแรงจูงใจและตลาดที่รองรับระบบไฟฟ้าที่มีพลังงานหมุนเวียนสูง

นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กรณีไฟฟ้าดับทั่วประเทศในสเปนและโปรตุเกส เมื่อ 28 เม.ย. 2568 เป็นเวลาประมาณ 19-20 ชั่วโมง ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของทุกประเทศ รวมถึงไทยด้วย เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น โดยเฉพาะพลังานแสงอาทิตย์และลม ดังนั้นจะต้องหาวิธีรับมือกับการผลิตไฟฟ้าที่ไม่เสถียร

ทั้งนี้ 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) ได้หารือกันเกี่ยวกับการรับมือไฟฟ้าดับ โดยใช้กรณีสเปนและโปรตุเกสเป็นบทเรียน ซึ่งยืนยันว่า 3 การไฟฟ้าจะดูแลความมั่นคงด้านไฟฟ้าของไทย โดยหากอนาคตมีไฟฟ้าพลังงานทดแทนเข้าระบบมากขึ้น ก็จะต้องวางแผนการนำเทคโนโลยีมาใช้รองรับการเข้ามาของพลังงานทดแทน เพื่อให้ระบบไฟฟ้ามีความพร้อมสอดคล้องกับพลังงานสะอาดที่เข้ามา ซึ่งไทยต้องมุ่งสู่พลังงานสีเขียวแน่นอน ดังนั้นระบบไฟฟ้าต้องมั่นคง และราคาค่าไฟฟ้าต้องสมเหตุผล เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าอย่างเป็นธรรม   

น.ส. พิมพ์สุภา เกาะช้าง นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยพลังงาน ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤติไฟฟ้าดับ แต่น่าจะเป็นผลมาจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ออกแบบไว้รองรับพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่เพียงพอ ดังนั้นสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ มีข้อเสนอแนะแนวทางเสริมความมั่นคงเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน ดังนี้

1.จัดทำ Energy Resilience Roadmap ควบคู่กับ Roadmap สู่ Net Zero

2.ปรับนโยบายให้มีความยืดหยุ่น ทันต่อเทคโนโลยีและบริบทโลก เพื่อรองรับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น ภัยภูมิอากาศ หรือ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

3.สื่อสารกับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจว่า พลังงานหมุนเวียนไม่ใช่ต้นเหตุของความเสี่ยง แต่ต้องมีระบบสนับสนุนที่เหมาะสม

4.ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลแบบเปิด (Open Data Infrastructure) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่างๆ เข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วม

Advertisment