แนะรัฐหารือโรงกลั่น ผู้ค้าน้ำมัน ดูผลกระทบก่อนตัดสินใจปรับลดค่าพรีเมี่ยม 50สต.ต่อลิตร

698
- Advertisment-

ซีอีโอปตท.แนะรัฐเรียกผู้ประกอบการโรงกลั่นและผู้ค้าน้ำมันหารือเพื่อประเมินผลกระทบ ก่อนพิจารณาปรับพรีเมี่ยมราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลง 50 สตางค์ต่อลิตร ในขณะที่ ขอปรับขึ้นราคาขายก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือก๊าซNGV ให้สะท้อนต้นทุนจริง เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด 

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ตอบคำถามผู้สื่อข่าวถึงกรณีที่คณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ซึ่งมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน จะเสนอให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) พิจารณาปรับโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น โดยปรับลดค่าพรีเมียม(ค่าขนส่ง ค่าประกัน ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างทาง ค่าปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน)ลง 50 สตางค์ต่อลิตร ว่า  ภาครัฐควรเรียกผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย ทั้งกลุ่มผู้ประกอบการโรงกลั่นน้ำมัน และบริษัทผู้ค้าน้ำมันทั้งไทยและบริษัทต่างชาติ มาหารือก่อน เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน  ที่ในปี 2563เผชิญผลกระทบหลายด้านอยู่แล้ว  ทั้งเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมท่องที่ยว และทำให้ความต้องการใช้น้ำมันชะลอตัว  รวมทั้งการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยปี 2563 ที่ระดับ 60 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลงจากปี 2562  ที่เฉลี่ยอยู่ระดับ 63 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

นายชาญศิลป์ ยังกล่าวด้วยว่า ปตท.อยู่ระหว่างการหารือกับกระทรวงพลังงาน เพื่อขอให้ปรับขึ้นราคาก๊าซธรรรมชาติสำหรับยานยนต์ (NGV)ให้สะท้อนต้นทุนที่เป็นจริง เพื่อให้ธุรกิจNGV อยู่รอดได้ หลังจากมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ที่ผ่านมาได้อนุมัติให้ปตท.ปรับขึ้นราคา NGV ได้เพียง 1 บาทต่อกิโลกรัม  แต่ยังต่ำกว่าต้นทุนจริงที่ควรจะเป็น

- Advertisment -

โดยปตท.ยังมีภาระในการอุดหนุนราคา NGV ให้กับรถสาธารณะ เช่น รถแท็กซี่ รถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ รถตู้ เป็นต้น ประมาณ 2 บาทต่อกิโลกรัม หรือประมาณ 300 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้ขาดทุนโดยรวมสำหรับธุรกิจNGV อยู่ประมาณ  2 บาทต่อกิโลกรัม

ทั้งนี้ปตท.พร้อมที่จะลงทุนสร้างสถานี NGV ตามแนวท่อก๊าซฯ ให้ครอบคลุมภาคการขนส่งส่วนใหญ่ของประเทศ ส่วนสถานีนอกแนวท่อส่งก๊าซ ที่ไม่คุ้นทุน บางส่วนจะปรับมาขายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือทะยอยเลิกกิจการไป

Advertisment